
จากกรณีดราม่า #ครูคืนถิ่น ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ถึงกรณีผู้ผ่านคัดเลือกโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือ "ครูคืนถิ่น" ประจำปี 2560 ที่ออกมาเรียกร้องให้ปรับลดคะแนนการสอบข้อสอบกลาง (TOEIC) ที่ใช้ยื่นประกอบการสมัครโครงการฯ จากเดิมกำหนดขั้นต่ำไว้ 400 คะแนน ให้เหลือ 250 คะแนน หรือใช้วิธีการอบรมแทนนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ (10 กรกฎาคม 2560) มีรายงานว่า ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เผยว่า การกำหนดเกณฑ์โครงการครูคืนถิ่นนั้น มีการปรับเปลี่ยนทุกปี เพื่อคัดเลือกครูที่มีคุณภาพ และการปรับเกณฑ์สำหรับปี 2560 มีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะต้องการคนเก่งมีคุณภาพมาเป็นครู ส่วนการกำหนดเกณฑ์ภาษาอังกฤษ ซึ่งจะต้องผ่านจากการสอบข้อสอบกลาง (TOEIC) 400 คะแนน ที่ไม่ใช่คะแนนจากมหาวิทยาลัย เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
ทั้งนี้ คะแนน TOEIC 400 คะแนนนั้น ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการในโครงการดังกล่าวแล้ว ซึ่งจากการพิจารณาหลายรอบนั้น เห็นสมควรว่า เหมาะสมแล้วและคงไม่สามารถปรับเกณฑ์ใหม่ได้ หากปรับได้คงต้องเป็นเกณฑ์ของในปีถัดไป

ขณะที่ ดร.พะโยม ชิณวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ขณะนี้นวัตกรรมการจัดการศึกษามีความก้าวหน้าไปมาก มีการส่งเสริมการสอนรูปแบบสะเต็มศึกษา ที่เน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง เพราะฉะนั้น ความรู้ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษเป็นอีกเรื่องที่ครูผู้สอนจำเป็นจะต้องมี
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการกำหนดให้ผู้ผ่านคัดเลือกครูคืนถิ่น ปี 2560 ต้องมีผลการทดสอบภาษาอังกฤษ เช่น มีคะแนน TOEIC 400 คะแนนนั้น ส่วนตัวมองว่าการทดสอบความรู้ทางภาษาอังกฤษเป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นเรื่องปลายทาง เพราะประเด็นสำคัญคือการจัดการศึกษาแต่ต้น โดยส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาในโครงการนี้ได้รับการพัฒนาภาษาอังกฤษนั่นเอง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
