ดอกไม้วันครู 16 มกราคม 2566 ซึ่งสัญลักษณ์ประจำวันครู คือ ดอกกล้วยไม้ มาดูความหมายดอกไม้วันครู เนื่องในวันครูแห่งชาติ พร้อมข้อมูลและความเป็นมาเกี่ยวกับดอกกล้วยไม้กันค่ะ
เด็กนักเรียนส่วนใหญ่คงจะทราบกันดีว่า วันที่ 16 มกราคมของทุก ๆ ปี
เป็นวันอะไร ? คำตอบก็คือ วันครูนั่นเอง
ซึ่งวันนี้ก็เป็นวันที่มีความสำคัญอีกวันหนึ่ง เนื่องจากนอกจากพ่อแม่แล้ว
ครูยังเปรียบได้กับพ่อแม่คนที่ 2
ที่เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลายและเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญในการให้การศึกษาเรียนรู้
ดังนั้น
วันครูจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ
ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน
แล้วเพื่อน ๆ รู้หรือไม่คะว่า ดอกไม้วันครู สัญลักษณ์คือดอกอะไร ? วันนี้กระปุกมีเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับ ดอกไม้ประจำวันครู มาฝากกันค่ะ
ดอกกล้วยไม้ สัญลักษณ์ ดอกไม้วันครู 16 มกราคม
ความหมายดอกไม้วันครู
สำหรับ ดอกไม้ประจำวันครู 16 มกราคม หรือ ดอกไม้วันครู คือ ดอกกล้วยไม้ โดยคณะกรรมการจัดงานวันครู พ.ศ. 2539 พิจารณาเห็นว่าคุณลักษณะของดอกกล้วยไม้ มีลักษณะและความหมายคล้ายคลึงกับสภาพชีวิตครู นั่นคือ กว่ากล้วยไม้แต่ละช่อจะผลิดอกออกผลให้เราชื่นชมได้ ต้องใช้เวลานานและต้องการดูแลเอาใจใส่ไม่น้อย เช่นเดียวกับครูแต่ละคน กว่าจะสั่งสอนเคี่ยวเข็ญศิษย์คนแล้วคนเล่าให้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในชีวิตได้ ก็ต้องใช้เวลาอบรมสั่งสอนมิใช่น้อยเช่นกัน
นอกจากนี้ กล้วยไม้ยังเป็นพืชที่อยู่ในที่สูงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ไม่ร่วงโรยง่าย เปรียบเสมือนครูที่อยู่ทั่วแดนไทยที่ต้องอดทนต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ ดังคำกลอนดอกไม้วันครู ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ศิลปินแห่งชาติ ที่ว่า
"กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม"
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ ดอกกล้วยไม้ ดอกไม้วันครู
กล้วยไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orchid
ชื่อวงศ์ : ORCHIDACEAE
ชื่อสามัญ : Orchid
ชื่ออื่น ๆ : เอื้อง (ภาคเหนือ)
ถิ่นกำเนิด : ละตินอเมริกา, เอเซียแปซิฟิค
การขยายพันธุ์ : แยกลำ, แยกหน่อ, เพาะเนื้อเยื่อ
ประวัติดอกกล้วยไม้
กล้วยไม้เป็นพืชวงศ์ใหญ่ มีกว่า 700 สกุล ที่พบในธรรมชาติมีประมาณ 25,000 ชนิด มีการผสมข้ามชนิดและข้ามสกุลมากกว่า 30,000 คู่ผสม กล้วยไม้มีดอกสวยงามหลากหลายสีสัน เป็นที่นิยมปลูกเลี้ยงกันทั่วโลก โดยประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดพันธุ์กล้วยไม้ที่สวยงามหลายชนิดและมีการพัฒนากล้วยไม้ลูกผสมจำนวนมากขึ้นภายในประเทศ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กล้วยไม้เป็นพืชวงศ์ใหญ่ มีความแตกต่างกันภายในวงศ์อย่างเห็นได้ชัด โดยทั่วไปลำต้นของกล้วยไม้ไม่มีแก่นและเปลือก เนื้อในเสมอกัน
- ลำต้นของกล้วยไม้มี 2 ลักษณะ คือ ลำต้นแท้ มีข้อและปล้องเหมือนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทั่วไป มีการเจริญเติบโตทางยอด ลำต้นเทียมหรือลำลูกกล้วยไว้สะสมอาหาร มีลำต้นเป็นเหง้า มีข้อและปล้องถี่ เจริญในแนวนอนไปตามผิวของเครื่องปลูก
- รากกล้วยไม้ กลมอวบเป็นเส้นเล็กแข็งหรือแบนราบ มีทั้งรากดิน รากกึ่งดิน รากกึ่งอากาศ และรากอากาศ
- ใบกล้วยไม้เป็นใบเลี้ยงเดี่ยวมีลักษณะต่างกันออกไป เช่น รูปแถบ รูปกลมยาว หรือลดรูปเป็นเพียงเกล็ด แผ่นใบบางคล้ายใบหมาก หนาอวบน้ำ หรือเป็นแท่งกลม ส่วนมากแล้วไม่มีส่วนที่เป็นก้านใบชัดเจน สีของใบเป็นสีเขียวสด บางชนิดเป็นสีม่วงคล้ำ บางชนิดก็มีลวดลาย
- ดอกกล้วยไม้ออกที่ปลายลำต้น ซอกใบหรือข้างลำต้น ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบเรียงสลับกันกับกลีบดอก 3 กลีบ กลีบดอกอันล่างมีลักษณะต่างออกไปเรียกว่ากลีบปากหรือกลีบกระเป๋าไว้สำหรับล่อแมลง
- ก้านเกสรตัวเมียและยอดเกสรตัวเมียของกล้วยไม้เชื่อมติดกันกับเกสรตัวผู้เป็นเส้าเกสรอยู่กลางดอก เกสรตัวผู้อยู่รวมกันเป็นก้อนเป็นกลุ่มเรณู แต่ละอับเรณูมีฝาปิด มี 2, 4 หรือ 8 ก้อนแล้วแต่ชนิดกล้วยไม้ ยอดเกสรตัวเมียอยู่ใต้อับเรณู มีลักษณะเป็นเมือกเหนียว รังไข่อยู่ตรงส่วนของก้านดอก เมื่อได้รับการผสมจะเจริญไปเป็นเมล็ดต่อไป
การปลูกและดูแลรักษาดอกกล้วยไม้
โดยส่วนใหญ่กล้วยไม้เป็นพืชที่ชอบความชุ่มชื้นแต่ไม่แฉะ อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ แต่ถ้าอากาศเย็นจัดกล้วยไม้จะพักตัวเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ ควรปลูกให้ได้รับแสง 50-60% เครื่องปลูกแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับระบบราก เช่น กล้วยไม้ที่มีระบบรากดินและกิ่งดินใช้อินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อยผุพังและร่วนซุย กล้วยไม้ที่มีระบบรากอากาศและกึ่งอากาศใช้ ถ่าน กาบมะพร้าว หินเกล็ด อิฐหักหรือทรายหยาบ หรืออาจผูกติดกับต้นไม้ใหญ่ให้รากยึดกับต้นไม้ การรดน้ำควรรดน้ำวันละครั้งแต่อย่าให้แฉะ รักษาความชื้นของเครื่องปลูกให้สม่ำเสมอ