รู้แนวการอ่าน ผ่านทุกด่าน เก็ททุกข้อ ! เจาะลึกแนวข้อสอบ IELTS Reading



          เป็นอย่างไรกันบ้างคะเพื่อน ๆ เตรียมตัวสอบ "IELTS" (การสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษระดับนานาชาติ) กันไปถึงไหนแล้วเอ่ย แต่ทั้งนี้เพื่อน ๆ ก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะกระปุกดอทคอมพร้อมที่จะเป็นผู้ช่วยให้กับเพื่อน ๆ เสมอ ซึ่งจากที่ผ่านมาเราเคยนำเสนอบทสัมภาษณ์เจาะลึกแนวข้อสอบในส่วนของ ielts speaking และ ielts writing กันไปแล้ว คราวนี้ก็มาถึงคิวของเทคนิคการทำข้อสอบ ielts reading กันบ้าง มาดูกันเลยว่าแนวข้อสอบ ielts reading จะเป็นอย่างไร และพี่ ๆ จากทางสถาบันจุฬาติวเตอร์ จะมีเทคนิคและข้อแนะนำอะไรในการทำพาร์ทนี้ให้กับเพื่อน ๆ กันบ้าง ตามกระปุกดอทคอมไปสัมภาษณ์พี่ ๆ ติวเตอร์กันเลยค่ะ

ขอถามพี่จุฬาติวเตอร์หน่อยค่ะ ว่าแนวข้อสอบ ielts reading นี้เป็นยังไงบ้างคะ มีอะไรที่ดูน่าหวาดเสียว น่ากลัวบ้างไหม ?

          555 แหม… พูดซะน่ากลัวเชียว ที่จริงไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างที่คิดค่ะ หลัก ๆ ข้อสอบ ielts reading มีทั้งหมด  3 บทความ  และมีเวลาให้ทำ 60 นาที ระดับความยากก็จะเรียงจากง่ายไปหายากค่ะ ปัญหาส่วนใหญ่ที่น้อง ๆ มักเจอในการทำพาร์ทนี้คือทำไม่ทัน เพราะในแต่ละบทความมีความยาวประมาณ 900-950 คำ ดังนั้นเราต้องบริหารเวลาให้เป็น โดยเฉพาะบทความที่ 3 ซึ่งยาวมาก น้อง ๆ ส่วนมากจะทำบทความนี้ไม่ทัน !! แต่ไม่ต้องตกใจไป พี่มีเคล็ดลับมาฝากค่ะ

ฟังดูน่ากลัวจัง >< ขอคำแนะนำหน่อยสิคะ

          พี่อยากจะแนะนำว่า โดยทั่วไปควรแบ่งเวลาทำบทความละ 20 นาทีค่ะ แต่ด้วยบทความที่ 1 มันง่ายและไม่ได้ซับซ้อนมาก ดังนั้นรีบทำบทความแรกให้เสร็จภายในเวลา 17 นาที หรือถ้ายิ่งทำเร็วกว่านี้ ยิ่งมีเวลาไปทำบทความอื่นค่ะ หลังจากทำเสร็จแล้วค่อยแบ่งเวลา 20 นาทีทำบทความที่ 2 ทีนี้เราก็จะเหลือเวลาอีก 23 นาที ในการทำบทความที่ 3 ซึ่งยากที่สุด หากน้องบริหารเวลาตามนี้ พี่ว่าปัญหาเรื่องทำไม่ทัน จะไม่เกิดขึ้นชัวร์ค่ะ

แล้วจากประสบการณ์ นอกจากทำไม่ทันแล้ว มีปัญหาอื่นอีกไหมที่เราควรเตรียมตัวรับมือ

          ความถูกต้อง แม่นยำ เป็นหัวใจสำคัญของการสอบค่ะ ดังนั้นควรเตรียมตัวให้ดี  ดูแนวข้อสอบเอาไว้ เพราะมันจะช่วยให้เราคุ้นเคยกับการอ่านและหาคำตอบค่ะ



แล้วพวกเรื่องความถูกต้องต่าง ๆ พี่ติวเตอร์พอมีเทคนิคไหมคะ ทำยังไงเราถึงจะไม่พลาด หรือไม่โดนสับขาหลอก !!

          พี่ขอบอกว่าเทคนิคการทำ ielts reading มีเยอะมากค่ะ แต่มันขึ้นอยู่กับรูปแบบข้อสอบว่าน้องเจอแบบไหนมา เช่น

          ข้อสอบแบบตัวเลือก (multiple choices) แนวนี้ใคร ๆ ก็คุ้นเคยกันดี แต่ใน IELTS จะมีน้อยค่ะ แป๋วววว หลอกให้ดีใจเล่น ^^ เคล็ดลับเวลาเจอข้อสอบแบบนี้คือ ให้อ่านโจทย์ก่อน ว่าโจทย์ถามอะไร อย่าเพิ่งอ่านคำตอบนะคะ ให้หาคำตอบจาก passage ค่ะ สาเหตุที่พี่ไม่ให้อ่านคำตอบก่อนก็เพราะจากประสบการณ์ของพี่ น้องส่วนใหญ่มักจะเลือกคำตอบที่คิดว่าถูก ทั้งที่จริงแล้วในบทความมีคำตอบซ่อนอยู่ค่ะ อันนี้พี่ฝากไว้เลยค่ะว่า ทุกคำตอบต้อง based on text นะจ๊ะ ไม่ใช่มาจากประสบการณ์หรือความรู้ของน้องเอง !! 

          แนวจับคู่ (matching) ส่วนตัวพี่คิดว่า ข้อสอบลักษณะนี้กินเวลาเรามากที่สุด !! แต่อย่าห่วงค่ะ พี่มีวิธีรับมือ ก่อนอื่นมาดูก่อนว่าลักษณะข้อสอบจับคู่แบ่งย่อยไปอีก 2 แบบ ดังนี้ค่ะ

          จับคู่ ย่อหน้า (paragraph) กับ หัวเรื่อง (heading) ถ้าเจอแบบนี้ น้องควรอ่านทีละย่อหน้า และสรุปใจความสำคัญของย่อหน้านั้น ว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร แล้วค่อยจับคู่กับหัวข้อที่ให้มา ดูเสียเวลาไปนิด แต่มันทำให้เราอ่านละเอียดขึ้น และทำข้อสอบแบบอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้นค่ะ

          จับคู่ ชื่อบุคคล/องค์กร/สิ่งของ กับรายละเอียด เจอแบบนี้รีบสแกนหาชื่อที่ให้มา แล้วรีบวงกลมไว้เลยค่ะ อ่านส่วนหัว-ส่วนท้ายของชื่อนั้นแล้วเชื่อมโยงกับรายละเอียดที่ให้มา ฝึกแบบนี้บ่อย ๆ เข้า นอกจากจะทำถูกแล้ว ยังจะช่วยน้องเซฟเวลาได้เยอะเลยนะ

           แบบเติมคำ (completion) ข้อสอบแบบนี้เราเดาจากโจทย์ได้เลยค่ะว่า เติมได้ไม่เกินกี่คำ ดังนั้นอ่านโจทย์ให้ดีนะคะ ว่าข้อสอบกำหนดมาให้เขียนขั้นต่ำกี่คำ ถ้ากำหนดมาไม่เกิน 2 คำ ก็ไม่จำเป็นต้องตอบข้อละ 2 คำก็ได้ น้องสามารถตอบคำเดียวได้เลยค่ะ พี่แอบชอบข้อสอบลักษณะนี้นะ เพราะเราสามารถหาคำตอบได้จากตัวบทเลยค่ะ 

จริง ๆ ข้อสอบแบบเติมคำยังแบ่งได้อีกหลายลักษณะค่ะ  เช่น

           เติมคำจากการสรุปความ (Summary completion)

          เติมคำจากตาราง (Table completion)

          การเติมคำจากแผนผัง (Flow-chart completion)

          เติมคำจากภาพ (Diagram label completion)

          เห็นว่าเยอะ  แต่ก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก ตั้งสติ เตรียมตัว แล้วลุยเลยค่ะ

          สุดท้ายคือลักษณะ ตอบคำถามแบบสั้น (short answer question) เป็นคำถาม-ตอบเรื่อง ๆทั่วไปค่ะ แน่นอนว่าข้อสอบก็จะบอกอยู่แล้วค่ะว่าควรตอบไม่เกินกี่คำ อันนี้พี่มองว่าหมู ๆ ค่ะ ประเด็นคือน้องต้องทำให้เร็วเท่านั้นเอง ซึ่งวิธีการจะทำให้เร็ว พี่ให้เทคนิคไปแล้ว เลื่อนขึ้นไปอ่านเลยค่ะ อิอิ

โอ้โห เทคนิคเยอะจริงอะไรจริงนะคะ ชนิดที่เรียกว่าบอกหมดเปลือก ครอบคลุมทุกรูปแบบเลย สุดท้ายนี้ พี่จุฬาติวเตอร์มีอะไรอยากจะฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวไหมคะ 

          การทำข้อสอบ Reading น้อง ๆ ควรฝึกอ่านบทความทางวิชาการให้มาก ๆ ค่ะ เราจะได้คุ้นเคยกับบทความยาว ๆ ส่วนตัวพี่คิดว่าการฝึกให้คุ้นเคยกับโครงสร้างประโยค หรือมีคำศัพท์ไว้ในหัวเยอะ ๆ จะช่วยพัฒนาการอ่านให้ดีขึ้น และอ่านได้เร็วขึ้นกว่าเดิมค่ะ ดังนั้นฝึก ๆ และเอาเทคนิคพวกนี้ไปลองใช้นะคะ ขอให้น้อง ๆ โชคดีค่ะ



          เป็นอย่างไรบ้างคะเพื่อน ๆ ได้เทคนิคกันไปเยอะเลยทีเดียว อย่าลืมนำไปฝึกกันด้วยนะคะ วันนี้ต้องขอขอบคุณพี่ ๆ จากจุฬาติวเตอร์มาก ๆ ที่สละเวลามาแนะนำเคล็ดลับการทำข้อสอบพาร์ท reading ให้เพื่อน ๆ ได้เอาไปลองฝึกกัน สำหรับใครที่สนใจเคล็ดลับดี ๆ แบบนี้อีกก็สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chulatutor.com/ielts.php พี่ ๆ เขามีคำแนะนำดี ๆ ไว้รอที่นั่นมากมายเลยล่ะค่ะ แล้วเจอกันใหม่กับแนวข้อสอบในพาร์ทหน้านะคะ บ๊ายบาย...






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้แนวการอ่าน ผ่านทุกด่าน เก็ททุกข้อ ! เจาะลึกแนวข้อสอบ IELTS Reading อัปเดตล่าสุด 16 มกราคม 2558 เวลา 16:13:10 29,287 อ่าน
TOP
x close