เมื่อพูดถึงคำว่า กฎของลูกเสือ เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ท่องตอนเด็ก ๆ กันแน่ ๆ และเชื่อว่า หลายคนคงอยากย้อนความจำไปถึงช่วงเวลานั้นว่า สิ่งที่เราท่องกันตั้งแต่เด็ก ๆ มานั้น มีอะไรบ้าง รายละเอียดเป็นอย่างไร ไหนจะคำปฏิญาณของลูกเสือ ที่มีทั้งลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญอีก ด้วยเหตุนี้ ทางกระปุกดอทคอมจึงขอนำข้อมูลต่าง ๆ มารวบรวมให้ชม ตามมาดูกันเลยจ้า
ประเภทของลูกเสือ
การแบ่งประเภทของลูกเสือทั่วโลก จะแบ่งตามเกณฑ์อายุของเด็กเป็นสำคัญ เพื่อจะต้องให้สอดคล้องกับโครงสร้างของร่างกายและสภาพจิตใจของเด็กและวัยรุ่นตามช่วงอายุ สำหรับประเทศไทยได้แบ่งประเภทของลูกเสือออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
- ลูกเสือสำรอง เนตรนารีสำรอง
- ลูกเสือสามัญ เนตรนารีสามัญ
- ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ เนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่
- ลูกเสือวิสามัญ เนตรนารีวิสามัญ
ลูกเสือสำรอง เนตรนารีสำรอง ลูกเสือประเภทนี้เป็นลูกเสือที่มีอายุน้อยที่สุดในบรรดาประเภทของลูกเสือทั้งหมด ในภาษาอังกฤษ ลูกเสือสำรองมีความหมายว่า "ลูกหมาป่า" คือหมาป่าที่ยังไม่โตเต็มที่ จึงต้องคอยติดตามฝูงและเชื่อฟังหัวหน้าฝูงอยู่ โดยลูกเสือสำรองนี้ จะมีอายุประมาณ 8-11 ปี ซึ่งคติพจน์ของลูกเสือสำรอง คือ ทำดีที่สุด (Do Our Best)
* คำปฏิญาณของลูกเสือสำรอง
คำปฏิญาณของลูกเสือสำรอง มี 2 ข้อ ดังนี้
ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า On my honour , I promise
- ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
- ข้อ 2 ข้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรอง และบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นทุกวัน
ภาพจาก thiraphonthongaram / Shutterstock.com
เนื่องจากลูกเสือสำรองเป็นลูกเสือที่อายุยังน้อย การกำหนดคำปฏิญาณตนและกฎของลูกเสือสำรองจึงมีความแตกต่างจากคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือประเภทอื่น อีกทั้งจำเป็นต้องง่ายแก่การจดจำ เพื่อให้เหมาะสมกับวัยและการปฏิบัติมากที่สุด มี 2 ข้อ ดังนี้
- ข้อ 1 ลูกเสือสำรองทำตามลูกเสือรุ่นพี่
- ข้อ 2 ลูกเสือสำรองไม่ทำตามใจตนเอง
* การทำความเคารพของลูกเสือสำรอง
การทำความเคารพของลูกเสือสำรอง จะแตกต่างออกไปจากการทำความเคารพของลูกเสือประเภทอื่น ๆ เนื่องจากต้องคำนึงถึงสรีระและความง่ายในการปฏิบัติของลูกเสือวัยนี้ มีวิธีดังนี้
- ยกนิ้วชี้และนิ้วกลางของมือขวากางออก
- นิ้วอื่นที่ไม่ใช่เก็บไว้ในฝ่ามือ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือกดนิ้วนางและนิ้วก้อยไว้
- ในกรณีที่ใส่หมวก ใช้นิ้วชี้แตะที่ขอบหมวก
- ในกรณีที่ไม่สวมหมวก ใช้นิ้วชี้แตะที่หางคิ้วขวา
- ลำตัวตั้งตรง
ลูกเสือสามัญ เนตรนารีสามัญ เป็นลูกเสือที่มีอายุระหว่าง 11-15 ปี มีคติพจน์ คือ จงเตรียมพร้อม (Be Prepared) เนื่องจากเป็นลูกเสือที่มีวัยค่อนข้างโตแล้ว กฎและคำปฏิญาณตนจึงมีลักษณะเดียวกันกับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่และลูกเสือวิสามัญ
ภาพจาก chatgunner / Shutterstock.com
ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ เนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่ เป็นลูกเสือที่มีอายุ 15-18 ปี มีคติพจน์คือ มองไกล (Look Wide) ลูกเสือประเภทนี้ นับว่าเป็นลูกเสือที่มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ สามารถที่จะปฏิบัติตามกฎและแบบแผนที่วางไว้ได้อย่างดี
ลูกเสือวิสามัญ เนตรนารีวิสามัญ
ลูกเสือวิสามัญ เนตรนารีวิสามัญ สำหรับลูกเสือประเภทนี้ นับว่าเป็นลูกเสือที่มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ ครบทุกด้าน อีกทั้งยังสามารถที่จะช่วยเหลือลูกเสือประเภทอื่น ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม พร้อมทำตามกฎและปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลูกเสือประเภทอื่น ๆ ต้องเชื่อฟังลูกเสือประเภทนี้ เนื่องจากมีอายุมากที่สุด คือ 17-23 ปี มีคติพจน์คือ บริการ (Service)
สำหรับคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ มีดังต่อไปนี้
* คำปฏิญาณของลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ
คำปฏิญาณของลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ มี 3 ข้อ ดังนี้
ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า
- ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
- ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
- ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ
* กฎของลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ
กฎของลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ มี 10 ข้อ ดังนี้
1. ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้ (A scouts is to be Trusted)
ลูกเสือจะต้องเป็นผู้มีเกียรติ ยึดมั่นในคำพูดและการกระทำของตน ไม่หลงระเริงไปกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และต้องคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกเสือที่อ่อนเยาว์กว่าอย่างลูกเสือสำรอง
2. ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (A scout is loyal)
ลูกเสือจะต้องมีความภักดีต่อชาติ ไม่เป็นบ่อนทำลายชาติ รวมถึงศาสนาและพระมหากษัตริย์ หมั่นช่วยเหลือและตอบแทนพระคุณของชาติและผู้มีพระคุณ
3. ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น (A scout duty is to be useful and to help others)
ลูกเสือมีหน้าที่ที่ต้องช่วยเหลือผู้อื่น และทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมอยู่เสมอ รวมถึงต้องพัฒนาตนให้มีความพร้อมและทักษะต่าง ๆ ใหม่ ๆ อีกด้วย
4. ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก (Scout is a friend to all and a brother to every other Scout)
ลูกเสือจะต้องเป็นมิตรกับลูกเสืออื่น ๆ มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดั่งพี่น้อง ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น และไม่ทอดทิ้งลูกเสืออื่น ๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มของตน
5. ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย (A scout is Courteous)
ลูกเสือจะต้องมีความถ่อมตน สุภาพ รู้จักกฎและระเบียบที่พึงปฏิบัติ ไม่กล่าววาจาให้ร้ายลูกเสือกลุ่มอื่น
6. ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ (A scout is a Friend to animals)
ลูกเสือจะต้องไม่รังแกหรือทรมานสัตว์ หากพบว่าสัตว์เจ็บป่วยควรจะรักษามันให้ดีขึ้นเท่าที่ความสามารถของตนจะทำได้
7. ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดา มารดา และผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ (A scout obeys orders of his parents patrol leader of Scoutmaster with out question)
ลูกเสือต้องเป็นผู้ที่เชื่อฟังคำสอนของผู้ที่มีพระคุณ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือผู้บังคับบัญชา เพราะบุคคลเหล่านี้คือผู้ที่คอยอบรมลูกเสือให้มีความเป็นคน และมีความประพฤติดี
8. ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก (A scout Smiles and under difficulties)
ลูกเสือเป็นผู้ที่มีความร่าเริงอยู่เสมอ ไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคต่าง ๆ ที่พบเจอ และไม่ควรแสดงความท้อถอยเมื่อเจอปัญหา แต่ควรแสดงความฮึดสู้และยิ้มแย้มพร้อมจะแก้ไขปัญหานั้น ๆ ให้ผ่านไปจงได้
9. ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์ (A scout is Thrifty)
ลูกเสือจะต้องประหยัด รู้จักใช้สิ่งของของตนและของกลุ่มอย่างประหยัด ไม่สุรุ่ยสุร่าย เพื่อวันข้างหน้าเมื่อเจอกับอุปสรรค สามารถใช้ของที่เหลือมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
10. ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ (A Scout is clean in thought word and deed)
ลูกเสือจะต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งคำพูดและการกระทำ ไม่คิดร้าย อิจฉา ริษยา กลุ่มอื่น ไม่พูดคำหยาบโลนใส่กัน และไม่คิดร้ายต่อกัน
* การทำความเคารพของลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ
การทำความเคารพของลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ จะมีความแตกต่างจากลูกเสือสำรอง เนื่องจากเป็นลูกเสือที่โตเต็มที่แล้ว มีวิธีทำดังนี้
- ยกนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมือขวากางออก ให้นิ้วทั้ง 3 แนบชิดติดกัน
- ใช้นิ้วหัวแม่มือกดนิ้วก้อยไว้
- ใช้นิ้วชี้แตะที่หางคิ้วขวา
- เปิดฝ่ามือขึ้นประมาณ ๓๐ องศา ข้อมือไม่หัก
- ลำตัวตั้งตรง
ลูกเสือ นับว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดี เป็นการฝึกให้เด็กมีความกล้าหาญ อดทน รู้จักกฎ กติกา ระเบียบของกลุ่มตั้งแต่เด็ก พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรมีการสนับสนุนให้เด็กไปเข้าค่ายหรือร่วมทำกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดให้เกี่ยวกับลูกเสือ เพราะจะทำให้เด็กและวัยรุ่นเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักและเข้าใจกฎและกติกาในการอยู่กันของสังคมได้เป็นอย่างดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
lms.thaicyberu.go.th, thaiscouts.com, , บ้านดงแดง