ส่องระบบการศึกษาไทย เด็กไทยยุคนี้ต้องสอบวัดระดับอะไรบ้าง

ส่องระบบการศึกษาไทย เด็กไทยยุคนี้ต้องสอบวัดระดับอะไรบ้าง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          รู้ไหม...นักเรียนไทยยุคนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในสายสามัญ อาชีวะ หรือนอกระบบ ต้องสอบวัดระดับอะไรบ้าง เพื่อประเมินมาตรฐานและเข้าเรียนต่อในระดับชั้นต่าง ๆ ลองดูกัน

          เกิดเสียงวิจารณ์ขึ้นในกลุ่มนิสิตนักศึกษาของหลาย ๆ มหาวิทยาลัยขึ้นมาทันที เมื่อสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีมติให้จัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือ U-NET เพื่อประเมินมาตรฐานบัณฑิต และมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเริ่มนำร่องทดสอบกับนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้ายของทุกสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยที่สมัครใจเข้ารับการทดสอบก่อนในปีการศึกษา 2557 นี้

          ทั้งนี้ กลุ่มนิสิตนักศึกษาที่คัดค้านได้ให้เหตุผลว่า การสอบ U-NET อาจไม่สามารถประเมินบัณฑิตและมหาวิทยาลัยได้จริง เพราะแต่ละสถาบันมีหลักสูตรการสอนต่างกัน และนักศึกษาบางคณะอาจได้เปรียบในการสอบบางวิชา อีกทั้งยังเป็นการสอบที่ซ้ำซ้อน เพราะนักศึกษาบางคณะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพของสายอาชีพนั้นอยู่แล้วก่อนเข้าทำงาน

          พูดถึงการสอบของนักเรียนไทยแล้ว ถ้าย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน จะเห็นได้ว่าการทดสอบหลัก ๆ มีแค่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เรียกว่า "เอ็นทรานซ์" เท่านั้น แต่เด็กไทยในยุคสิบปีหลังมานี้มีชีวิตที่วนเวียนอยู่กับการสอบวัดระดับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาไปจนถึงการสอบเพื่อเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว มาลองดูกันว่านักเรียนไทยในยุคนี้ต้องผ่านการทดสอบวัดระดับอะไรบ้าง

 

โอเน็ต (O-NET)


          การสอบโอเน็ต (Ordinary National Educational Test : O-NET) คือการทดสอบการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน ที่เป็นการสอบวัดความรู้รวบยอดปลายช่วงชั้น (6 ภาคเรียน) ซึ่งนอกจากจะเป็นการวัดผลของนักเรียนแล้วเป็นการวัดผลการเรียนของโรงเรียนนั้น ๆ ด้วย จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)


ใครต้องสอบ ?

          นักเรียนที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้น ป.3, ป.6, ม.3 และ ม.6 ต้องเข้าสอบโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งทางโรงเรียนจะเป็นผู้สมัครสอบให้


สอบช่วงไหน ?


          การสอบโอเน็ตจะจัดสอบในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นการสอบประจำปีเพียงครั้งเดียว


สอบวิชาอะไรบ้าง ?

          นักเรียนต้องทดสอบใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่

          1. ภาษาไทย

          2. สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม

          3. ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ)

          4. คณิตศาสตร์

          5. วิทยาศาสตร์

          6. สุขศึกษา

          7. ศิลปะ

          8. การงานอาชีพฯ

 

เอ็นเน็ต (N-Net)

          การสอบเอ็นเน็ต (Non-Formal National Education Test : N-NET) คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติของการศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้ให้แก่นักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในภาคเรียนที่ 1 และภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)


ใครต้องสอบ ?


          นักศึกษา กศน. ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ต้องเข้าสอบก่อนจบหลักสูตร หากไม่เข้าสอบ จะไม่จบการศึกษาตามเงื่อนไขของหลักสูตร แม้จะสอบผ่านทุกรายวิชาตามโครงสร้างหลักสูตร


สอบช่วงไหน ?

          ปกติจัดสอบปีละ 2 ครั้ง คือในช่วงปลายภาคเรียนที่ 1 ประมาณเดือนสิงหาคม และปลายภาคเรียนที่ 2 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์


สอบวิชาอะไรบ้าง ?

          ครอบคลุมเนื้อหา 5 กลุ่มสาระเรียนรู้ ได้แก่ สาระทักษะการเรียนรู้, สาระความรู้พื้นฐาน, สาระการประกอบอาชีพ, สาระทักษะการดำเนินชีวิต และสาระการพัฒนาสังคม

 

บีเน็ต (B-NET)

          การสอบบีเน็ต (Buddhism National Education Testing : B-NET) คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนา เพื่อทดสอบความรู้และความคิดของนักเรียนตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในวิชาพุทธประวัติและธรรมวินัย วิชาศาสนปฏิบัติ และวิชาภาษาบาลี จัดสอบโดย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ


ใครต้องสอบ ?

          ผู้เรียนที่ศึกษาตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม ในระดับชั้น ม.3 และ ม.6


สอบช่วงไหน ?


          จัดสอบในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี


สอบวิชาอะไรบ้าง ?

          ต้องทำการสอบ 3 วิชา คือ

          1. วิชาพุทธประวัติและธรรมวินัย

          2. วิชาศาสนปฏิบัติ

          3. วิชาภาษาบาลี

 

ไอเน็ต (I-NET)

          การสอบไอเน็ต (Islamic National Educational Test : I–NET) คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนตามหลักสูตรอิสลามศึกษา พ.ศ. 2546 เพื่อนำผลการสอบไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน


ใครต้องสอบ ?

          นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในปีสุดท้ายของหลักสูตรอิสลามศึกษาศึกษาตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่วิชาสามัญ ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี  พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี และศูนย์ตาดีกาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้


สอบช่วงไหน ?

          จัดสอบประมาณช่วงเดือนมกราคมของทุกปี


สอบวิชาอะไรบ้าง ?

          จัดสอบ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ

          1. อัลกุรอาน-อัลตัฟซีร

          2. อัลหะดิษ

          3. อัลอากีดะฮฺ

          4. อัลฟิกฮฺ

          5. อัตตารีค

          6. อัลอัคลาก

          7. ภาษามลายู

          8. ภาษาอาหรับ

 

วีเน็ต (V-NET)

          การสอบวีเน็ต (Vocational National Educational Test : V-Net) คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านอาชีวศึกษา เพื่อทดสอบความรู้และความคิดของนักเรียนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2545 (ปรับปรุง 2546) จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)


ใครต้องสอบ ?


          นักเรียนที่กำลังศึกษา ปวช. ชั้นปีที่ 3 และ ปวส. ชั้นปีที่ 2


สอบช่วงไหน ?


          จัดสอบประมาณช่วงเดือนมกราคมของทุกปี


สอบวิชาอะไรบ้าง ?


          จัดสอบ 2 กลุ่มรายวิชา คือ

          1. ความรู้พื้นฐานทั่วไป วัดระดับความรู้การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร, ความรู้ด้านการคิด วิเคราะห์ การแก้ปัญหา และความรู้ด้านสังคมและการดำรงชีวิต

          2. ความรู้วิชาชีพพื้นฐาน สาขาวิชา แยกตามประเภทวิชา ซึ่งมีทั้ง 23 สาขาวิชา (สำหรับระดับ ปวช.) และ 96 สาขาวิชา (สำหรับระดับ ปวส.) ขึ้นอยู่กับสาขาที่เรียน

 

เอ็นที (NT)

          การสอบเอ็นที (National Test : NT) คือ การทดสอบระดับชาติที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อประเมินคุณภาพผู้เรียนและโรงเรียน ลักษณะคล้ายการสอบโอเน็ตของ สทศ.


ใครต้องสอบ ?


          นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3


สอบช่วงไหน ?


          ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์


สอบวิชาอะไรบ้าง ?


          สอบ 3 วิชาคือ

          1. ความสามารถด้านภาษา

          2. ความสามารถด้านการคำนวณ

          3. ความสามารถด้านเหตุผล

 

LAS

          การสอบ LAS (Local Assessment System) คือ การสอบเพื่อประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับเขตพื้นที่ เพื่อประเมินคุณภาพของผู้เรียนและโรงเรียน


ใครต้องสอบ ?

          นักเรียนระดับชั้น ป.2, ป.5, ม.2 และ ม.5 ของทุกโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา


สอบช่วงไหน ?

          ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์


สอบวิชาอะไรบ้าง ?

          จัดสอบทั้งหมด 8 กลุ่มสาระวิชา คือ

          1. สังคมศึกษา

          2. คณิตศาสตร์

          3. ภาษาอังกฤษ

          4. ภาษาไทย

          5. วิทยาศาสตร์

          6. สุขศึกษาและพลศึกษา

          7. ศิลปะ

          8. การงานอาชีพเทคโนโลยี

 

GAT/PAT

          GAT (General Aptitude Test) คือ แบบทดสอบความถนัดทั่วไป ที่ สทศ. จัดสอบเพื่อวัดศักยภาพด้านการอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ แก้โจทย์ปัญหา รวมทั้งความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ

          ส่วน PAT (Professional and Academic Aptitude Test) คือ แบบทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ แบ่งออกเป็น 7 ประเภท


ใครต้องสอบ ?

          นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.6 หรือเทียบเท่า หรือสูงกว่า ม.6 ขึ้นไป และต้องการคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระบบแอดมิดชั่น หรือรับตรง (ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบัน) จะต้องนำผลคะแนนที่ได้จากการสอบ GAT/PAT ไปใช้ยื่นเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป


สอบช่วงไหน ?

          จัดสอบปีละ 2 ครั้ง คือในเดือนตุลาคม และมีนาคม


สอบวิชาอะไรบ้าง ?

          การสอบ GAT แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

          1. ความสามารถในการอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ และแก้โจทย์ปัญหา

          2. ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ

 
          การสอบ PAT เป็นการวัดความถนัดในสาขาต่าง ๆ มีทั้งหมด 7 วิชา แต่ไม่จำเป็นต้องสอบทุกวิชา สามารถเลือกสอบในรายวิชาที่ต้องนำคะแนนไปใช้ยื่นเพื่อเข้ารับการคัดเลือกศึกษาต่อได้ คือ

          PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์

          PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์

          PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์

          PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์

          PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู

          PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์

          PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ

           - PAT 7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส

           - PAT 7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน

           - PAT 7.3 ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น

           - PAT 7.4 ความถนัดทางภาษาจีน

           - PAT 7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ

           - PAT 7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี

           ทั้งนี้ ในการยื่นผลคะแนนนั้นจะใช้รอบที่สอบได้คะแนนมากที่สุด


 
7 วิชาสามัญ

          การสอบ 7 วิชาสามัญของ สทศ. นั้น เป็นการจัดสอบเนื้อหาตามหลักสูตรที่มีอยู่ในบทเรียนตั้งแต่ชั้น ม.4-ม.6 เพื่อให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ นำคะแนนไปใช้ประกอบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับผ่านตรงเคลียริ่งเฮ้าส์ (Clearing House)


ใครต้องสอบ ?

          ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.6 หรือเทียบเท่า หรือสูงกว่า ม.6 ขึ้นไป ที่ต้องการนำคะแนนไปใช้สอบตรงเข้าสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดรับสมัคร


สอบช่วงไหน ?

          ประมาณเดือนมกราคมของทุกปี


สอบวิชาอะไรบ้าง ?

          มีทั้งหมด 7 วิชา คือ

          1. ภาษาไทย

          2. สังคมศึกษา

          3. ภาษาอังกฤษ

          4. คณิตศาสตร์

          5. ฟิสิกส์

          6. เคมี

          7. ชีววิทยา

          อย่างไรก็ตาม นักเรียนไม่จำเป็นต้องสอบครบทุกวิชา สามารถเลือกสอบเฉพาะรายวิชาที่ต้องการนำผลคะแนนไปยื่นสมัครรับตรงได้ ทั้งนี้ เนื้อหาข้อสอบของ 7 วิชาสามัญ จะมีความยากกว่าการสอบโอเน็ต

 

 ยูเน็ต (U-NET)

          การสอบยูเน็ต (University National Education Test : U-NET) คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา ซึ่ง สทศ. ได้มีมติในเดือนเมษายน 2557 ให้จัดสอบขึ้น เพื่อประเมินมาตรฐานบัณฑิตตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) และวัดคุณภาพของสถาบันการศึกษานั้น


ใครต้องสอบ ?

          สำหรับในปีการศึกษา 2557 นี้ สทศ. จะเริ่มนำร่องทดสอบกับนิสิตนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายที่สมัครใจสอบ และในอนาคตจะดำเนินการจัดการทดสอบมาตรฐานคุณวุฒิในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกต่อไป

          ทั้งนี้ ในการสอบไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่ใช่การบังคับสอบ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสาขาวิชา คณะ และสถานศึกษา โดยจะจัดสอบเฉพาะสถานศึกษาที่มีความพร้อม และสมัครใจส่งนักศึกษาเข้าสอบเท่านั้น


สอบช่วงไหน ?


          เริ่มสอบครั้งแรกในช่วงปลายปี 2557


สอบวิชาอะไรบ้าง ?

          ในปีการศึกษา 2557 กำหนดให้จัดสอบวัดทักษะพื้นฐาน 4 วิชา คือ

          1. การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

          2. การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร

          3. การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต : การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy)

          4. การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)

 
          จากนั้นในปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป จะดำเนินการจัดการทดสอบอีก 2 ด้าน คือ

          1. ด้านทักษะวิชาชีพ

          2. ด้านคุณธรรม จริยธรรม

          เห็นได้ว่าระบบการศึกษาไทยยุคนี้มีการทดสอบวัดระดับมากกว่าสมัยก่อนมาก เพื่อเป็นการประเมินคุณภาพของตัวเอง และคุณภาพของสถาบันศึกษา ซึ่งหลายคนก็มองว่าการทดสอบที่มากเกินไปทำให้นักเรียนได้รับความกดดันสูง และเกิดอาการเครียด แต่หลายคนก็มองว่า การสอบวัดระดับบ่อยครั้งเช่นนี้ ยิ่งทำให้นักเรียนได้พัฒนาตัวเอง และโรงเรียนเองก็ต้องยิ่งปรับปรุงคุณภาพของอาจารย์ และพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละมุมมอง

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สทศ. , สพฐ.



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ส่องระบบการศึกษาไทย เด็กไทยยุคนี้ต้องสอบวัดระดับอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 29 เมษายน 2557 เวลา 11:36:39 38,245 อ่าน
TOP
x close