x close

วงการอาชีวศึกษาวิกฤตหนัก.. ขาดแคลนครูผู้สอนสะสมนับหมื่น


อาชีวศึกษา

          เผยสถานการณ์วงการอาชีวศึกษาทั่วประเทศกำลังแย่ หลังประสบปัญหาขาดแคลนครูผู้สอนสะสมอย่างต่อเนื่องนับหมื่นราย ชี้ส่วนใหญ่เป็นครูอัตราจ้าง สอนไม่กี่ปีก็ลาออก จึงเกิดปัญหาการสอนไม่ต่อเนื่อง

          วันที่ 12 พฤษภาคม 2560 หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ รายงานว่า จากกรณีรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแผนพัฒนาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 และยุทธศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2574 เพื่อพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการสอน รวมถึงการผลิตครูและเพิ่มปริมาณผู้เข้าเรียนสายอาชีพ แต่อาจไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้นั้น

          ล่าสุดได้มีการตรวจสอบสถานการณ์การขาดแคลนครูในระดับอาชีวศึกษา พบรายงานกลุ่มงานจัดการงานบุคคลของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ระบุว่า วงการอาชีวศึกษากำลังประสบปัญหาขาดแคลนครูสะสมอย่างต่อเนื่อง จากที่ควรมี 33,243 คน แต่มีอยู่จริงเพียง 15,206 คน โดยจากการสอบถามผู้บริหารและอาจารย์ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาหลายแห่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างระบุตรงกันว่า ขาดแคลนครูช่างและส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนจริง

          นางภาวดี บัวศรี อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กรุงเทพฯ เผยว่า ในระบบมีการบรรจุครูเป็นข้าราชการน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นครูอัตราจ้าง ทั้งที่มีการเปิดสอบทุกปี แต่กลับเรียกเข้าบรรจุเป็นจำนวนน้อยกว่าคนที่ไปสอบ หรือน้อยกว่าจำนวนครูที่ระบบต้องการ
อาชีวศึกษา

          ด้าน นายดำรงเดช สุริยา ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างสกลนคร จ.สกลนคร ยอมรับว่า จำเป็นต้องจ้างบุคลากรที่จบตามสาขานั้น ๆ มาสอนวิชาพื้นฐาน แต่ครูอัตราจ้างไม่มั่นคงเหมือนข้าราชการ สอนเพียงไม่กี่ปีก็ลาออก ทำให้วิทยาลัยต้องหาคนมาทดแทน จึงเกิดปัญหาการสอนไม่ต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ นางสาวนงค์นุช สีสะใบ ครูอัตราจ้างวิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า เป็นครูอัตราจ้างมา 14 ปี แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุ รู้สึกว่าไม่มีความมั่นคงของอาชีพ เพราะไม่มีสวัสดิการและเงินเดือนที่เพียงพอ

          ในขณะเดียวกัน นางปัทมา วีระวานิช ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา สอศ. ชี้แจงว่า ปี 2559 สอศ. ยื่นขอกำลังคนเป็นพนักงานราชการกว่า 15,000 คน แต่ได้รับจัดสรรกลับมาเพียง 990 คนเท่านั้น เนื่องจากปัญหาด้านการรับครูอัตราจ้างแทน ทั้งนี้ในปี 2560 สอศ. จะเสนอโครงการแก้ปัญหาขาดแคลนครู เพื่อเพิ่มและคืนครูเข้าสู่ระบบ คิดเป็นงบประมาณกว่า 170 ล้านบาท

          "สอศ. พยายามช่วยครูอัตราจ้างอย่างเต็มที่ เพราะบางคนอยู่เป็น 10-20 ปี รู้ระบบอาชีวะเป็นอย่างดี เมื่อมีอัตราจ้างบางคนอาจหลุดออกมาจากระบบ แต่เราก็พยายามรักษาพวกเขาไว้อย่างเต็มกำลัง" นางปัทมา กล่าว

          นอกจากนี้ นายก่อพงศ์ วงศ์ตระกูล เจ้าของสถานประกอบการธุรกิจยานยนต์ เผยว่า การตัดสินใจจ้างพนักงานส่วนหนึ่งจะดูชื่อเสียงของสถาบันและคุณภาพของนักศึกษาที่จบมาก่อนเป็นหลัก ซึ่งก่อนทำงานร้อยละ 50 ต้องฝึกฝนทักษะในแต่ละด้านเพิ่มอีกด้วย

          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเก็บสถิติล่าสุดปี 2556 เผยว่า จำนวนความต้องการและขาดแคลนแรงงานมีถึง 88,000 คน เท่ากับว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาพผลิตบุคลากรระดับกลางได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดแรงงานนั่นเอง

อาชีวศึกษา

ภาพและข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 หมวดข่าวเด่น, เฟซบุ๊ก ลูกศิลป์
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วงการอาชีวศึกษาวิกฤตหนัก.. ขาดแคลนครูผู้สอนสะสมนับหมื่น อัปเดตล่าสุด 12 พฤษภาคม 2560 เวลา 17:37:55 15,375 อ่าน
TOP