เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เมินเสียงค้าน ! สทศ. ยันเดินหน้าสอบ U-NET ต่อ ชี้ต้องทำตามพันธกิจและหน้าที่ตามกฎหมาย ระบุจะได้เป็นการวัดมาตรฐานเด็กและเป็นการประเมินมหาวิทยาลัยด้วย
จากกรณีที่คณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้มีมติให้จัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือ U-NET ในปีการศึกษา 2557 โดยจะนำร่องเริ่มทดสอบนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นสุดท้ายของมหาวิทยาลัยที่สมัครใจร่วมทดสอบ นอกจากนี้ สทศ. จะประสานไปยังสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อขอให้ใช้ผล U-NET เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกพนักงาน ส่วนทางด้านนิสิตและนักศึกษาก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการสอบดังกล่าว โดยได้ตั้งเพจคัดค้านเพื่อเสนอต่อ สทศ. ให้ยกเลิกการสอบ U-NET ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (25 เมษายน 2557) ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธาน บอร์ด สทศ. ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า การที่ สทศ. จัดสอบ U-NET นั่นก็เพราะต้องทำตามพันธกิจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ ว่า สทศ. จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำระบบวิธีทดสอบและพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลตามมาตรฐานการศึกษาในทุกระดับ ซึ่งที่ผ่านมา ทาง สทศ. ก็ได้จัดทดสอบทั้ง O-NET (ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน) V-NET (อาชีวศึกษา) และ N-NET (การศึกษานอกระบบ)
ส่วนการสอบ U-NET นั้น ทาง สทศ. ไม่เคยจัดสอบ และการสอบดังกล่าวก็จะเป็นการประเมินมาตรฐานบัณฑิตตามที่กฎหมายกำหนด โดยยึดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ TQF ดังนั้น ทาง สทศ. ยืนยันว่าจะเดินหน้าจัดสอบ U-NET ต่อไป
นอกจากนี้ ประธาน บอร์ด สทศ. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การสอบ U-NET นั้น จะสอบ 4 วิชาด้วยกัน ได้แก่
- การใช้ภาษาไทยเพื่อการศึกษา
- การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
- การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต : การรู้เท่าทันสื่อ
- การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
ส่วนในปีการศึกษา 2558 จะเพิ่มการทดสอบอีก 2 ด้าน คือ ด้านทักษะวิชาชีพ และด้านคุณธรรม จริยธรรม และจากนั้นจะจัดทดสอบในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกต่อไป ส่วนเด็กที่อ้างว่า ที่ผ่านมามีการจัดสอบมากอยู่แล้ว ถ้าจัดสอบ U-NET อีก ก็จะเป็นภาระกับเด็ก อีกทั้งในแต่ละวิชาชีพ ก็มีการจัดทดสอบความรู้เพื่อขอใบประกอบวิชาชีพ ทาง สทศ. ไม่จำเป็นต้องมาสอบอีกนั้น ประธาน บอร์ด สทศ. กล่าวว่า การเข้าเรียนต่อหรือทำงานจะมีการจัดสอบอยู่แล้ว แต่เครื่องมือที่นำมาใช้ในการวัดเป็นคนละตัวกัน แต่ถ้าให้ สทศ. ซึงเป็นหน่วยงานกลางจัดสอบให้ก็น่าจะดี เพราะจะได้ใช้เครื่องมือตัวเดียวกันมาวัดว่าบัณฑิตทั่วประเทศมีคุณภาพอย่างไร
อย่างไรก็ดี ศ.ดร.สมหวัง กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จะนำผลสอบ U-NET มาใช้ในการประเมินมหาวิทยาลัยด้วยว่า ผลิตบัณฑิตออกมาเป็นอย่างไร ไม่ใช่มาดูเพียงว่าบัณฑิตจบออกมาทำงานได้มากน้อยแค่ไหน เพราะการทำงานนั้นไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเด็กมีคุณภาพ
ส่วนกรณีที่ สทศ. ดึงเอาภาคเอกชนให้นำผลสอบ U-NET ไปใช้ในการคัดคนเข้าทำงาน เป็นการบังคับให้เด็กต้องมาสอบทุกคนนั้น จริง ๆ ภาคเอกชนส่วนใหญ่จะมีการสอบเพื่อคัดคนเข้าทำงานอยู่แล้ว ถ้า สทศ. จัดสอบเอง ภาคเอกชนก็ไม่จำเป็นต้องสอบอีก แต่อาจจะสอบสัมภาษณ์ก็เพียงพอ แต่ทั้งนี้ หากจะไม่ใช้ผลสอบ U-NET ก็ได้ เพราะทาง สทศ. ไม่ได้บังคับ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก