x close

แบบนี้เพลีย ตำราเรียนภาษาไทยสอนผิดหลัก โซเชียลถามปล่อยออกมาได้ไง


แบบนี้เพลีย ! ตำราเรียนภาษาไทยสอนผิดหลัก โซเชียลถามปล่อยออกมาได้ไง

          โซเชียลวิจารณ์ เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร...จุดที่แบบเรียนภาษาไทยสอนผิดหลักภาษา-ไวยากรณ์ หรือภาษาประจำชาติจะถึงกาลวิบัติแล้ว

          ภาษาไทยถือเป็นภาษาประจำชาติทั้งยังเป็นความภูมิใจของคนในชาติ เด็ก ๆ ทุกคน หรือแม้กระทั่งเราเองที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ต่างต้องผ่านการเรียนตำราภาษาไทยกันมาแทบทุกคน แต่ถ้าหากในปัจจุบัน มีตำราสอนภาษาไทยแบบผิด ๆ หรือการใช้ภาษาไทยที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ตรงกับหลักภาษาในด้านการสะกดคำ สิ่งหล่านี้อาจเกิดผลกระทบระยะยาวทำให้ภาษาไทยวิบัติหรือไม่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ณ เวลานี้ เรามีแบบเรียนภาษาไทยที่ให้ความรู้แบบผิด ๆ อยู่จริง
   
          วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ที่เฟซบุ๊ก มานะ มานี ปิติ ชูใจ  ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความที่ระบุถึงตำราเรียนภาษาไทย 2 เล่ม ที่ใช้เรียนจริง ๆ ในขณะนี้ มาให้ดูกันว่า ปัจจุบันแบบเรียนภาษาไทยให้ความรู้ผิด ๆ แก่ผู้เรียน ซึ่งตัวอย่างที่หยิบยกเอามานั้นเป็นการสะกดคำผิดหลักไวยากรณ์ และการอ่านออกเสียงคำที่มี ห นำ ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายกับภาษาไทยอย่างยิ่ง

          สำหรับข้อความทั้งหมดมีดังนี้...

          "เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร" ? นำตำราเรียนภาษาไทย ๒ เล่มที่มีอยู่จริง ใช้เรียนจริงในบ้านเราขณะนี้มาให้ดู

          - เล่มแรก เรื่องการสะกดคำ (ผิดหลักภาษา ผิดไวยากรณ์)
          - เล่มสอง เรื่องการอ่านออกเสียงคำที่มี ห นำ (ตามหลักภาษา อักษรต่ำไม่สามารถใช้ วรรณยุกต์จัตวาได้)

         
แบบนี้เพลีย ! ตำราเรียนภาษาไทยสอนผิดหลัก โซเชียลถามปล่อยออกมาได้ไง

          ทั้งนี้ การเขียนสะกดคำที่ถูกต้องในตำราวิชาภาษาไทยเล่มแรก จะต้องเป็น โค = คอ + โอ = โค

          ส่วนการเขียนสะกดคำที่ถูกต้องในตำราวิชาภาษาไทยเล่มที่ 2 นั้น ยกตัวอย่างคำว่า "แหวน" การอ่านออกเสียงคำที่มี ห นำ ตามหลักภาษา อักษรต่ำไม่สามารถใช้วรรณยุกต์จัตวาได้ เฟซบุ๊ก มานะ มานี ปิติ ชูใจ ก็ให้ความรู้ว่า ต้องสอนอีกแบบ เช่น ให้ออกเสียงว่า แหวน / ให้เข้าใจเป็นหลักการว่า "อักษรสูงนำอักษรต่ำ ให้ออกเสียงเป็นเสียงจัตวา หรือออกเสียงตามอักษรที่เขียนนำอยู่ เช่น ผลาญ แหวน ขวาน หมอน หรูหรา เป็นต้น"

          หรือสอนการผัน และสะกด คือ หอ-วอ-แอ-นอ-แหวน

          หรืออาจสอนให้ทราบถึงการผันเสียงก็ได้ คือ หวอ-แอ-นอ-แหวน
          (ห นำ ว ออกเสียงว่า หวอ - ตามหลักการ "อักษรสูงนำอักษรต่ำ" ตามที่อธิบายข้างต้น)

          หากรู้ว่าอักษรต่ำคืออะไร อักษรสูงคืออะไร การผันและออกเสียงก็จะทำได้ถูกต้อง ถูกหลัก คำเหล่านี้ ไม่สามารถนำมาเขียนแบบกระจายคำอ่านได้อีกต่อไป เพราะสิ้นสุดมาตราสะกดแล้ว ยกเว้นบางคำ เช่น

          - ผลาญ อ่านว่า ผฺลาน
          - หาญ อ่านว่า หาน
          - สยาย อ่านว่า สะ-หยาย


          สรุปได้ว่า คำว่า "แหวน" ไม่สามารถเขียนคำอ่านเป็นอย่างอื่นได้ นอกจาก "แหวน" เพราะสิ้นสุดถึงมาตรา "แม่กน" แล้วนั่นเอง

          นอกจากนี้ เฟซบุ๊ก มานะ มานี ปิติ ชูใจ ยังได้ให้ความรู้อันเกี่ยวกับวรรณยุกต์สำหรับภาษาไทยที่แยกตามหมวดหมู่ ตามเสียงวรรณยุกต์ และรูปวรรณยุกต์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไว้อีกด้วยว่า

1. อักษรกลาง มี 9 ตัว ประกอบด้วย ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ

          - มี 4 รูปวรรณยุกต์ คือ เอก โท ตรี จัตวา (เช่น ก่า ก้า ก๊า ก๋า)
          - มี 4 เสียงวรรณยุกต์ คือ สามัญ เอก โท ตรี และจัตวา (เช่น กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า)

          โดยที่ คำที่ใช้สระเสียงยาวที่มีตัวสะกด และคำที่ใช้สระเสียงสั้น จะอ่านออกเสียงวรรณยุกต์เอกเสมอ เช่น บาด จาก จัด ตัด ตก บอก เป็นต้น

2. อักษรสูง มี 11 ตัว ประกอบด้วย ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห

          - มี 2 รูปวรรณยุกต์ คือ เอก และโท (เช่น ข่า ข้า)
          - มี 3 เสียงวรรณยุกต์ คือ จัตวา เอก และโท (เช่น ขา ข่า ข้า)

          โดยที่ คำที่สะกดด้วยมาตราแม่กก แม่กด และแม่กบ จะอ่านออกเสียงวรรณยุกต์เอกเสมอ เช่น ขาด ขัด ขด ถอด หัก หีบ เหาะ สึก สุข เป็นต้น

3. อักษรต่ำ มี 24 ตัว ประกอบด้วย ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ


          - มี 3 รูปวรรณยุกต์ คือ เอก โท ตรี
          - มี 5 เสียงวรรณยุกต์ คือ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา คือ

          เสียงสามัญ : คำที่ใช้สระเสียงยาวที่ไม่มีตัวสะกด (รวมทั้งคำทีใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย ตัวรือ และตัวลือ) และคำที่สะกดด้วย แม่กน แม่เกอว แม่กม แม่กง และแม่เกย เช่น โคน ยาว ยาม คลอง เลย คน ริน ยุง มัน ไร ใย เป็นต้น

          เสียงเอก : ใช้อักษรสูงและกลางมานำหน้า หรือเป็นอักษรนำอักษรต่ำ แล้วเติมไม้เอก เช่น อย่า หมี่ กลุ่ม ไกล่เกลี่ย ขลุ่ย ปริ่ม เป็นต้น

          เสียงโท : ให้เติมไม้เอกให้คำนั้น ๆ เช่น น่า แย่ ยุ่ง นั่ง ค่ะ เป็นต้น / หรือใช้อักษรสูงนำหน้า (ห) แล้วเติมไม้โท เช่น หน้า หญ้า หม้าย หม้อ / หรือ ใช้อักษรสูงและกลางเป็นอักษรนำ แล้วเติมไม้โท เช่น กล้า ขว้าง ปลิ้นปล้อน เป็นต้น / หรือ คำที่ใช้สระเสียงยาวที่มีตัวสะกด เช่น รอด มอด ทาส ยาก ลาก เครียด เป็นต้น

          เสียงตรี : เติมไม้โทให้คำนั้น ๆ เช่น น้า ม้า ย้อน ร้อง น้ำ ค้า ลุ้น เป็นต้น / หรือเป็นคำที่ใช้สระเสียงสั้น เช่น นะคะ ซัก นัก ลัก ยักษ์ พัก ชิด

          เสียงจัตวา : ใช้อักษรสูงนำอักษรต่ำ เช่น หนา หนอน หมี ผลาญ ขนาน เหม็น หลาย สลาย ผยอง เป็นต้น

          อย่างไรก็ดี ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมากโดยส่วนใหญ่มองว่า ปัญหา​ที่สำคัญคือไม่มีคนตรวจสอบหรือคัดกรองหลักสูตรก่อนจะออกมาให้ใช้กันแล้วเหรอ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องปล่อยให้ตำราแบบนี้ออกมาได้อย่างไร ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติจะถึงกาลวิบัติแล้วหรือ

แบบนี้เพลีย ! ตำราเรียนภาษาไทยสอนผิดหลัก โซเชียลถามปล่อยออกมาได้ไง

แบบนี้เพลีย ! ตำราเรียนภาษาไทยสอนผิดหลัก โซเชียลถามปล่อยออกมาได้ไง

แบบนี้เพลีย ! ตำราเรียนภาษาไทยสอนผิดหลัก โซเชียลถามปล่อยออกมาได้ไง

แบบนี้เพลีย ! ตำราเรียนภาษาไทยสอนผิดหลัก โซเชียลถามปล่อยออกมาได้ไง

แบบนี้เพลีย ! ตำราเรียนภาษาไทยสอนผิดหลัก โซเชียลถามปล่อยออกมาได้ไง


ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก มานะ มานี ปิติ ชูใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แบบนี้เพลีย ตำราเรียนภาษาไทยสอนผิดหลัก โซเชียลถามปล่อยออกมาได้ไง อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 22:10:02 36,326 อ่าน
TOP