เรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ ตัวอย่างเรียงความภาษาไทย

          เรียงความภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม 2562 มาเขียนเรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติกันเถอะ วันนี้เรามีตัวอย่างเรียงความวันภาษาไทยมาฝาก
เรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ

          วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี ถือเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ การที่กำหนดให้มีวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้น ก็เพื่อกระตุ้นให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย และร่วมใจกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเพื่ออนุรักษ์ภาษาไทยให้เป็นเอกลักษณ์อยู่คู่ชาติไทย ซึ่งในวันสำคัญนี้คุณครูหลาย ๆ ท่านจะต้องมอบหมายการบ้านให้เด็ก ๆ เขียนเรียงความกันแน่ ๆ เลย แต่เด็ก ๆ ชักเริ่มคิดไม่ตกกันแล้วสิว่าจะเขียนอย่างไรดีน้า...

          วันนี้ทางกระปุกดอทคอมจึงนำตัวอย่างเรียงความวันภาษาไทยของเพื่อน ๆ มาฝากกันค่ะ เพื่อเป็นแนวทางในการเขียน ไม่แน่ผลงานของหลาย ๆ คนอาจได้รับรางวัลก็เป็นได้ 
ตัวอย่างเรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ

เรียงความวันภาษาไทย ตัวอย่างที่ 1

          เรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ โดย พีระพิชญ์ ไพโรจน์ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่ สพม. เขต 13

          ความเป็นไทยโดดเด่นด้วยภาษา      อักษราล้วนหลากมากความหมาย
          เสน่ห์เสียงสูงต่ำคำคมคาย             ร่วมสืบสายสานคุณค่าภาษาไทย

          ในโลกนี้จะมีสักกี่ชาติกี่ประเทศ ที่มีภาษาเป็นของตนเอง และจะมีประเทศใดเล่าที่จะมีความงามทางภาษาอันเป็นวิจิตรเอกลักษณ์ดั่งเช่นประเทศไทย หากจะกล่าวว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความงาม และไพเราะที่สุดในโลกก็คงไม่ผิดนัก จากเหตุผลที่ว่าการที่ภาษาไทยมีเสียงสระ และเสียงพยัญชนะที่มีการผสมผสานกันอย่างลงตัว น่าทึ่ง แล้วยังมีเสียงวรรณยุกต์ที่เปรียบเสมือนเสียงสูงต่ำแห่งดนตรี อีกทั้งเรื่องความงดงามของภาษาที่มีการสรรคำมาใช้ในลักษณะต่าง ๆ ทั้ง การเล่นคำ การหลากคำ การซ้ำคำ คำพ้อง หรือคำผวน คำผัน การใช้โวหารต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแสดงถึงความมีเสน่ห์แห่งภาษาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง

          ภาษาไทยถือว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งและเป็นเครื่องมือสำคัญของการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ผู้ที่สามารถใช้ภาษาได้ดีจึงสามารถประสบความสำเร็จในการสื่อสารในระดับต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และในทางกลับกัน หากมีการนำภาษาไปใช้ไม่เหมาะสม ความผิดเพี้ยนแห่งภาษาย่อมจะส่งผลให้เกิดความเสียหายหลายประการอย่างแน่นอน ทั้งความเสียหายโดยตรง คือการใช้สื่อสารอาจไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังมีความเสียหายของภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราต่างภาคภูมิใจกันมาช้านาน

          จากพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ว่า "ภาษาไทยเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดความเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาให้ดี ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเองซึ่งต้องหวงแหน" ซึ่งพระราชทานเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการประชุมทางวิชาการ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ จนเป็นเหตุให้ในเวลาต่อมาคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ" เพื่อเฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย รวมถึงเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย แนวคิดสำคัญ ๆ เหล่านี้นั้นบ่งชี้ชัด และปลุกทุกคนให้ตระหนักถึงความภาคภูมิใจที่คนไทยมีภาษาประจำชาติ ทั้งทรงฝากข้อคิดถึงการดำรงรักษาไว้ซึ่งสมบัติล้ำค่าของชาติไว้ว่า

           "เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในการใช้"

          สิ่งที่พสกนิกรประจักษ์ ในการเป็น "ในหลวงนักปราชญ์ภาษาไทย" คือ การที่ทรงมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย ทั้งภาษาบาลี และสันสกฤต ทรงพระอุตสาหวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าเป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ รวมถึงพระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้น ๆ หลายบท รวมทั้งพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก และหากกล่าวถึงบทเพลงที่มีความไพเราะทั้งด้านลีลาภาษาและความหมายอันลึกซึ้งกินใจ คงไม่มีใครจะปฏิเสธได้ว่าบทเพลงพระราชนิพนธ์แห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นั้นมีความไพเราะน่าฟังยิ่งนัก นั่นแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพแห่งการใช้ภาษาไทยอย่างแท้จริง

          พระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมฯ ที่มีต่อวงการภาษาไทย เท่ากับเป็นการจุดประกายในหัวใจของคนไทยทั้งชาติ ให้เกิดความหวงแหนในภาษาประจำชาติ

          ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เทคนิคใหม่ ๆ ในการติดต่อสื่อสารผุดขึ้นมากมาย และเน้นความสะดวกรวดเร็วเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ภาษาไทยซึ่งเป็นสื่อกลางสำคัญในการติดต่อสื่อสารและผูกพันต่อการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทย จึงได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของความเจริญก้าวหน้าเหล่านั้นอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ภาษาไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนจึงเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างน่าวิตก และหากไม่เร่งรีบหาทางแก้ไขและป้องกันเสียแต่เนิ่น ๆ นับวันภาษาไทยก็จะยิ่งเสื่อมลง เป็นผลเสียต่อเอกลักษณ์และคุณค่าของภาษาไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

          ภาษาไทยเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นคนไทยอันน่าภาคภูมิใจยิ่งนัก จะมีสิ่งใดที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นเกราะป้องกันภาษาประจำชาติจากการถูกคุกคาม นอกเสียจากว่าคนไทยจะมีจิตสำนึก  ตระหนักถึงคุณค่าของการมีภาษาประจำชาติ และสนองตอบต่อพระราชดำรัสแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในด้านการใช้ภาษาไทยและดำรงรักษาภาษาไทยไว้คู่กับเอกราชของชาติไทยตลอดไป

                      คือแก่นแท้แลหัวใจไทยทั้งชาติ        คือศิลป์ศาสตร์แห่งศักดิ์ศรีที่สืบสาน

                      คือลีลาลำนำคือคำกานท์                ประจักษ์จารขานค่าคำว่าไทย

                      วัฒนธรรมล้ำค่าศรัทธามั่น               ร่วมสร้างสรรค์ส่งเสริมทุกสมัย

                      เอกลักษณ์แห่งชาติประกาศไกร        เกิดเป็นไทยให้รู้ค่าภาษาตน
เรียงความวันภาษาไทย ตัวอย่างที่ 2

          เรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ โดย นายทศพรรษ พชร 


          " ... เรามีโชคดีที่มีภาษาเป็นของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ ... "

          พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการชุมนุมภาษาไทย ในการประชุมทางวิชาการ ของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕

          ภาษาไทยเป็นภาษาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาษาที่มีความไพเราะภาษาหนึ่งในโลก เป็นภาษาที่เกิดจากอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษไทยที่ได้สั่งสมและถ่ายทอดมาเป็นเวลาหลายร้อยปีนับตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นจวบจบปัจจุบัน แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงตระหนักถึงปัญหาในการใช้ภาษาไทย จนกลายเป็นต้นกำเนิดของ "วันภาษาไทยแห่งชาติ"


          เพื่อเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้คนไทยภูมิใจในเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาติไทย แสดงถึงความเป็นชนชาติที่มีภาษาเป็นของตนเอง ในขณะที่หลายประเทศในโลกนั้นไม่มีภาษาซึ่งแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

          ภาษาไทย มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เป็นภาษาดนตรี เนื่องจากเป็นภาษาที่มีครบทั้งเสียงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เป็นภาษาที่สามารถใช้บันทึกเสียงที่เปล่งออกมาได้เกือบจะครบถ้วน เช่น ภาษาจีนจะไม่สามารถบันทึกเสียง "ด" ได้

          นอกจากนี้ภาษาไทยยังเป็นภาษาที่มีจังหวะจะโคน มีสัมผัสคล้องจองที่ไพเราะเสนาะหูเมื่อเปรียบเทียบกับภาษาอื่น สะท้อนถึงอุปนิสัยของคนไทยที่เป็นคนเรียบง่ายแต่งดงาม อยู่กับธรรมชาติและเสพสุนทรียะจากสิ่งรอบตัวได้ จะมีรูปแบบฉันทลักษณ์ที่เป็นแบบแผน มีการใช้กลบท เล่นเสียง เล่นคำ และรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งล้วนแล้วแต่กลั่นกรองมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกลบทบัวบานขยายกลีบ กลบทงูกินหาง กลบทสะบัดสะบิ้ง ซึ่งหาภาษาอื่นใดในโลกที่จะทำได้เช่นนี้ไม่มีอีกแล้ว

          ภาษาไทยเป็นภาษาที่แสดงถึงความมีสัมมาคารวะ เพราะว่ามีระดับของภาษา เช่น ภาษาทางการ ภาษากึ่งทางการ ภาษาปาก ซึ่งต้องใช้ให้ถูกกาลเทศะ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า กิน ของพระใช้ ฉัน ของคนธรรมดาใช้ รับประทาน ของพระมหากษัตริย์ใช้เสวย

          แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นว่า ภาษาไทยถูกนำมาใช้อย่างผิด ๆ เกิดการสร้างคำแบบใหม่ มีการตัดคำและไม่มีกาลเทศะในการใช้คำ แม้ว่าธรรมชาติของภาษาจะบอกว่า "ภาษาที่มีชีวิตนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลง" แต่ทว่าหากภาษาไทยเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ เกรงว่าเอกลักษณ์ของชาติคงจะเสียหายและสูญหายไปในที่สุด เพราะเหตุนี้เราจึงควรร่วมกันอนุรักษ์ภาษาไทย เพราะ "เราโชคดีที่มีภาษาไทย" ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

เรียงความวันภาษาไทย ตัวอย่างที่ 3

          เรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ โดย นายมณฑล พรหมเผ่า

          หลายคนจะรู้ว่าวันภาษาไทยแห่งชาติคือวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี แต่บางคนจึงคิดว่ามันเป็นแค่วันที่จะได้เทิดทูนยกย่องภาษาไทยเท่านั้น แต่มิอาจได้รู้ว่าวันภาษาไทยเกิดขึ้นเพราะอะไรมีความสัมพันธ์อย่างไร ทำไมวันภาษาไทยคือวันที่ 29 กรกฎาคม

          ภาษาไทยคือภาษาประจำชาติไทยที่กำเนิดมาตั้งแต่สุโขทัยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ตอนนี้ภาษาไทยคือภาษาที่คนไทยมักนำมาดัดแปลงเป็นภาษาที่ไม่ไพเราะ เป็นภาษาที่ไม่สำคัญ แม้จะมีวันภาษาไทยก็ตามคนไทยก็ถือว่าเป็นแค่ความรื่นเริงเท่านั้น และคนไทยก็คิดว่าการพูดภาษาไทยผิดเป็นแค่เรื่องธรรมดา แต่มันคือการดูถูกชาติทำให้ประเทศเสื่อมเสีย ส่วนวันภาษาไทยแห่งชาติถูกรับเลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เพราะวันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชได้คำนึงถึงการใช้ภาษาไทยที่ผิด จึงได้จัดตั้งเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติเพื่อให้ได้คำนึงถึงภาษาของชาติไทย

          วันภาษาไทยแห่งชาติได้ถูกจัดตั้งมาแต่ก็ยังมีคนใช้อย่างผิด ๆ เราเป็นคนไทยต้องใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องก่อนที่ภาษาประจำชาติไทยของเราจะล่มสลายไป ถ้าเราช่วยรักษาภาษาของเราไว้อย่างถูกต้อง ลูกหลานจะต้องไม่ได้มาถามว่าภาษาไทยที่แท้จริงเป็นอย่างไร"

เรียงความวันภาษาไทย ตัวอย่างที่ 4

          เรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ โดย ครูลักษณา สังฆมาศ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

                               เป็นคนไทยพูดภาษาไทยต้องให้ชัด
                               คุณสมบัติไทยแท้แน่นอนยิ่ง
                               ไม่พูดตัว  ร  เรือ เป็น ล  ลิง
                               น่าขันยิ่งฟังไม่เพราะเหมาะเหมือนใจ                                  
                               ออกเสียงผิดความหมายผิดย่อมแปรเปลี่ยน
                               เพราะพูดเรียนเป็นเลียนน่าสงสัย
                               เรียนหนังสือใช้  ร เรือ เสมอไป
                               ใช้ ล ลิง ไม่ได้ผิดทันที  ฯ
                               พูดชัดดีเป็นคนมีการศึกษา
                               พูดไม่ชัดนั้นน่าละอายยิ่ง
                               ควรฝึกฝนตั้งใจอย่างแท้จริง
                               คำควบกล้ำนั้นยิ่งต้องฝึกปรือ ฯ

                                                                                                ศาสตราจารย์  ดร.สุจริต เพียรชอบ


          ในปัจจุบันนี้ภาษาไทยได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยอิทธิพลของการสื่อสารในโลกที่เป็นสากล คนรุ่นใหม่พูดภาษาไทยน้อยลง พูดภาษาไทยไม่ชัด พูดเพี้ยนไป มีการเลียนเสียงภาษาต่างประเทศ ทำให้เสียงวรรณยุกต์เคลื่อนหรือเลื่อนไป

          จากบทประพันธ์ข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันการออกเสียงภาษาไทย ไม่ถูกต้องและชัดเจน หลายคนไม่เห็นความสำคัญของภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน จึงทำให้พูดผิด เขียนผิด เช่น การใช้ภาษาของดารา  นักร้องบางคนก็ควรจะเป็นตัวอย่างที่ถูกต้อง เพราะวัยรุ่นมักจะชอบเลียนแบบดาราที่ชื่นชอบ

           ครั้งหนึ่งได้ฟังนักร้องดังคนหนึ่งพูดทักทายแฟนเพลงขณะที่ร้องเพลงว่า "สวัสดีคะ" ซึ่งควรใช้ "สวัสดีค่ะ" จึงจะถูกต้อง เพราะ คำ คะ ค่ะ นี้ใช้ต่างกัน คะ จะใช้เป็นคำถาม เช่น "สบายดีไหมคะ" ส่วน ค่ะ ใช้เป็นคำขานรับ เช่น "สบายดีค่ะ" เป็นต้น

            การออกเสียงไม่ถูกต้องก็เป็นปัญหาในการสื่อสาร เช่น แม่บ้านคนหนึ่งตะโกนบอกสามีว่า "พ่อลาขึ้นบ้าน" สามีตอบว่า "ก็ไล่มันไปสิ" เพราะเข้าใจว่า ลา คือ สัตว์สี่เท้า แต่จริง ๆ แล้ว คือ เชื้อรา เพราะออกเสียงผิด ทำให้ความหมายผิดไป นักวิชาการหลายท่านได้ออกมารณรงค์ให้ออกเสียง ร เรือ และคำควบกล้ำให้ถูกต้อง
            
            มีการจัดสัมมนาหลายหน่วยงาน ซึ่งผู้เขียนก็เคยเข้าร่วมสัมมนาด้วย นักวิชาการกลัวว่าต่อไปในอนาคตจะต้องเลิกใช้ ร เรือ เป็นแน่ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เห็นความสำคัญและไม่ออกเสียง ร เรือ เวลาพูด เช่น โรงเรียน เป็น โลงเลียน เรียบร้อย เป็น เลียบล้อย เกรงกลัว เป็น เกงกัว ฯลฯ หรือคำควบกล้ำก็ไม่ออกเสียง ภาคกลาง เป็น ภาคกาง ครอบครัว เป็น คอบคัว เป็นต้น บางครั้งผู้เขียนเคยสอบถามนักเรียนที่มาใช้บริการร้านหมอภาษา นักเรียนบอกว่า ออกเสียง ร เรือ ไม่ได้ เพราะไม่เคยฝึกรัวลิ้น หรือบางคนออกเสียงได้แต่ลืมออกเสียง เพราะการออกเสียงเป็น ล ลิง จะง่ายกว่าตามความเคยชิน บางคนบอกว่าอายเพื่อน เพราะส่วนใหญ่ไม่ออกเสียง ร เรือ เมื่อได้ฟังแล้วน่าเป็นห่วงเราคงไม่อยากให้ ร เรือ เป็นภาษาที่ตายไปหรือต้องเลิกใช้

            บางคนออกเสียง ล ลิง เป็น ร เรือ ก็มี เช่น "ไม่ไปแร้ว" ออกเสียง แล้ว เป็น แร้ว ปัญหาการออกเสียง ร เรือ ล ลิง มีมาก จนผู้เขียนกำลังทำวิจัยเรื่อง การออกเสียง ร เรือ ล ลิง นักเรียนส่วนใหญ่ที่ไม่ออกเสียง ร เรือ เพราะกระดกลิ้นไม่ได้ หรือบางคนออกเสีย ร เรือ ได้ แต่อายที่จะพูด บางคนลืมออกเสียงด้วยความเคยชินกับการออกเสียงเป็นเสียง ล ลิง มากกว่า เพราะไม่ต้องกระดกลิ้น  บางคนตั้งใจออกเสียง ร เรือ มากเกินไปก็ทำให้ไม่เป็นธรรมชาติ  
 
            นักเรียนหมอภาษาทุกคน ถูกปลูกฝังให้ออกเสียง ร เรือ ล ลิง คำควบกล้ำให้ชัดเจนเพื่อจะได้เป็นสื่อในการออกเสียงภาษาไทยให้กับบุคคลใกล้เคียง เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือเพื่อน หากทุกคนระวังและตระหนักในการออกเสียงอยู่เสมอ ๆ จะทำให้ออกเสียงได้ถูกต้อง บางครั้งเรานั่งชมโทรทัศน์ ฟังพิธีกรหรือผู้ใหญ่บางคนออกเสียงไม่ชัดเจนยังรู้สึกไม่สบายใจ เพราะกลัวว่าเด็ก ๆ จะเอาเป็นตัวอย่างเวลาที่เราพูดคุยกับผู้อื่น ลองสังเกตดูว่า เมื่อเราออกเสียงถูกต้องเขาก็จะพยายามออกเสียงให้ถูกต้องตามเช่นกัน

             การฝึกออกเสียง ร เรือ ขั้นแรกต้องฝึกรัวลิ้นก่อน ฝึกพูด ฝึกอ่านออกเสียงจากแบบฝึกหัดทั้งคำ ร เรือ ล ลิง และคำควบกล้ำ การร้องเพลงก็เป็นการออกเสียงที่ดีเหมือนกัน เพราะทำให้ผ่อนคลายได้ เด็ก  ๆ จะชอบร้องเพลงหรือ อ่านหนังสือการ์ตูน เราก็ฝึกให้เขาออกเสียงให้ถูกต้อง และให้เขาเล่าเรื่องที่อ่านด้วย ทำให้ได้ประโยชน์หลายอย่าง 
 
            จากการสังเกตนักเรียนที่ชอบอ่านหนังสือที่นอกเหนือจากหนังสือเรียนแล้ว นักเรียนจะเป็นผู้ที่ใช้ภาษาค่อนข้างดี มีเหตุผล เรียนดีเป็นส่วนใหญ่ เขาจะอ่านหนังสือคล่องมาก ส่วนนักเรียนที่เรียนอ่อนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยอ่านหนังสือ จะใช้เวลาว่างในการวิ่งเล่น ชมโทรทัศน์ เล่นเกม ฉะนั้นการสนับสนุนให้เด็ก ๆ อ่านหนังสือเป็นเรื่องดี ให้อ่านหนังสือทุกชนิด ไม่ใช่อ่านการ์ตูนอย่างเดียวค่ะ ลองให้อ่านหนังสือพิมพ์บ้าง ผู้ใหญ่ต้องกระตุ้นให้อยากอ่านก่อน โดยเล่าเรื่องเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ฟังเพื่อเร้าใจ ให้ติดตามตอนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ เรื่องสั้น นวนิยาย ฯลฯ

             มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เขียนไปห้องสมุดพบนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/6 ชื่อเด็กชายศักดิโชติ เพชรสม กำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่ คุณแม่มารับกลับบ้าน เขาบอกคุณแม่ว่ายังอ่านไม่จบ ให้คุณแม่อ่านหนังสือรอก่อน แทนที่จะบอกว่าให้ คุณแม่นั่งรอก่อน คุณครูฟังแล้วรู้สึกภูมิใจแทนคุณแม่มาก เมื่อสอบถามบรรณารักษ์ ได้ความว่าเด็กคนนี้ชอบอ่านหนังสือเป็นประจำ หนังสือที่อ่านเป็นวรรณกรรมหรือนวนิยายที่ค่อนข้างยาวมาก

             หากเด็กไทยทุกคนรักการอ่านจะทำให้ประเทศชาติมีเยาวชนที่มีความรู้กว้างขวาง สามารถนำความรู้มาพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศได้  โรงเรียนปราโมชวิทยารามอินทราได้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้ภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน ได้จัดกิจกรรมต่าง  ๆ เพื่อเป็นการจรรโลงค่าและอนุรักษ์ภาษาไทยให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานสืบไป

เรียงความวันภาษาไทย ตัวอย่างที่ 5


          เรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ โดย พีระพิชญ์ ไพโรจน์ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่ สพม. เขต 13


          หากบุคคลใดมีเครื่องมือสื่อสารชั้นดี แต่ไม่ได้ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพก็อาจเสียประโยชน์ได้เช่นเดียวกับ "ภาษา" ที่เป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่งของพลโลก ซึ่งจะเกิดประสิทธิภาพหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการเลือกใช้อย่างชาญฉลาด

            ภาษาเป็นสื่อด้านเสียงและสัญลักษณ์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์และสั่งสม เป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการติดต่อสื่อสารและการเรียนรู้ ภาษาเป็นวัฒนธรรมเนื้อแท้ของไทย บ่งบอกถึงความเป็นเอกราชและเอกลักษณ์ของชาติ ภาษาจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของบรรพบุรุษ  ซึ่งแสดงถึงความเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมอันสูงส่งมาแต่โบราณ และยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน

              .....ต้นไม้ที่แข็งแรง ก็ย่อมมาจากรากที่ฝังแน่นในพื้นดิน  
              ประเทศชาติที่เข้มแข็งก็ย่อมมาจากวัฒนธรรมที่แข็งแรงด้วยเช่นกัน.....
             
             ทุกท่านคะ นับว่าโชคดีที่เรามีภาษาเป็นของตนเอง ภาษาไทยจึงมีความน่าพินิจในประเด็นต่าง  ๆ ดังนี้

             ภาษาไทยน่าพินิจในประเด็นของความเป็นมรดกทางภาษา เป็นภูมิปัญญาอันเลิศล้ำ เป็นเครื่องมือช่วยจำอันสูงค่า และเป็นภาษาที่มีความไพเราะที่สุดภาษาหนึ่งในโลกด้วยมีเสียงสระ และเสียงพยัญชนะผสมผสานกันอย่างลงตัว  แล้วยังมีเสียงวรรณยุกต์ที่เปรียบเช่นเสียงสูงต่ำแห่งดนตรี อีกทั้งความงดงามทางภาษา ที่มีการสรรคำมาใช้ในลักษณะต่าง ๆ ทั้งการเล่นคำ การหลากคำ คำผวน คำผัน คำพ้อง การใช้โวหาร ภาพพจน์ การใช้คำสัมผัสคล้องจองอย่างมีจังหวะจะโคน สะท้อนอุปนิสัยอันเรียบง่ายแต่งดงามของคนไทย ภาษาไทยยังเป็นภาษาที่แสดงถึงความมีสัมมาคารวะ เพราะว่ามีระดับของภาษา ซึ่งต้องใช้ให้ถูกต้องตามกาลเทศะ เหล่านี้ล้วนแสดงถึงเสน่ห์แห่งภาษาไทยอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง

            ภาษาไทยน่าพินิจในประเด็นให้คิดที่ว่า ธรรมชาติของภาษาอย่างหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงทางภาษา ตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน พบว่าภาษาก็มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาตามยุคสมัย และที่เป็นปัญหาในโลกออนไลน์ขณะนี้ก็คือเรื่องของการใช้คำใหม่ ๆ แปลก  ๆ ที่เรียกว่า "ศัพท์สแลง" ซึ่งคาดว่า วันหนึ่งก็จะหายไปและเกิดคำใหม่ขึ้นมาอีก หากว่ามีคำใดที่เกิดการยอมรับในวงกว้างก็จะบัญญัติขึ้นใช้ต่อไป การเปลี่ยนแปลงทางภาษาที่ว่านี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันในเยาวชนคนรุ่นใหม่ว่า จะใช้ภาษาเช่นใดก็ต้องใช้อย่างผู้มีความรู้ เลือกใช้ภาษาให้เหมาะสมกับโอกาสและบุคคล ภาษาต้องมี "บรรทัดฐาน" เพราะเยาวชนไทยคือเมล็ดพันธุ์ของอารยธรรมไทยในอนาคต จึงควรที่บ่มเพาะให้งดงาม

           ภาษาไทยน่าพินิจในการเสนอความคิดอันทรงพลัง ภาษาสะท้อนความคิดของคน ถ้าใช้ในทางสร้างสรรค์ก็ย่อมส่งเสริมสิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในสังคม ภาษาสามารถสร้างพลังแห่งความรัก สามัคคี หรือบางทีก็อาจย่ำยีทำลาย ภาษาอาจเป็นอาวุธร้ายหรือยาสมานบาดแผลได้ในขณะเดียวกัน พลังแห่งภาษาจึงเป็นที่มาของการเกิดสำนวน สุภาษิต คำพังเพย คำขวัญ คำคม คติพจน์ บทร้อยกรอง บทเพลง หรือกระทั่งภาษาในโฆษณาที่ทรงพลังในการโน้มน้าวจิตใจให้คิดเห็นคล้อยตาม เมื่อตระหนักถึงพลังของภาษาก็เป็นหน้าที่ของผู้ใช้ภาษาที่ต้องมีสำนึกรับผิดชอบ รวมทั้งผู้รับสารที่ต้องพินิจพิจารณาสารที่ได้รับก่อนการตัดสินใจ

           ภาษาไทยน่าพินิจ ฝากข้อคิดเพื่อนำไปใช้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงพระราชทานแนวคิดสำคัญในการใช้ภาษาไทยไว้ว่า

          "เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้อย่างหนึ่ง ต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในการใช้"

          จะมีสิ่งใดที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นเกราะป้องกันภาษาประจำชาติจากการถูกคุกคาม นอกเสียจากว่าคนไทยจะมีจิตสำนึก ตระหนักถึงคุณค่าของการมีภาษาประจำชาติ และสนองตอบต่อพระราชดำรัสแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในด้านการใช้ภาษาไทยเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งสมบัติอันล้ำค่าของชาติ คู่เอกราชของไทยตลอดไป

            ภาษาไทยน่าพินิจประสิทธิผล                      ทั้งแยบยลงดงามหลากความหมาย
            ทรงพลังสื่ออารมณ์คำคมคาย                       อย่าทำลายด้วยใช้ผิดพินิจคำ   


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
thaistudyfocus.com
roikamhom.blogspot.com 
simsworld.info
sahavicha.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ ตัวอย่างเรียงความภาษาไทย อัปเดตล่าสุด 28 มิถุนายน 2567 เวลา 16:06:36 1,117,059 อ่าน
TOP
x close