ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มีมติปรับการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ปี 2561 ผ่าน 3 ระบบ คือ ระบบโควตา, ใช้ข้อสอบกลาง และ รับตรง พร้อมลดการสอบ GAT และ PAT เหลือ 1 ครั้ง
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2559 ศ. นพ.อุดม คชินทร ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยผลการประชุม ทปอ.ครั้งที่ 5/2559 ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ว่า ที่ประชุมมีมติยืนยันระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาประจำปีการศึกษา2561 โดยมีขั้นตอนดำเนินการคัดเลือก ดังนี้
1. ระบบโควตา จะพิจารณาจากแฟ้มสะสมผลงาน เช่น โควตานักกีฬา เป็นต้น โดยดำเนินการช่วงเดือนตุลาคม 2560 จากนั้นมหาวิทยาลัยจะต้อส่งรายชื่อให้ ทปอ. ในเดือนธันวาคม 2560 เพื่อตัดสิทธิ์ในระบบพรี-เคลียริงเฮาส์
2. ระบบการคัดเลือกใช้ข้อสอบกลาง ซึ่งจัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เช่น ข้อสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-net), การทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) และ การสอบสามัญ 9 วิชา โดยในปีการศึกษา 2561 จะลดจำนวนสอบ GAT และ PAT เหลือ 1 ครั้ง จากเดิมให้สอบปีละ 2 ครั้ง
นอกจากนี้จะมีการสอบวิชาเฉพาะของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ซึ่งจะจัดสอบทั้งหมดในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2561 หลังจากนักเรียนเรียนจบการศึกษาแล้ว จากนั้นต้นเดือนพฤษภาคม 2561 จะเริ่มระบบเคลียริงเฮาส์ครั้งที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน และจะเริ่มระบบเคลียริงเฮาส์ ครั้งที่ 2 โดยจะดำเนินการคัดเลือกให้เสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน 2561
3. ระบบรับตรง หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถรับเด็กได้ไม่ตามจำนวนที่ต้องการ สามารถเปิดรับตรงได้แต่ต้องไม่มีการไปจัดสอบเอง และนักเรียนสามารถเลือกที่เรียนได้เพียง 1 แห่งเท่านั้น หากต้องการเลือกเรียนที่ใหม่จะต้องสละสิทธิ์ที่เดิมก่อน
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย - ทปอ.
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก