x close

แพทยสภา ลั่น คนทุจริตสอบแพทย์แม้เรียนจบก็ถูกตัดสิทธิ์

           แพทยสภาเผย คนทุจริตสอบเข้าแพทย์แม้เรียนจบแพทย์แต่ไม่มีสิทธิ์สอบขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์ประกอบวิชาชีพไม่ได้ ชี้แพทย์ต้องซื่อสัตย์ พร้อมแฉวิธีการของขบวนการทุจริตข้อสอบ

          จากกรณีทุจริตการสอบเข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีการจัดสอบระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2559 โดยพบว่ามีผู้เข้าสอบใส่แว่นตาที่มีกล้องวงจรปิดที่ขาแว่นเพื่อส่งสัญญาณไปยังตัวรับสัญญาณด้านนอกและส่งคำตอบกลับมายังนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ของผู้เข้าสอบ ซึ่งสามารถตรวจยึดได้ 3 เรือนและได้ประกาศยกเลิกการสอบ รวมทั้งมีการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากคลองรังสิต โดยพบว่าเป็นฝีมือของขบวนการกวดวิชาสอบเข้าที่รับประกันผลว่าติดแน่นอนนั้น [อ่านข่าว : อธิการบดี ม.รังสิต ชี้ โกงสอบแพทย์เป็นกลุ่มติวเตอร์ขโมยข้อสอบ]
ม.รังสิต ประกาศยกเลิกสอบเข้าคณะแพทย์

          ล่าสุด (9 พฤษภาคม 2559) ศ. นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภากล่าวว่า เมื่อนักเรียนที่มีประวัติการทำความผิดทุจริตการสอบแล้วหากจะเข้าเรียนแพทย์คงจะยากแต่ยังสามารถเข้าเรียนได้ เมื่อเรียนจบแล้วต้องมีการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์กับแพทยสภา จึงจะสามารถประกอบวิชาชีพแพทย์ได้ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบที่เข้มข้น หากพบว่ามีประวัติทุจริตจะไม่อนุญาตให้สอบ เนื่องจากแพทย์ต้องมีความซื่อสัตย์และเป็นอาชีพที่เกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก จึงต้องคัดออกแต่ต้น และหลังจากนี้จะมีมาตรการป้องกันการทุจริตสอบมากขึ้นเพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก

          ด้าน ผศ. ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การทุจริตการสอบครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามีนักศึกษาจำนวน 3 คนมีพิรุธ จึงเรียกมาสอบสวน โดยนักศึกษาทั้ง 3 คน รับสารภาพว่า ได้รับข้อมูลเฉลยดังกล่าวมาจากสถาบันกวดวิชาที่เป็นติวเตอร์ส่งมาให้ โดยรับประกันว่าสอบติดแน่นอน แต่ต้องจ่ายเงินก่อน 5 หมื่นบาทและได้นาฬิกาเรือนดังกล่าวมา หากสอบติดแล้วต้องจ่ายเพิ่มอีกคนละ 8 แสนบาท

          ผศ. ดร.นเรฏฐ์ กล่าวต่อว่า ในการสอบวันที่ 2 ตรงกับวันที่ 8 พฤษภาคม 2559 ทางมหาวิทยาลัยได้ปล่อยให้มีการสอบเพื่อหาต้นตอผู้กระทำความผิดซึ่งพบพิรุธ จากแว่นตาของนักศึกษาที่ใส่แว่นหนา ใหญ่ผิดปกติ เมื่อตรวจสอบพบว่ามีกล้องวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หน้าแว่นมีกล้องรูเข็ม จึงเรียกมาสอบสวน โดยเจ้าตัวรับสารภาพว่า ถูกจ้างเข้ามาบันทึกข้อสอบเท่านั้นแลกกับค่าจ้างคนละ 6,000 บาท ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งออกไปยังแหล่งเฉลยข้อสอบที่มีคนเก่ง ๆ คอยช่วยกันและจะส่งคำตอบกลับมายังนาฬิกา

          เบื้องต้นนักศึกษาทั้ง 3 คน ที่ทุจริตการสอบ ทางมหาวิทยาลัยได้ตัดสิทธิ์การสอบ แต่ในส่วนของคดีอาญายังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เนื่องจากต้องรอการสอบหาต้นตอก่อน ส่วนนักศึกษาที่เข้ามาถ่ายวิดีโอได้แจ้งความดำเนินคดีเรียบร้อยแล้ว


ภาพจาก เฟซบุ๊ก Arthit Ourairat

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
,

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพทยสภา ลั่น คนทุจริตสอบแพทย์แม้เรียนจบก็ถูกตัดสิทธิ์ อัปเดตล่าสุด 11 พฤษภาคม 2559 เวลา 11:18:07 11,742 อ่าน
TOP