พบกันอีกแล้วนะคะเพื่อน ๆ ^^ สำหรับการแนะแนวข้อสอบ "IELTS" (การสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษระดับนานาชาติ) จากเมื่อคราวที่แล้ว กระปุกดอทคอมได้นำเสนอในส่วนของ ielts speaking เอาไว้ ซึ่งการกลับมาพบกันในคราวนี้เราจะมาเสริมความมั่นใจให้กับเพื่อน ๆ ในส่วนของข้อสอบในพาร์ทWriting กันค่ะ เพราะเรียกได้ว่าการเขียนบทความภาษาอังกฤษในข้อสอบนั้น เป็นอะไรที่เด็กไทยกลัวกันมาก ๆ เพราะอาจจะต้องแม่นไวยากรณ์ รู้ศัพท์เยอะ และต้องวางโครงเรื่องให้ดี แต่ทั้งนี้เพื่อน ๆ ไม่ต้องกังวลใจกันแล้วนะคะ เพราะวันนี้กระปุกดอทคอมได้สัมภาษณ์แนวข้อสอบแบบเจาะลึกพร้อมกับเทคนิคการทำข้อสอบ ielts writing จากพี่ ๆ จุฬาติวเตอร์ มาฝากกันแล้ว จะเป็นเคล็ดลับอะไร และเทคนิคแพรวพราวแค่ไหน ไปดูกันเลย...
พี่ ๆ จุฬาติวเตอร์คะ ข้อสอบพาร์ทwriting แนวเป็นอย่างไรบ้าง และมีอะไรที่ต้องรู้ก่อนไปสอบไหมคะ ?
ก่อนอื่นพี่ว่าเรามารู้จักมันก่อนค่ะว่า พาร์ทwriting หน้าตาเป็นยังไง พี่ขอแบ่งพาร์ทนี้ออกเป็น 2 task ค่ะ โดยเราจะมีเวลาในการทำทั้งหมด 60 นาที น้องอ่านไม่ผิดค่ะ 60 นาทีเท่านั้นจริง ๆ ^^
อันแรก Task 1 อันนี้จะเป็นการเขียนบรรยายเพื่อสรุปข้อมูลที่ข้อสอบให้มา โดยมีเวลาให้ 20 นาที และน้องต้องเขียนขั้นต่ำให้ได้ 150 คำค่ะ ซึ่งลักษณะของข้อมูลที่โจทย์จะให้มา พี่สรุปรูปแบบออกมาเป็นข้อ ๆ ดังนี้
Bar chart หรือข้อมูลแบบแผนภูมิแท่ง ปกติก็จะเป็นข้อมูลแค่ชุดเดียวค่ะ คือมีแค่แท่งเดียวเปรียบเทียบกัน ไม่ได้ให้เป็นหลาย ๆ ชุด ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะเขียนยาก อ่านข้อมูลยาก หรือทำไม่ทัน ถ้าน้องรู้ทริคการเขียนดี ๆ แผนภูมิแท่งนี่เป็นอะไรที่ง่ายที่สุดแล้วค่ะ
Line graph หรือเส้นกราฟ ลักษณะการเขียนคล้ายกับแผนภูมิแท่งเลยค่ะ เน้นเขียนเปรียบเทียบความแตกต่างของข้อมูล
Pie chart หรือเป็นพายคล้าย ๆ ก้อนขนมเค้กอะค่ะ น้องมักจะได้พายมา 2 ชิ้น แล้วให้เขียนเปรียบเทียบกัน
Table แบบตารางค่ะ ดูเหมือนจะง่าย แต่ส่วนตัวพี่คิดว่า ตารางเขียนยากที่สุด เพราะน้องจะต้องเสียเวลาวิเคราะห์ข้อมูล และรูปแบบการเขียนมักจะเป็นกึ่งบรรยาย กึ่งเปรียบเทียบ ซึ่งมันยากตรงนี้แหละค่ะ ดังนั้นฝึกเขียนไปให้ดี แล้วถ้าน้องได้แบบตารางปุ๊บ ให้น้องแบ่งเวลาเผื่ออ่านข้อมูลด้วยนะคะ ไม่งั้นงานเข้าแน่ ๆ ^^
Diagram หรือแผนภาพค่ะ ส่วนมากโจทย์จะให้น้องมา 2 ภาพค่ะ ถ้าได้แนวนี้มา น้องต้องพยายามหาจุดต่างของ 2 ภาพ แล้วดึงประเด็นออกมาเขียน ปัญหาส่วนใหญ่ที่น้อง ๆ เจอคือ เขียนข้อมูลหมดก่อนจะถึง 150 คำ วิธีแก้คือพยายามบรรยายให้หมด เขียนให้ครบทุกรายละเอียด ชักแม่น้ำทั้งห้า แต่ต้องให้ถูกต้องนะคะ
Flow chart แบบนี้โจทย์มักจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิต หรือขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ ปัญหาที่พี่เจอ เป็นปัญหาเดียวกับ diagram ค่ะ คือ เขียนไม่ถึง 150 คำ แล้วไม่รู้จะเขียนอะไรต่อ ความยากอยู่ที่ต้องหาคำศัพท์ที่มีความหมายใกล้เคียงกับโจทย์ แต่ต้องไม่ copy คำศัพท์จากโจทย์เด็ดขาด ไม่งั้นจบกันค่ะ อย่าหาว่าไม่เตือนนะ !!
Mix chart อันนี้โจทย์จะให้ chart มา 2 แบบ โดยทั้งสองอันมีข้อมูลเกี่ยวข้องกัน หลายคนตกอกตกใจว่าแบบนี้ยาก พี่ขอบอกว่าง่ายม๊ากกก !! หลัก ๆ คือให้น้อง ๆ พิจารณาดูว่า ข้อมูลชุดไหนควรเขียนในส่วน body ส่วนไหนควรเขียนเป็นข้อมูลสรุปค่ะ
เห็นภาพเลยค่ะ task นี้ ทีนี้มีอะไรที่พี่จุฬาติวเตอร์อยากเน้น หรือข้อควรระวังเป็นพิเศษไหมคะ ?
มีแน่นอนค่ะ ที่พี่อยากเน้นคือ Task 1 เนี่ย คือการเขียนสรุปและเปรียบเทียบข้อมูลที่ให้มาโดยใช่วิธีบรรยาย ไม่ใช่บรรยายข้อมูลอย่างเดียวนะคะ ส่วนอีกเรื่อง อันนี้สำคัญมาก กาดอกจันแปดพันดอกเลยค่ะ พยายามอย่า copy ศัพท์จากโจทย์เด็ดขาด เพราะจะเสียคะแนนทันที และควรเขียนขั้นต่ำให้ได้ 150 เพราะปริมาณคำ สำคัญต่อการให้คะแนน ถึงแม้น้องจะเขียนได้ดีเริด ไวยากรณ์เป๊ะ แต่ถ้าเขียนข้อมูลไม่ครบหรือเขียนไม่ถึง 150 คำ จากการประเมินของพี่คิดว่า ตกค่ะ !! คะแนนไม่ถึง 5.5 แน่นอน
อื้มมม… อย่างงี้นี่เอง กาดอกจันแปดล้านดอกเลยค่ะ สำคัญมาก ๆ แล้ว task 2 ล่ะคะ แนวประมาณไหนคะ ?
Task 2 เป็นการเขียนเรียงความแสดงความคิดเห็น อันนี้หลายคนกลัวมาก เมื่อก่อนพี่ก็กลัวค่ะ เพราะเราต้องใช้ทักษะหลายด้านมาก เช่น ไวยากรณ์เอย คำศัพท์เอย สำนวน และการเรียบเรียงข้อมูลเอย แต่ทุกเรื่องที่พี่พูดมา เราฝึกฝนได้ค่ะ !! พี่มีหลักการฝึกง่าย ๆ คือ เริ่มจากการฝึกเขียนให้เป็นประโยคที่ได้ใจความ แล้วค่อยเริ่มมาเขียนเป็นแบบย่อหน้าจากนั้นค่อย ๆ นำแต่ละย่อหน้ามาเรียบเรียงเป็นบทความ งานเขียนทุกงานควรให้อาจารย์หรือผู้มีประสบการณ์ในด้านการเขียนช่วยอ่านงานและคอมเม้นท์ให้ค่ะ เพราะทุกอย่างที่เราเขียนเราจะเออออเองไม่ได้ค่ะ เพราะเราเขียนให้คนอ่าน ฉะนั้นต้องมี commentator ดี ๆ นะคะ
Task 2 พี่ขอแยกแนวคำถามของข้อสอบเป็น 4 แนว เพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้นตามนี้ค่ะ
1. แนวเห็นด้วยหรือไม่ To what extent do you agree or disagree
แนวนี้จะให้โจทย์ หรือยกข้อความมาให้ แล้วถามว่าเห็นด้วยกับข้อความนั้นหรือไม่ ตัวอย่างเช่น
"When a country develops its technology, the traditional skills and ways of life die out. It is pointless to try and keep them alive." To what extent do you agree or disagree with this opinion ?
คำว่า To what extent.. ก็คือ how far do you agree or disagree ? คำตอบของน้องจะเป็นเห็นด้วยหรือ ไม่เห็นด้วยก็ได้ ไม่มีผิดถูกค่ะ แต่น้องต้องให้เหตุผลสนับสนุนคำตอบของน้องให้ได้ และเขียนแสดงออกมาได้ดี สมเหตุสมผลค่ะ
2. แนวปัญหาและเสนอทางแก้ Problem and Solution
ลักษณะคำถาม ก็จะพูดถึงปัญหา และให้เราเสนอทางแก้ไข ตัวอย่างโจทย์คร่าว ๆ แบบนี้ค่ะ
"Modern children are suffering from the diseases that were once considered to be meant for adults only. Obesity is a major disease prevalent among children." What are its causes and what solutions can be offered ?
What are its causes and what solutions can be offered ?
ถ้าเจอแนวนี้ ไม่ต้องอดใจค่ะ น้องแค่เขียนแนวทางแก้ปัญหา ให้วางแผนการเขียนก่อน list ทางแก้ออกมาเป็นข้อ ๆ เลย แล้วเขียนบรรยายออกไป พร้อมยกตัวอย่างให้ชัดเจน แค่นั้นเองค่ะ ไม่ยาก !
3. แนวอธิบาย Descriptive
แนวนี้เป็นการเขียนอธิบายความคิดเห็น แต่น้องจะไม่ค่อยเห็นในข้อสอบ IELTS บ่อยมากเท่าไหร่ แต่ถ้าได้มาก็ แจ๊คพอตแตกค่ะ 555 จริง ๆ เขียนไม่ยากค่ะ ให้อธิบายตามโจทย์ที่กำหนดมาได้เลยค่ะ ตัวอย่างโจทย์นะคะ
We are becoming increasingly dependent on computer technology. It is used in business, crime detection and even to fly planes. What will it be used for in future? Is this dependence on technology a good thing or should we be suspicious of its benefits ?
เจอแบบนี้ให้กลับไปอ่านโจทย์ดี ๆ น้องจะเห็นว่าคำถามมี 2 ส่วน คือ
1. ในอนาคต เทคโนโลยีจะถูกใช้ไปในด้านใด
2. เราควรจะพึ่งพาเทคโนโลยีเหล่านั้น หรือควรสงสัยข้อดีของมันบ้างรึป่าว ดังนั้น ต้องอ่านโจทย์ให้รอบคอบ และเขียนตอบให้ครบถ้วน เพราะถ้าอธิบายไม่ตรงคำถาม หรือเขียนตอบไม่ครบ คะแนนเสียค่ะ !
4. แนวอธิบายข้อดีข้อเสีย Discuss (advantages and Disadvantages)
หากเจอแนวนี้ นอกจากจะต้องเขียนอธิบายข้อดีข้อเสียแล้ว พี่ขอเสริมว่าควรเขียนแสดงความคิดเห็นของเราไปด้วย เขียนเป็นสรุปตอนจบ ตบส่งท้ายสวย ๆ อีกที ตัวอย่างโจทย์ คือ
Some people prefer to live in a house, while others think that there are more advantages living in an apartment. Are there more advantages than disadvantages to living in a house rather than in an apartment ?
คำถามถามว่า ข้อดีของการอยู่บ้านมีมากกว่าข้อดีของการอยู่อพาร์ทเม้นต์หรือไม่ พออ่านปุ๊บ น้องลองถาม ตัวเองก่อนค่ะว่าเห็นด้วยไปทางไหน แต่ก็อย่าลืมชี้ให้เห็นทั้งข้อดีข้อเสีย ของการอยู่บ้าน และอพาร์ทเม้นต์นะ เขียนอธิบายให้เห็นภาพ แล้วค่อยเขียนสรุปแสดงความคิดเห็นของตัวเองอีกที ว่าท้ายที่สุดแล้ว เราเห็นด้วยไปในทางไหน หรือน้องอาจจะไม่ต้องตอบสรุปแบบฟันธงก็ได้ อาจจะบอกว่าทั้ง 2 อย่าง ก็มีข้อดีข้อเสียตามแต่คนชอบ แบบนี้ก็ถือว่าใช้ได้ค่ะ
ได้แนวไปเยอะมาก ๆ เห็นภาพเลยค่ะ แล้วพี่จุฬาติวเตอร์ มีอะไรอยากเน้นย้ำหรือฝากไปยังคนที่กำลังเตรียมตัวอยู่บ้างคะ ?
ฝากและเน้นย้ำ กาดอกจันล้านดอกอีกทีนะคะ
1. พยายามเขียนให้ครบ 250 คำ อย่าเขียนต่ำกว่า เพราะปริมาณสำคัญต่อการให้คะแนนด้วยจริง ๆ
2. อย่าลอกศัพท์จากโจทย์ พยายามหาคำอื่นที่มีความหมายเดียวกัน และพยามยามเขียนเหตุและผลให้เข้าประเด็น
3. สุดท้าย รูปแบบภาษา ควรเป็นทางการที่สุดค่ะ ไม่เอาภาษาพูดมาใช้ในงานเขียนเด็ดขาดนะคะ gotta, gonna , wannaเก็บไว้พูดอย่างเดียวค่ะ โชคดีนะคะทุกคน
เรียกได้ว่าเต็มอิ่มมาก ๆ สำหรับเทคนิคเจาะลึกขั้นเทพแนวข้อสอบ IELTS Writing ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณพี่ ๆ จุฬาติวเตอร์มากนะคะที่ได้มาแนะแนวทางให้กับเพื่อน ๆ ที่กำลังเตรียมตัวสอบกันอยู่ในวันนี้ หวังว่าแนวข้อสอบนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ สอบผ่านได้แบบฉลุยกันทุกคนเลยนะคะ ส่วนครั้งหน้าเราจะมีแนวข้อสอบในส่วนของพาร์ทไหนมาฝากกัน เพื่อน ๆ ต้องคอยติดตามกันให้ดีแล้วล่ะค่ะ
แต่สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่ต้องการปรึกษากับพี่ ๆ จุฬาติวเตอร์ หรืออยากได้เคล็ดลับดี ๆ แบบนี้เพิ่มเติม คลิกเข้าไปดูได้เลยที่ https://www.chulatutor.com/ielts.php แล้วพบกันใหม่นะจ๊ะทุกคน See you again ^^
แต่สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่ต้องการปรึกษากับพี่ ๆ จุฬาติวเตอร์ หรืออยากได้เคล็ดลับดี ๆ แบบนี้เพิ่มเติม คลิกเข้าไปดูได้เลยที่ https://www.chulatutor.com/ielts.php แล้วพบกันใหม่นะจ๊ะทุกคน See you again ^^