ดอกกล้วยไม้ สัญลักษณ์ดอกไม้ประจำวันครู 16 มกราคม

          ดอกไม้วันครู 16 มกราคม 2566 ซึ่งสัญลักษณ์ประจำวันครู คือ ดอกกล้วยไม้  มาดูความหมายดอกไม้วันครู เนื่องในวันครูแห่งชาติ พร้อมข้อมูลและความเป็นมาเกี่ยวกับดอกกล้วยไม้กันค่ะ
ดอกไม้วันครู

           เด็กนักเรียนส่วนใหญ่คงจะทราบกันดีว่า วันที่ 16 มกราคมของทุก ๆ ปี เป็นวันอะไร ? คำตอบก็คือ วันครูนั่นเอง ซึ่งวันนี้ก็เป็นวันที่มีความสำคัญอีกวันหนึ่ง เนื่องจากนอกจากพ่อแม่แล้ว ครูยังเปรียบได้กับพ่อแม่คนที่ 2 ที่เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลายและเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญในการให้การศึกษาเรียนรู้ ดังนั้น วันครูจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน
 

            แล้วเพื่อน ๆ รู้หรือไม่คะว่า ดอกไม้วันครู สัญลักษณ์คือดอกอะไร ? วันนี้กระปุกมีเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับ ดอกไม้ประจำวันครู มาฝากกันค่ะ


ดอกกล้วยไม้ สัญลักษณ์ ดอกไม้วันครู 16 มกราคม
ดอกกล้วยไม้ สัญลักษณ์ ดอกไม้วันครู 16 มกราคม

ความหมายดอกไม้วันครู


           
สำหรับ ดอกไม้ประจำวันครู 16 มกราคม หรือ ดอกไม้วันครู คือ ดอกกล้วยไม้ โดยคณะกรรมการจัดงานวันครู พ.ศ. 2539 พิจารณาเห็นว่าคุณลักษณะของดอกกล้วยไม้ มีลักษณะและความหมายคล้ายคลึงกับสภาพชีวิตครู นั่นคือ กว่ากล้วยไม้แต่ละช่อจะผลิดอกออกผลให้เราชื่นชมได้ ต้องใช้เวลานานและต้องการดูแลเอาใจใส่ไม่น้อย เช่นเดียวกับครูแต่ละคน กว่าจะสั่งสอนเคี่ยวเข็ญศิษย์คนแล้วคนเล่าให้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในชีวิตได้ ก็ต้องใช้เวลาอบรมสั่งสอนมิใช่น้อยเช่นกัน

            นอกจากนี้ กล้วยไม้ยังเป็นพืชที่อยู่ในที่สูงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ไม่ร่วงโรยง่าย เปรียบเสมือนครูที่อยู่ทั่วแดนไทยที่ต้องอดทนต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ ดังคำกลอนดอกไม้วันครู ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ศิลปินแห่งชาติ ที่ว่า

            "กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
            การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
            แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น
            งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม"

ดอกกล้วยไม้ สัญลักษณ์ ดอกไม้วันครู 16 มกราคม


ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ ดอกกล้วยไม้ ดอกไม้วันครู


กล้วยไม้


            ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orchid
            ชื่อวงศ์ : ORCHIDACEAE
            ชื่อสามัญ : Orchid
            ชื่ออื่น ๆ : เอื้อง (ภาคเหนือ)
            ถิ่นกำเนิด : ละตินอเมริกา, เอเซียแปซิฟิค
            การขยายพันธุ์ : แยกลำ, แยกหน่อ, เพาะเนื้อเยื่อ


ประวัติดอกกล้วยไม้


            กล้วยไม้เป็นพืชวงศ์ใหญ่ มีกว่า 700 สกุล ที่พบในธรรมชาติมีประมาณ 25,000 ชนิด มีการผสมข้ามชนิดและข้ามสกุลมากกว่า 30,000 คู่ผสม กล้วยไม้มีดอกสวยงามหลากหลายสีสัน เป็นที่นิยมปลูกเลี้ยงกันทั่วโลก โดยประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดพันธุ์กล้วยไม้ที่สวยงามหลายชนิดและมีการพัฒนากล้วยไม้ลูกผสมจำนวนมากขึ้นภายในประเทศ

ดอกกล้วยไม้ สัญลักษณ์ ดอกไม้วันครู 16 มกราคม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์


            กล้วยไม้เป็นพืชวงศ์ใหญ่ มีความแตกต่างกันภายในวงศ์อย่างเห็นได้ชัด โดยทั่วไปลำต้นของกล้วยไม้ไม่มีแก่นและเปลือก เนื้อในเสมอกัน

            - ลำต้นของกล้วยไม้มี 2 ลักษณะ คือ ลำต้นแท้ มีข้อและปล้องเหมือนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทั่วไป มีการเจริญเติบโตทางยอด ลำต้นเทียมหรือลำลูกกล้วยไว้สะสมอาหาร มีลำต้นเป็นเหง้า มีข้อและปล้องถี่ เจริญในแนวนอนไปตามผิวของเครื่องปลูก

            - รากกล้วยไม้ กลมอวบเป็นเส้นเล็กแข็งหรือแบนราบ มีทั้งรากดิน รากกึ่งดิน รากกึ่งอากาศ และรากอากาศ

            - ใบกล้วยไม้เป็นใบเลี้ยงเดี่ยวมีลักษณะต่างกันออกไป เช่น รูปแถบ รูปกลมยาว หรือลดรูปเป็นเพียงเกล็ด แผ่นใบบางคล้ายใบหมาก หนาอวบน้ำ หรือเป็นแท่งกลม ส่วนมากแล้วไม่มีส่วนที่เป็นก้านใบชัดเจน สีของใบเป็นสีเขียวสด บางชนิดเป็นสีม่วงคล้ำ บางชนิดก็มีลวดลาย

            - ดอกกล้วยไม้ออกที่ปลายลำต้น ซอกใบหรือข้างลำต้น ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบเรียงสลับกันกับกลีบดอก 3 กลีบ กลีบดอกอันล่างมีลักษณะต่างออกไปเรียกว่ากลีบปากหรือกลีบกระเป๋าไว้สำหรับล่อแมลง

            - ก้านเกสรตัวเมียและยอดเกสรตัวเมียของกล้วยไม้เชื่อมติดกันกับเกสรตัวผู้เป็นเส้าเกสรอยู่กลางดอก เกสรตัวผู้อยู่รวมกันเป็นก้อนเป็นกลุ่มเรณู แต่ละอับเรณูมีฝาปิด มี 2, 4 หรือ 8 ก้อนแล้วแต่ชนิดกล้วยไม้ ยอดเกสรตัวเมียอยู่ใต้อับเรณู มีลักษณะเป็นเมือกเหนียว รังไข่อยู่ตรงส่วนของก้านดอก เมื่อได้รับการผสมจะเจริญไปเป็นเมล็ดต่อไป


ดอกกล้วยไม้ สัญลักษณ์ ดอกไม้วันครู 16 มกราคม

การปลูกและดูแลรักษาดอกกล้วยไม้


            โดยส่วนใหญ่กล้วยไม้เป็นพืชที่ชอบความชุ่มชื้นแต่ไม่แฉะ อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ แต่ถ้าอากาศเย็นจัดกล้วยไม้จะพักตัวเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ ควรปลูกให้ได้รับแสง 50-60% เครื่องปลูกแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับระบบราก เช่น กล้วยไม้ที่มีระบบรากดินและกิ่งดินใช้อินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อยผุพังและร่วนซุย กล้วยไม้ที่มีระบบรากอากาศและกึ่งอากาศใช้ ถ่าน กาบมะพร้าว หินเกล็ด อิฐหักหรือทรายหยาบ หรืออาจผูกติดกับต้นไม้ใหญ่ให้รากยึดกับต้นไม้ การรดน้ำควรรดน้ำวันละครั้งแต่อย่าให้แฉะ รักษาความชื้นของเครื่องปลูกให้สม่ำเสมอ

บทความเกี่ยวกับวันครู 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดอกกล้วยไม้ สัญลักษณ์ดอกไม้ประจำวันครู 16 มกราคม อัปเดตล่าสุด 6 มกราคม 2566 เวลา 16:42:33 70,960 อ่าน
TOP
x close