x close

จุฬาฯ ร่วมหลายหน่วยงาน จัด มหกรรมสุริยุปราคา 15 มกราคม 2553

สุริยคราส
สุริยุปราคา


คณะวิทยาศาสตร์ – ครุศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมหลายหน่วยงาน ผนึกกำลังจัด "มหกรรมสุริยุปราคา 15 มกราคม 2553"

        คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม และฝ่ายมัธยม ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จัด "มหกรรมสุริยุปราคา 15 มกราคม 2553" โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เตรียมกล้องโทรทรรศน์กว่า 40 ชุด พร้อมอุปกรณ์กรองแสงสำหรับดูดวงอาทิตย์กว่า 1,000 ชิ้น ให้บริการนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจร่วมชมปรากฏการณ์ธรรมชาติ

        ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการจัดมหกรรมสุริยุปราคาฯ ว่า คณะวิทยาศาสตร์ โดยภาควิชาฟิสิกส์ให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด กิจกรรมในครั้งนี้ได้ประสานความร่วมมือกับ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และหน่วยงานอื่นๆ จัด "มหกรรมสุริยุปราคา 15 มกราคม 2553" เริ่มตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป โดยใช้พื้นที่ของสนามและลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ในการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบต่างๆ เพื่อการสังเกตสุริยุปราคาทางตรง และการใช้กล้องรูเข็มพร้อมฉากรับภาพ เพื่อการสังเกตสุริยุปราคาทางอ้อม พร้อมกันนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับแผ่นพับแนะนำการดูสุริยุปราคาที่ถูกวิธี โดยการจัดงานครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมประมาณ 1,000  คน 

        ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการเตรียมการในส่วนของคณะครุศาสตร์ ว่า ทางคณะได้ให้นิสิตประกอบกล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสงจำนวน 25  ชุด และประดิษฐ์แผ่นกรองแสงอาทิตย์จำนวน 1,000  แผ่น เพื่อการสังเกตการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้จะมอบแผ่นกรองแสงอาทิตย์ให้แก่ผู้ที่มาร่วมงานทุกคน นอกนั้นโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยมได้จัดเตรียมท้องฟ้าจำลองกลางแจ้งไว้ให้บริการ รวมถึงวิทยากรคอยให้ความรู้ และเล่นเกมส์ถามตอบปัญหาดาราศาสตร์ตลอดงาน 

        สำหรับการเกิดสุริยุปราคาในวันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2553 นั้น เป็นปรากฏการณ์ "สุริยุปราคาแบบวงแหวน" โดยมีเส้นทางของแนวคราสวงแหวนกว้างกว่า 300 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางของแนวคราสใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 45 นาที แนวคราสวงแหวนเริ่มต้นที่ทวีปแอฟริกา ผ่านประเทศสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ยูกันดา เคนยาและโซมาเลีย จากนั้นออกจากทวีปแอฟริกาเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย แล้วจึงผ่านเข้าสู่ทวีปเอเชีย ผ่านบังกลาเทศ อินเดีย พม่า และเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน 

        ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน สามารถมองเห็นได้เป็นบริเวณกว้างตามบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน เช่น ยุโรปตะวันออก ทวีปแอฟริกา เอเชีย และประเทศอินโดนีเซีย ในส่วนของประเทศไทยจะสังเกตเห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาแบบบางส่วนโดยสามารถสังเกตเห็นได้ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาที่แตกต่างกัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่สัมผัสที่ 1 ในเวลาประมาณ 14.00 น. บังมากที่สุด 15.37 น. (ร้อยละ 57.3 ของพื้นที่ดวงอาทิตย์) และสิ้นสุดเหตุการณ์ในเวลา 16.53 น. การเกิดสุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทย ในครั้งนี้จะเกิดนานที่สุดจังหวัด แม่ฮ่องสอน รวมทั้งกระบวนการใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 6 นาที โดยดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดคิดเป็น 77 ของพื้นที่ดวงอาทิตย์

         ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือตอบรับการเข้าร่วมงานได้ที่หน่วยการประชุมและการประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โทร 0-2218-5013 หรือ 081-772-7064



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
  
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จุฬาฯ ร่วมหลายหน่วยงาน จัด มหกรรมสุริยุปราคา 15 มกราคม 2553 อัปเดตล่าสุด 14 มกราคม 2553 เวลา 15:15:19
TOP