ผู้เขียนบทความ "พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา" แจงต่อ หลังเจอดราม่าหลากหลาย







           พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา เรื่องเล่าจากคนเป็นพ่อ ถึงการเรียนของลูกสาว แจงต่อหลังเจอดราม่าความเห็นหลากหลาย ชี้จะสื่อแค่คนเป็นพ่อแม่ควรส่งเสริมสิ่งที่ลูกชอบ ยันเมืองไทยมีปัญหาเรื่องการศึกษา ช่วยกันแก้ไขดีกว่าแสดงความเกลียดชัง

           เป็นบทความให้ข้อคิดจากผู้เป็นพ่อ ที่ถูกแชร์ต่อกันทั่วสังคมออนไลน์ในขณะนี้ เมื่อ รศ. นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ จากภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ออกมาโพสต์เรื่องราวด้านการศึกษาของลูกสาว ที่มีผลการเรียนไม่ประสบความสำเร็จนักขณะอยู่ที่ไทย แต่กลับมีผลการเรียนที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อได้ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น โดยเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าผ่านทางเพจ อาจารย์วิทยา ถิฐาพันธ์  เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559  มีดังนี้
"พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา"

           รศ. นพ.วิทยา เล่าว่า ลูกสาวคนโตของเขาเป็นคนที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการเรียนในระบบของประเทศไทยสักเท่าไร เพราะผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์แค่เอาตัวรอดได้เท่านั้น ไม่เคยได้เกรด 4 ทุกวิชา ไม่ใช่นักเรียนชั้นแนวหน้าของห้องเรียน ผลการเรียนทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์แย่มาก ทุกครั้งที่สอบวิชาเหล่านี้ พ่อแม่ต้องลุ้นระทึกเสมอ

           อย่างไรก็ตาม เขาและภรรยาสังเกตเห็นว่า ลูกสาวคนโตนี้เป็นคนช่างซักถาม ช่างสงสัยมาตั้งแต่เด็ก โดยลูกมักจะถามว่า ทำไมเราต้องเรียนเรื่องร้อยละ ทำไมต้องเรียนเรื่องเลขยกกำลัง หรือทำไมนิวตันต้องสร้างกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ที่ยุ่งยากและจับต้องไม่ได้ให้เธอเรียน ซึ่งโดยมากคุณครูในไทยก็จะตอบเพียงให้เรียน ๆ ไปแล้วก็จะเห็นประโยชน์เอง

           ส่วนตัวลึก ๆ เขารู้สึกว่าลูกสาวคนนี้น่าจะเป็นคนเก่ง รวมทั้งเชื่อว่าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในเมืองไทยดูลูกของเขาไม่ออก บอกไม่ได้ และหาโรงเรียนที่เหมาะกับลูกได้ยาก ดังนั้นหลังจากที่ลูกสาวเรียนจบชั้นปริญญาตรีที่จุฬาฯ เขาจึงขอให้เธอไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ ในสาขาวิชาใด และมหาวิทยาลัยใดก็ได้ หวังให้ลูกได้เรียนรู้วิธีคิดที่ดีกว่าบ้านเรา สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Keio University ประเทศญี่ปุ่น ในสาขา Innovative Design เพราะถูกจริตและมีเนื้อหาวิชาให้คิดสิ่งใหม่ ๆ มากมาย



           เกือบ 2 ปีของการเรียนในแบบที่ลูกสาวชอบ ได้มีโอกาสแสดงความคิดความสามารถให้คนอื่นรับรู้ ไม่ต้องท่องจำหรือทำข้อสอบที่ตัดสินถูกผิดตามความคิดคนออกข้อสอบ ทำให้เธอมีผลการเรียนดีกว่าในเมืองไทยอย่างชัดเจน เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผลการเรียนของเธออยู่ในเกณฑ์ดีมากประมาณ 3.9-4.0 ทุกเทอม และลูกได้เข้าใจว่าญี่ปุ่นมีความเจริญกว่าไทยในทุกด้านอย่างเทียบกันไม่ได้เลย และสิ่งสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็เพราะ "ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่เคยหยุดนิ่งทางความคิด" ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่เข้าใจเลยว่า "ความคิด" คืออะไร

           เขาเคยคิดว่าลูกสาวป็นข้าวพันธุ์ไม่ค่อยดี ปลูกขึ้นยาก แต่เมื่อเปลี่ยนให้ไปเรียนที่ญี่ปุ่นจึงทำให้ได้รับรู้ว่าเขาเข้าใจผิดมาตลอด

           "ลูกเป็นข้าวพันธุ์ดี แต่นาที่บ้านเมืองเราแห้งแล้งเกินไป เลยปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้น และนี่คือความจำเป็นที่ลูกต้องมาเรียนไกลบ้านซึ่งมีที่นาดีกว่า เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าข้าวของพ่อเป็นข้าวพันธุ์ดี ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่พ่อเคยฝังไว้ในความคิดและความจำมาตลอดเวลา ขอโทษนะลูก"






           พร้อมกันนี้ รศ. นพ.วิทยา ยังได้ทิ้งท้ายด้วยบทกลอน ระบุว่า

           "ถ้าเรียนได้ เกรดสี่ วิถีไทย
           ถ้ามุ่งมั่น ตั้งใจ ทำตามสอน
           ถ้าเลียนแบบ ทำตาม ทุกขั้นตอน
           จงว่านอน สอนง่าย ที่ไทยเทอญ
           แต่ถ้าคุณ คิดแปลก และแตกต่าง
           และมุ่งมั่น ทำอย่าง ที่ใฝ่ฝัน
           อย่ารอช้า รีบมา ญี่ปุ่นพลัน
           เพื่อรวมฝัน กับความจริง เป็นสิ่งเดียว"


           จากบทความดังกล่าว ทำให้ผู้ที่ได้อ่านจำนวนมากเข้ามาร่วมแสดงความเห็นในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป โดยมีไม่ใช่น้อยที่ยอมรับว่า ระบบการศึกษาของไทยนั้นไม่ได้สอนให้เด็กรู้จักคิดเช่นในประเทศอื่น ๆ จึงเป็นข้อด้อยให้ระบบการศึกษาไทยควรนำไปพัฒนาต่อ แต่ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้นก็ใช่ว่าระบบการศึกษาของไทยจะไม่สามารถสนับสนุนให้เด็กไทยประสบความสำเร็จได้เสมอไป เพราะยังมีเด็กไทยอีกไม่ใช่น้อยที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจากการศึกษาในเมืองไทย

           อย่างไรก็ตาม นอกจากมุมมองในด้านระบบการศึกษาแล้ว ชาวเน็ตบางส่วนยังมองว่าการประสบความสำเร็จในการศึกษานั้นใช่ว่าจะวัดกันได้ที่เกรด 4 เสมอไป เพราะถ้าดูกันจริง ๆ แล้วตัวเด็กก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยดัง เช่นนี้แล้วเจ้าของบทความเองก็เป็นเพียงผู้ปกครองที่ตั้งความหวัง และตัดสินความสามารถของลูกจากเกรดที่ได้รับเท่านั้น โดยสาเหตุที่ทำให้ลูกสาวเรียนได้เกรดไม่ดีนักตอนอยู่ที่ไทย อาจเป็นเพราะพ่อแม่บังคับให้ลูกเรียนในสายวิชา และคณะที่พ่อแม่อยากให้เรียนก็เป็นได้ จนเมื่อได้ไปเรียนต่อในสาขาวิชาที่ชอบ จึงทำให้ได้เกรดดี ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ อาจไม่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาระหว่างไทยและต่างประเทศแต่อย่างใด

           ขณะที่ชาวเน็ตบางคนก็แสดงความคิดเห็นสนับสนุนเจ้าของบทความนี้ แต่เห็นต่างในด้านของการเปรียบเทียบที่อาจจะก่อให้เกิดช่องว่างบางอย่าง ระหว่างความรวยและจน เพราะบทความนี้เหมือนเป็นการสนับสนุนให้พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ และดูถูกระบบการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งพ่อแม่บางคนที่ฐานะไม่ดีนักก็ไม่สามารถกระทำได้

           ทั้งนี้ยังมีบางคนที่มองในแง่มุมว่า เรื่องดังกล่าวให้ข้อคิดมากว่าการให้เด็กได้เรียนได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้ปลูกข้าวในดินที่เหมาะสม ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า แต่ก็ใช่ว่าดินแหล่งเดิมหรือระบบการศึกษาในไทย จะต้องเป็นดินที่แย่กว่าเสมอไป เพียงแค่อาจจะไม่เหมาะกับลูกสาวของเจ้าของเรื่องเท่านั้น

           หลังจากที่เรื่องราวดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ไประยะหนึ่งแล้ว และด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หลากหลายนั้น รศ. นพ.วิทยา ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงบทความดังกล่าวว่า  หลังจากที่ตนได้โพสต์บทความดังกล่าวลงโซเชียลแล้วนั้น ก็ได้เจอคอมเม้นท์หลากหลาย ทั้งแบบนิ่มนวล และแบบดุเดือด หรือแม้กระทั่งคำวิจารณ์ที่หลุดออกจากประเด็นที่ตนต้องการจะสื่อ

           ทั้งนี้สาระสำคัญในบทความดังกล่าวนั้น รศ. นพ.วิทยา ระบุว่า ตนเพียงแค่จะเสนอว่า คนเป็นพ่อแม่ ควรจะมองลูกให้ออกว่าเขาเป็นคนอย่างไร และส่งเสริมให้ลูกได้มีโอกาสทำตามสิ่งที่เขาต้องการ เพื่ออนาคต และความสุขของลูก ไม่ใช่ของพ่อแม่

           อย่างไรก็ดี รศ. นพ.วิทยา ระบุว่า ตนคิดว่าเมืองไทยยังมีปัญหาเรื่องการศึกษามากมาย หากทุกคนยอมรับ และช่วยกันแก้ไข น่าจะดีกว่าการแสดงความโกรธเกลียดต่อคนที่พูดความจริง แล้วบ้านเมืองยังล้าหลังอยู่เหมือนเดิม

พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา
พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา
พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา
พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา

ภาพจาก เฟซบุ๊ก อาจารย์วิทยา ถิฐาพันธ์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผู้เขียนบทความ "พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา" แจงต่อ หลังเจอดราม่าหลากหลาย อัปเดตล่าสุด 7 เมษายน 2559 เวลา 15:20:45 160,829 อ่าน
TOP
x close