เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ สถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) มีมติให้จัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือ ยูเน็ต (U-NET) กับนิสิตนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายในคณะหรือสาขาวิชาที่ไม่มีสภาวิชาชีพควบคุม โดยสมัครใจ ซึ่งภายหลังก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และมีการออกแถลงการณ์คัดค้านจากกลุ่มนิสิตนักศึกษาหลายสถาบันนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 องค์การนิสิต สภานิสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการสอบ U-NET เช่นเดียวกัน ภายหลังจากประชุมผู้นำองค์กรภายในมหาวิทยาลัยแล้ว โดยเนื้อหาในแถลงการณ์มีดังนี้
แถลงการณ์องค์การนิสิต สภานิสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
เรื่อง การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ระดับอุดมศึกษา (U-NET)
ตามที่สถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) ได้มีมติให้ดำเนินการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ระดับอุดมศึกษา (U-NET) โดยเปิดโอกาสให้แก่นิสิตนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายในคณะหรือสาขาวิชาที่ไม่มีสภาวิชาชีพควบคุมสามารถเข้าทดสอบได้โดยความสมัครใจและไม่เสียค่าใช้จ่ายในการทดสอบ
โดยการทดสอบจะวัดทักษะพื้นฐาน 4 วิชา ได้แก่ 1) การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร 2) การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 3) การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต : การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) และ 4) การวิเคราะห์แก้ปัญหา และการคิดอย่างมีวิจารญาณ (Critical Thinking) ซึ่งในปีการศึกษาถัดไปจะดำเนินการทดสอบอีก 2 ด้าน คือ ด้านทักษะวิชาชีพ และด้านคุณธรรม จริยธรรม โดยจะนำร่องในปีการศึกษานี้เฉพาะวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2557 นั้น
ทางองค์การนิสิต สภานิสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ดำเนินการประชุมผู้นำองค์กรภายในมหาวิทยาลัยเพื่อหารือในเรื่องดังกล่าวและได้ข้อสรุปจากการประชุม ดังต่อไปนี้
1. การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีความแตกต่างหลากหลายกันตามแต่ละหลักสูตร ซึ่งจัดขึ้นตามความถนัดความสนใจ และศักยภาพเฉพาะด้านของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่การทดสอบวิชาพื้นฐานตามที่ สทศ. จัดสอบโดยใช้ข้อสอบกลางเหมือนกันทั้งหมด อาจทำให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน เพราะการสอบแต่ละครั้งในทางวัดและประเมินผลจะมีค่าความคลาดเคลื่อนอย่างสุ่มเสมอ และหากคะแนนมีค่าความคลาดเคลื่อนมาก คะแนนที่ปรากฏย่อมไม่สามารถวัดได้จริงหรือวัดได้ตรงตามสิ่งที่ต้องการจะวัด
2. ที่ผ่านมาการใช้ข้อสอบกลางในการวัดประเมินคุณภาพการศึกษาของ สทศ. ยังเป็นที่ถกเถียงถึงคุณภาพของข้อสอบ หากสทศ. ยังไม่สามารถแสดงเสถียรภาพให้สังคมยอมรับในคุณภาพของข้อสอบกลางได้ การจัดทดสอบย่อมไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้ผลของการทดสอบไม่สามารถนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้
3. ในทางการวัดและประเมินผลการจัดการทดสอบเพื่อวัดคุณลักษณะด้านคุณธรรม จริยธรร มถือว่าเป็นการเปิดกว้างทางความคิด การใช้การทดสอบแบบปรนัยที่ต้องเลือกตอบจะเป็นการฝึกลักษณะนิสัยของการคิดติดกรอบ ซึ่งเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องที่เปราะบาง และมีความแตกต่างไปตามสภาพบริบท เช่น ศาสนา ท้องถิ่น หรือภูมิหลัง ตรงนี้จะเป็นจุดที่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการทดสอบ
4. การสอบระดับชาติควรมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายและไม่เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ทั้งนี้ งบประมาณมาจากภาษีของประชาชน สทศ. จึงควรชี้แจงรายละเอียดงบประมาณ และการดำเนินการดังกล่าว ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบเพื่อความโปร่งใสของ สทศ.
ทั้งนี้แถลงการณ์ฉบับนี้ทางองค์การนิสิต สภานิสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้ขอแสดงความเป็นห่วงและขอเสนอแนะในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ระดับอุดมศึกษา(U-NET) ดังต่อไปนี้
1. หาก สทศ. ต้องการจัดสอบยูเน็ตขึ้นจริง ก็ควรฟังความเห็นจากนิสิตนักศึกษาอย่างหลากหลายและเปิดใจ รวมถึงต้องเตรียมความพร้อมและสร้างความน่าเชื่อถือของสถาบัน ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมก่อน
2. การทดสอบยูเน็ตควรคำนึงถึงความหลากหลายทางการศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัย คณะ สาขาวิชาและความแตกต่างระหว่างบุคคลของนิสิต นักศึกษาเป็นหลัก
3. ควรพิจารณาไตร่ตรองเรื่องสอบยูเน็ตให้ดี เพราะการทดสอบที่มากเกินไปและมีผลผูกมัดในการใช้พิจารณาการสมัครหรือเข้าทำงาน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น การเกิดค่านิยมเตรียมสอบโดยสถาบันต่าง ๆ หรือค่านิยมการแข่งขัน สุดท้ายแล้วทั้งหมดก็ไม่ได้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ จึงขอให้ทางสทศ.พิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
,