x close

จินดามณี ตำราเรียนของไทยในสมัยอยุธยา ต้นแบบอักษรภาษาในปัจจุบัน

หนังสือจินดามณี

          มาทำความรู้จักแบบเรียนเล่มแรกของไทย พร้อมศึกษาเนื้อหาในหนังสือจินดามณีมีอะไรบ้าง ตำราในสมัยอยุธยาที่ทรงคุณค่ามายังชนรุ่นหลัง

          ไม่เพียงแต่กระแสละครบุพเพสันนิวาสที่เปรี้ยงปร้างสะเทือนวงการ ทว่ากระแสในด้านปลุกความเป็นไทยให้หลาย ๆ คนอยากย้อนอดีตไปยังสมัยอยุธยาก็ฟีเว่อร์ไม่แพ้กัน ทั้งการสวมใส่ชุดไทยโบราณ หรือตามรอยเส้นทางท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ

          และที่น่ายินดีเป็นอันมากก็เห็นจะเป็นความสนใจในตำรับตำราเรียนไทย อย่างหนังสือจินดามณี แบบเรียนไทยเล่มแรกในสมัยอยุธยา ถึงขนาด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งให้คณะรัฐมนตรีไปท่องจินดามณีมาคนละบท กรมศิลปากรจึงได้โอกาสจัดพิมพ์หนังสือจินดามณีออกมาจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2561 จนได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ขายหมดเกลี้ยงในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงด้วยซ้ำ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักหนังสือจินดามณีกันบ้างดีกว่าค่ะ วาร์ปไปยังสมัยอยุธยากันสักนิด แล้วศึกษาเนื้อหาในหนังสือจินดามณีมีอะไรบ้าง


หนังสือจินดามณี

ภาพจาก ช่อง 3

จินดามณี คืออะไร

          จินดามณี เป็นชื่อของหนังสือแบบเรียนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2215 โดยพระโหราธิบดี พระราชครูในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หนังสือจินดามณีถือเป็นแบบเรียนในสมัยอยุธยาตอนปลายมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

          นอกจากนี้จินดามณียังถือว่าเป็นต้นแบบหนังสือเรียนเล่มแรกของไทยที่มีเนื้อหาครอบคลุมและใช้ได้อย่างเป็นมาตรฐาน โดยในสมัยนั้นหนังสือจินดามณีมีไว้สำหรับผู้ที่จะถวายตัวเข้ารับราชการ หรือผู้ที่ฝึกหัดเป็นกวี ดังนั้น จินดามณี อันแปลความได้ว่า แก้วสารพัดนึก จึงมีความหมายโดยนัยว่า ใครที่เรียนหนังสือจินดามณีจนแตกฉาน ย่อมจะประสบความสำเร็จและมีชีวิตรุ่งโรจน์นั่นเอง

หนังสือจินดามณี

หนังสือจินดามณี

ภาพจาก ช่อง 3
 
จินดามณี ไม่ได้มีฉบับเดียว

          หนังสือจินดามณีได้มีการปรับปรุงแบบเรียนเพื่อให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัย โดยยังคงยึดต้นแบบจากหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดีเป็นมาตรฐานไว้ ยุคหลัง ๆ มาจึงมีแบบเรียนไทยเกิดขึ้นใหม่อีกหลายเล่มในชื่อจินดามณี ดังต่อไปนี้

          - จินดามณี เล่ม 1 ฉบับพระโหราธิบดี

          - จินดามณี เล่ม 2 ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท

          - บันทึกหนังสือเรื่องจินดามณี ของนายธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร)

          - จินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ โดยนายขจร สุขพานิช นำมาจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
หนังสือจินดามณี


          อย่างไรก็ตาม ต้นฉบับของหนังสือจินดามณี มีเนื้อความมากมายหลายอย่าง ซึ่งนายธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) ได้รวบรวมเนื้อหาในหนังสือจินดามณีแต่ละฉบับไว้ และได้แบ่งความแตกต่างของเนื้อเรื่องไว้ 4 ประเภท จำแนกได้ดังนี้

1. จินดามณี ฉบับความแปลก

          กล่าวคือ มีข้อความแปลกจากฉบับอื่น โดยมีทั้งฉบับสมุดไทยดำเส้นรง ที่สมเด็จฯ กรมพระยาราชานุภาพประทานให้หอสมุดแห่งชาติ และฉบับที่เป็นสมบัติเดิมของหอสมุดแห่งชาติอยู่แล้ว

2. จินดามณี ฉบับความพ้อง

          จินดามณีฉบับความพ้องมีหลายเล่มสมุดไทย โดยเป็นของที่หอสมุดฯ ซื้อไว้บ้าง มีผู้บริจาคให้บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เนื้อความจะคล้ายคลึงกับจินดามณีเล่มแรก ที่พระโหราธิบดีเป็นผู้ประพันธ์ แต่ก็มีเนื้อหาที่แตกต่างกันบ้างในบางเล่ม

3. จินดามณี ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท

          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพระนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2392 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

หนังสือจินดามณี

ภาพจาก กรมศิลปากร 
 
4. จินดามณี ฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเล

          จินดามณีฉบับนี้เป็นฉบับสำรวมใหญ่ คือ รวมตำราแบบเรียนภาษาไทยหลายเล่มมาพิมพ์ไว้ด้วยกัน เช่น ประถม ก.กา แจกลูก จินดามณี ประถมมาลา และปทานุกรม โดยหนังสือจินดามณีในฉบับนี้ยังได้แทรกเรื่องคำอธิบายต่าง ๆ ทั้งคำราชาศัพท์ และเครื่องหมายวรรคตอนในภาษาอังกฤษเป็นหนึ่งในเนื้อหาของหนังสือจินดามณีด้วย

หนังสือจินดามณี

จินดามณี เนื้อหาในหนังสือมีอะไรบ้าง

          หนังสือจินดามณีมีเนื้อหาการเรียนการสอนพื้นฐานด้านอักขรวิทยา เช่น อักษรศัพท์ ว่าด้วยคำที่มักเขียนผิด ความหมายของคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต และเขมร ยกตัวอย่างเช่น อักษรตัว ส, ศ, ษ รวมไปถึงคำที่ใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย เป็นต้น นอกจากนี้ในหนังสือจินดามณียังมีบทประพันธ์ประเภทบทร้อยกรองต่าง ๆ อีกทั้งยังมีเนื้อหาที่อธิบายการเขียนโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนต่าง ๆ พร้อมตัวอย่างฉันทลักษณ์นั้น ๆ

          ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้ระบุรายละเอียดเนื้อหาของหนังสือจินดามณีแยกไว้เป็นหมวดหมู่ โดยจำแนกได้ ดังนี้

          - ร่ายนำมนัสการพระสุรัสวดี

          - รวมรวมคำศัพท์ที่มีเสียงพ้องกันแต่เขียนต่างกัน เช่น บาตร บาท บาศ เป็นต้น โดยมีทั้งศัพท์ไทย บาลี สันสกฤต และเขมร รวมกันเรียก “ศัพท์อักษร”

          - ฉันท์ นมัสการพระรัตนตรัย

          - อธิบายและยกตัวอย่าง “นามศัพท์” หรือ “ศัพท์พนาม” ที่ใช้ตัวอักษร ษ ศ ส สะกด และใช้ไม้ม้วน 20 คำ ไม้มลาย 80 คำ

          - การใช้ ฤ ฤา ฦ ฦา ในการแต่งคำประพันธ์

          - เครื่องหมายแปดสิ่งที่เสมียนพึงรู้

          - เลขอักษร

          - อธิบายการแต่งคำประพันธ์ตามคัมภีร์วุตโตทัย และกาพย์สารวิลาสินี โดยแสดงแผนผังและยกตัวอย่างจากวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งได้เขียน “ธรง” เป็นกาพย์สุรางคนางค์สำหรับให้จำคณะทั้งแปดที่กำหนดไว้ในการแต่งฉันท์

          - โคลงรหัสอักษร เช่น โทนับ 3 และโทนับ 5

          - อักษรสามหมู่ ว่าด้วยการแจกลูกและผันอักษรตามมาตราตัวสะกด

          - คำว่า “อักขระ” และฐานกรณ์หรือที่เกิดของเสียง

    หนังสือจินดามณี

หนังสือจินดามณี

หนังสือจินดามณี

หนังสือจินดามณี

หนังสือจินดามณี

ต้นฉบับหนังสือจินดามณีที่เขียนไว้ในสมุดไทยดำ (บางส่วน)

ภาพจาก กรมศิลปากร

          ทั้งนี้ หนังสือจินดามณีนั้นใช้เป็นแบบเรียนไทยมานาน กระทั่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แต่งหนังสือมูลบทบรรพกิจเป็นแบบเรียนหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้น จึงได้เลิกใช้หนังสือจินดามณีไป
 
          ทำความรู้จักหนังสือจินดามณีกันไปแล้ว หลายคนก็อยากอ่านหนังสือจินดามณีกับตาตัวเองสักครั้ง และด้วยกระแสความต้องการของประชาชนที่ล้นหลาม ทางกรมศิลปากรจึงจัดพิมพ์หนังสือจินดามณี เล่มหนึ่ง และจินดามณีฉบับใหญ่ บริบูรณ์ ในรูปแบบปกอ่อนและปกแข็ง เป็นหนังสือจินดามณี ฉบับที่จัดพิมพ์เผยแพร่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2561 จากการจัดพิมพ์หนังสือจินดามณีเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2485

          ภาพหนังสือจินดามณี เล่มหนึ่ง และจินดามณีฉบับใหญ่ บริบูรณ์ ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2561

หนังสือจินดามณี


          ส่วนใครที่หาซื้อหนังสือจินดามณีไม่ได้ ก็สามารถไปชมและอ่านหนังสือจินดามณีฉบับต่าง ๆ ได้ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
กรมศิลปากร
เฟซบุ๊กกลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร
สำนักหอสมุดแห่งชาติ
สโมสรศิลปวัฒนธรรม

    
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จินดามณี ตำราเรียนของไทยในสมัยอยุธยา ต้นแบบอักษรภาษาในปัจจุบัน อัปเดตล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2562 เวลา 18:41:17 109,868 อ่าน
TOP