เข้าบ่อยแล้ว อุเทน-ปทุมวัน ชี้ทัวร์คุกแก้ไล่ฆ่ากันไม่ได้ผล (ไทยรัฐ)
สวนหมัดอธิการบดี แกนนำนักศึกษาอุเทนถวาย-ปทุมวัน เขี่ยไอเดียบรรเจิดของ ศธ. ลงถัง ด้านนายกสโมสรนักศึกษาอุเทน เผยเห็นอุเทนเดินเข้าคุกบ่อย เชื่อย้ายสถาบันก็แก้ไม่ได้ ด้านศิษย์เก่า "สมบัติ เมทะนี" จวกไอเดียบ้า
ภายหลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชูแนวคิดในการแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาทของนักศึกษา 2 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน โดยนำนักศึกษากลุ่มเสี่ยงไปศึกษาดูงานในกรมราชทัณฑ์ ซึ่งนายสืบพงษ์ ม่วงชู รักษาการรองอธิการบดีบริหารงาน มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ก็ออกมาแสดงความเห็นด้วยกับการทัวร์คุกนั้น
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. นายชยันต์ พุฒทอง นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย กล่าวกับ ไทยรัฐออนไลน์ ถึงประเด็นการทัวร์คุก จะสามารถแก้ความรุนแรงได้หรือไม่ ว่ารัฐบาลมักจะคิดการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
"เราเชื่อว่าไม่ได้ผล เพราะทุกวันนี้พวกผมชาวอุเทนไปคุกเป็นประจำครับ 2 สถาบันเรามีนักศึกษาอยู่ในคุกมากมายจริง ๆ เรียกได้ว่าทุกคุกก็ว่าได้ ก็เข้าไปเยี่ยมกัน เราก็เคยเห็นภาพว่าเป็นยังไง จากการบอกเล่าจากพี่ที่อยู่ข้างในมันเห็นได้ชัด คือ ไอเดียแบบนี้ยังไงก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะเราเข้าคุกจนชินแล้ว"
นายกสโมสรนักศึกษาของอุเทนถวาย กล่าวต่อว่า ทุก ๆ ครั้ง ที่ผู้ใหญ่เสนอความคิดแทน พวกเราอึดอัดมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้นักศึกษาไปทัวร์ดูคุก เรื่องการย้ายสถาบันโดยหวังจะแก้ปัญหาการเข่นฆ่ากัน แม้กระทั่งเมื่อมีเรื่องอีกสถาบันหนึ่งโดนยิงตาย ไม่สามารถจับคนร้ายได้ รัฐก็เลือกจะปิดโรงเรียน กิจกรรมก็ไม่มี โอกาสทางการเรียนของพวกเราน้อยลง ประเด็นนี้จึงตอบคำถามที่ว่า ทำไมอุเทนฯ อ่อนลงเรื่อย ๆ ปทุมวันก็เหมือนกัน
"ก่อนหน้านี้เรามีคนที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศมากมาย แต่ทุกวันนี้มีปัญหาที่ทำให้เราต้องหยุดบ่อย ก็ทำให้เรียนไม่ทันกัน แทนที่จะเรียน 10 บท เต็ม ๆ กลับมาเรียน 4 บทในภาคหนึ่ง มันก็ได้ไม่เต็มร้อย คำถามก็คือแก้แบบนี้มันแก้ที่ปลายเหตุไหม ผมทำงานเป็นผู้นำนักศึกษาอยู่ตรงนี้มานานถึง 2 ปี เห็นได้ชัดมาก ว่าทางฝั่งโน้นเขามีปัญหาภายในมากมาย ระหว่างนักศึกษากับนักศึกษา นักศึกษากับอาจารย์ ก่อนจะมาเดินหน้าทำอะไร ผมแนะนำว่า ให้ปทุมวันเขาคุยกับคนของฝั่งของเขาก่อนดีไหม เรื่องนี้ฝั่งอุเทนก็ทำมาเรื่อย ๆ ที่สำคัญระบบรุ่นของที่นี่มันแน่นกว่าเขา พวกเราอยากยุติ แต่พวกเขามีหัวโจกที่ไม่อยากให้เรายุติความรุนแรง ไม่อยากให้เราดีกัน"
นายกสโมสรของอุเทนถวายคนนี้ ยังแฉด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้แผนสมานฉันท์ของ 2 สถาบันล้มเหลวไปทุก ๆ ครั้ง ก็เพราะหัวโจกฝั่งปทุมวัน ที่สำคัญนายกสโมสรอีกฝั่งก็แทบจะไม่มีบทบาทอะไร
"พวกที่มีบทบาทแทนก็คือพวกรุ่นพี่ 72-73 ซึ่งเขาเรียกว่ารุ่นปลุกระดม อย่างการออกค่ายอาสารวมกัน เขาก็มาแค่ 5 คน อุเทนไป 30-40 คน ไปเอาตัวผู้นำไปคุย แต่เขาไม่ให้ความร่วมมือ หรืออย่างจะประชุมสมานฉันท์ เราจะไปที่ปทุมวันบ้าง เขาก็ไม่ให้เราเข้าสถาบัน ผิดกับเรา ซึ่งเราก็ไม่อยากให้ลำบากใจก็แจ้งเขาไปว่า ให้มาโรงแรมเอเชีย สถานที่กลาง แต่เขาก็ไม่มา"
"เรารู้ข่าวมาว่า พี่ ๆ รุ่น 72-73 ของปทุมวัน เขาไม่อยากให้สมานฉันท์ ซึ่งฝั่งอุเทนก็มีเหมือนกัน แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยเขาก็ไม่เอาด้วย ก็ถือว่าเป็นมติร่วม แต่ฝั่งโน้นเชื่อหัวโจกมากกว่า เพราะที่นั่นมีทั้งเผารถ ทำร้ายร่างกายเพื่อนอีกแผนกหนึ่ง ทำลายรถ ทำลายห้องพักอาจารย์ ปัญหาเขามากมาย ซึ่งน่าจะแก้ให้เรียบร้อยก่อน"
อย่างไรก็ดี นายชยันต์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าทั้ง 2 สถาบันจะทะเลาะเบาะแว้งกันแค่ไหน แต่กิจกรรมที่เราทำให้เพื่อนสถาบันอีกแห่งหนึ่งก็คือ ทุก ๆ วันวาเลนไทน์เราจะมอบกระเช้าให้กับปทุมวัน ซึ่งพอมีเรื่องอะไรเราก็จะปฏิบัติแบบนี้เสมอ ๆ
ด้าน นายมานะ โป๋วเจริญสกุล นักศึกษาปริญญาตรี ปี 4 สาขาวิศวกรรมวัดคุม สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน หนึ่งในตัวแทนสำคัญในการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ก็กล่าวไม่เห็นด้วยกับประเด็นการให้นักศึกษาไปดูงานในคุกเพื่อลดพฤติกรรมความรุนแรง
"ไม่ควรเลยเพราะ 1. เป็นการซ้ำเติมผู้ที่ติดคุกเดิม พาเด็กไปจ้อง ไปดูทำให้คนที่ติดคุกอยู่แล้วรู้สึกไม่ดี 2. การที่ไปนั้นก็ไปเฉพาะคนบางกลุ่ม ไม่กี่คน คนที่ไม่เห็นก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร ถามว่าคนที่ก่อปัญหานั้นรู้มั้ยว่าทำแล้วติดคุก ก็รู้ดี แต่เขาก็ยังทำ ฉะนั้นไม่มีทางที่จะได้ผลแก้ปัญหาได้โดยวิธีนี้ วิธีการที่ดีที่สุดต้องให้เด็กคุยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ผู้ใหญ่คอยสนับสนุน" มานะ กล่าว
เมื่อถามถึงภาครัฐจะแก้ปัญหาในการตีกันด้วยการย้าย 2 สถาบันไปอยู่ต่างจังหวัดนั้น หนึ่งในตัวแทนสำคัญของนักศึกษาปทุมวัน กล่าวไม่เห็นด้วย เพราะไม่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ และอาจจะทำให้รุนแรงยิ่งขึ้น
"ยิ่งห่างกันมากเท่าไหร่ เวลาเจอกันก็ทะเลาะกันแรงขึ้นไปอีก ในระยะยาวนั้นต้องให้นักศึกษาคุยกัน รู้จักกันดีกว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ทั้งสองสถาบันไม่ได้มาเพื่อตีกัน ปัญหาการตีกันนั้นเป็นเรื่องคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่เป็นพี่น้องกัน ต้องการที่จะพูดคุยกันลบความหวาดระแวงที่ฝังอยู่ในใจ ซึ่งเป็นปัญหาต้นตอของการทะเลาะวิวาทกัน หากได้คุยกันทำกิจกรรมร่วมกันปัญหาทุกอย่างก็จะจบลง แต่ถ้าหากผู้ใหญ่เขาจะย้ายจริงเราก็คงไม่สามารถคัดค้านได้"
นายมานะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางนักศึกษาทั้งสองสถาบันมีวิธีการโดยการพูดคุยกัน ยกความระแวงออกไป พิจารณาปัญหากันเอง เกือบจะประสบความสำเร็จมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่พอขาดการติดต่อ ปัญหามันก็เลยไม่จบ ปัญหาคือผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ไม่ให้โอกาส ผู้ใหญ่ไม่ลงมาเคลียร์ เชื่อว่านักศึกษาส่วนใหญ่อยากให้เรื่องจบด้วยดี
ด้านดารานักแสดงรุ่นใหญ่ ที่ผันตัวมาทำงานการเมืองอย่าง สมบัติ เมทะนี ศิษย์เก่าจากเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย แนะนำการแก้ปัญหาในการตีกันระหว่าง 2 สถาบันว่า เมื่อตอนที่ตนเรียนหนังสืออยู่ที่อุเทนถวาย ยุคนั้นไม่มีการตีกันเลยสักครั้งเดียว เพราะว่า อ.สว่าง สุขคานนท์ ที่เป็นรองอาจารย์ใหญ่อยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขต อุเทนถวาย และอาจารย์ใหญ่ที่ช่างกลปทุมวัน คือ 2 ท่านเป็นอาจารย์ยอดเยี่ยมที่สุด คือท่านจะอบรมตอนเช้า ๆ หลังร้องเพลงชาติจบ ท่านจะอบรมให้เรารักกัน ๆ ทุกเช้า เช่นเดียวกันที่ปทุมวัน เขาก็บอกว่า ครูเขาก็ทำเหมือนกัน ให้รักกันให้สามัคคีกัน ปรองดองกัน และ 2497 โรงเรียนของผมมันมีวงดนตรีอยู่วงหนึ่ง ของครูอร่าม ขาวสะอาด มีงานที่ไหนอาจารย์ก็ให้ไปทำการแสดงทุก ๆ ที่ ไปร้องเพลงกล่อมที่ช่างกลปทุมวัน ที่เพาะช่าง การช่างโชติเวช ไปช่วยหมด
"ที่สำคัญปลายปีก็มีการจัดงานที่เรียกว่างานอาชีวะสัมพันธ์ โรงเรียนอาชีวะทั้งหมดก็ไปร่วมกัน ครั้งแรกจัดที่เพาะช่าง ช่างกลปทุมวัน อุเทน เพาะช่าง พาณิชย์การพระนคร การช่างไม้วัดสระเกศ การช่างอินทราชัย แม้กระทั่งช่างตัดผมวัดสุทัศน์ก็มา การเรือนพระนครก็มาทุก ๆ โรงเรียนที่มีอาชีพอยู่มาร่วมกัน ก็ไม่ตีกัน ปีแรกผมจำได้ว่ามีการประกวดชายงาม วงดนตรีอุเทนถวายก็ไปกล่อม ตัวผมเองได้รับเลือกเป็นประธานฝ่ายรักษาความสงบภายใน เราเป็นคนที่ประนีประนอมถึงได้ตำแหน่งนี้ ซึ่งในช่วงชีวิตประมาณ 2497-1499 เราจบมา ก็ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งสักครั้งเดียว"
สมบัติ เมทะนี ยังถามกลับว่า แต่ทำไมตอนนี้ 2 สถาบันดุกันจัง อาจารย์ไม่ดูแลหรืออย่างไร
"ทำไมเป็นอย่างนั้น มันเป็นเรื่องแปลกมากที่เกิดเรื่องราวฆ่ากัน มันไม่ควรเป็นแบบนั้น เราเป็นนักศึกษาไม่ควรทำแบบนั้น ทุก ๆ อย่างที่ครูอาจารย์จะต้องทำให้นักเรียนรู้ว่าเขาควรจะรักกันอย่างไร อย่างเรื่องที่ให้นักเรียนไปดูคุกนั้น ผมว่ามันยิ่งไปกันใหญ่แล้ว ยิ่งจะมาขู่ให้ย้ายโรงเรียนยิ่งบ้ากันไปใหญ่แล้ว ถามผม ครูต้องมีบทบาทในการทำให้นักเรียนรักกัน อาจารย์ทั้งคู่ก็ต้องรักกันอยู่ด้วย เพราะศักดิ์ศรีเราเท่ากัน เพราะยกย่องให้เป็นมหาวิทยาลัยแล้ว เป็นปัญญาชนแล้ว จะต้องมีจิตสำนึกที่ดี ต่อไปจะเป็นผู้นำคนผู้นำประเทศแล้ว"
ถามว่าคุกจะช่วยให้เด็กหวาดกลัวจนกระทั่งเลิกตีกันได้ไหม ศิษย์เก่า นักแสดงรุ่นเก๋า กล่าวว่า ไม่มีทาง
"เมื่อก่อนผมจำได้ว่าคำว่า ช่างกลอุเทนถวาย ช่างก่อสร้างปทุมวันเป็นคำพ้องกัน 2 โรงเรียนต้องมาคู่กันแบบนี้ ดังนั้นควรให้ครูอาจารย์ปลูกฝังความรักต่อกัน ให้อาจารย์ใส่ใจมาก ๆ แต่จะมาให้ดูคุก หรือจะย้ายสถาบันเพื่อจะไม่ให้ตีกัน ผมว่ามันชอบกล มันบ้า ไม่ค่อยเหมาะ ซึ่งท่านอาจจะมีความหวังดี แต่มันไม่ใช่ มาอบรบครูบาอาจารย์มาอบรมเด็กผมว่าจะช่วยได้ ซึ่งถ้าเริ่มทำตอนนี้แม้จะสาย แต่ก็ถือว่ายังทันสมัยหนุ่ม ๆ เราก็ไม่ใช่เล่น แต่มันก็พยายามอบรมให้มันมีความรักความสามัคคี อยากให้จำเอาไว้ว่ารวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย"
สุดท้าย สมบัติ เมทะนี ทิ้งท้ายด้วยว่า อยากให้น้อง ๆ ลูก ๆ หวนไปรำลึกถึงความหลัง เหมือนกับยุคตน ยุคคุณพ่อ สมัยก่อนเขารักกัน สามัคคีกัน เป็นสิ่งที่คู่กัน ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ขอให้รักกันมาก ๆ
"หลายคนบอกว่าจะย้ายเพราะว่าเกี่ยวกับฮวงจุ้ยที่มันชงกันนั้น ผมรู้สึกว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะเมื่อก่อนเรายังไม่เคยมีการตีกัน เพิ่งมามียุคนี้ ซึ่งครูบาอาจารย์ก็ต้องดูแลเป็นพิเศษถึงจะช่วยแก้ได้เหมือนในยุคที่ผมเรียนอยู่" สมบัติกล่าวสรุป