มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา ผุดไอเดียเก๋สวมมงกุฎให้บัณฑิตในงานรับปริญญา ชาวเน็ตแชร์กระจาย แต่งานนี้แอบมีดราม่าเบา ๆ ล่าสุดอาจารย์แจงแล้ว บอกใช้แค่ถ่ายรูปหมู่เท่านั้น ส่วนชุดครุยไม่ใช่ชุดครุยพระราชทาน และมงกุฎก็ไม่สวมตอนมีพิธีรับจริง
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 ขณะนี้โลกโซเชียลเน็ตเวิร์กกำลังมีการแห่แชร์ภาพมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา ที่ผุดไอเดียแปลกแหวกแนว ให้บัณฑิตสวมมงกุฎซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในงานรับปริญญา โดยชาวเน็ตพากันแซวบอกนี่สิมงลงหัวของจริง บ้างก็บอกว่าไอเดียเก๋สุด ๆ ไม่ต้องเป็นนางงามก็ได้มงด้วย แต่ยังขาดสายสะพาย
อย่างไรก็ตามมีบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะไม่สมควรสวมอะไรเหนือชุดรับปริญญา ทั้งนี้ภายหลังมีผู้ชี้แจงว่า ภาพดังกล่าวคือวันซ้อมย่อยของบัณฑิตเพื่อให้ถ่ายรูปออกมาสวย ส่วนวันจริงไม่ได้ใส่
ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับบุคคลที่เป็นเจ้าของภาพงานมอบมงกุฎให้นักศึกษาที่แชร์กันแพร่หลายในขณะนี้ คือ สมาชิกเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่าคุณ Bulim Natthawoot Nindee
ส่วนล่าสุด วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ทางผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ ก็ได้ติดตามสอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยผู้ร่วมงานกับทางมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา ที่ได้เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรดังกล่าว เผยว่า ภาพที่บัณฑิตสวมมงกุฎนั้น เป็นภาพในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ณ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต โดยพิธีการในวันดังกล่าวแบ่งเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่าย ในช่วงเช้านั้นเป็นช่วงของอธิการบดี ส่วนในช่วงบ่ายเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตร โดยมีทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นองค์ประธานในพิธี
นอกจากนี้ยังกล่าวต่อว่า ภาพที่บัณฑิตสวมมงกุฎนั้นเป็นช่วงที่ถ่ายภาพหมู่บนสแตนด์เท่านั้น โดยภาพหมู่บนสแตนด์จะมี 2 แบบ คือแบบสวมมงกุฎและแบบปกติ ไม่มีการสวมมงกุฎกระดาษเข้าไปในพิธี ทั้งช่วงซ้อมและช่วงรับจริงแน่นอน ส่วนมงกุฎทางมหาวิทยาลัยได้ทำแจกให้กับบัณฑิตและญาติของบัณฑิตที่มาร่วมงาน จุดประสงค์ก็คือเอาไว้แทนมงกุฎดอกไม้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
สำหรับภาพที่ท่านอธิการบดีได้ครอบมงกุฎบนศีรษะนั้น เป็นการครอบเฉย ๆ ในช่วงพิธีเช้า ไม่ได้เป็นการสวมใส่แต่อย่างใด และมงกุฎก็เป็นสัญลักษณ์ของทางมหาวิทยาลัย สื่อถึงรางวัลความเป็นเลิศด้านวิชาการ วิชาชีพ และคุณธรรม การให้นักศึกษาใส่นั้น เพื่อให้นักศึกษาภาคภูมิใจในสถาบัน โดยผลตอบรับของนักศึกษาทุกคนในวันงานเป็นไปด้วยดี ไม่มีผลตอบรับทางลบ แต่ที่ตกเป็นกระแสในโลกโซเชียล เพราะหลายคนสงสัยว่าสวมบนครุย และการสวมเข้าพิธีอาจจะไม่เหมาะสม ซึ่งครุยของทางมหาวิทยาลัยนั้นไม่ใช่ครุยพระราชทานแต่อย่างใด