นักวิจัย มข. ชี้ ส่องฟ้า สมุนไพรพื้นบ้าน ต้านมะเร็ง
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบ ส่องฟ้า สมุนไพรพื้นบ้าน มีฤทธิ์ต้านโรคมะเร็ง และโรคเบาหวานได้
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 รศ.ดร.ศจี สัตยุตม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย และ รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร พร้อมด้วย รศ.ฉวี เย็นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของผลงานวิจัย ร่วมกันแถลงข่าวผลงานวิจัยเรื่อง "องค์ประกอบทางเคมีของส่องฟ้าและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพ" ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 4 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ส่องฟ้าเป็นสมุนไพรไทยที่พบทั่วไปในเขตร้อนชื้น และพบได้ตามป่าโปร่งทั่วภาคอีสาน มีลักษณะไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 20-25 เซนติเมตร โดยใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับใบย่อย มีรูปคล้ายไข่ แกมวงรี ส่วนแผ่นใบมีจุดน้ำมันกระจาย เมื่อส่องดูจะมองเห็นจุดโปร่งแสงเล็กๆ กระจายทั่วทั้งใบ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โดยมีกลีบดอกสีขาวแกมเหลือง ผลสดรูปกลมรี และยอดอ่อนรับประทานเป็นผัก สรรพคุณทางยาต้มน้ำดื่มเพื่อแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นส่วนหนึ่งตำรายาไทย โดยสามารถพบต้นส่องฟ้าได้ทั่วไปตามพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะ ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ หรือบริเวณที่มีดินทรายถึงดินร่วนทราย ยอดอ่อนสามารถรับประทานได้ แต่ไม่เป็นที่นิยม เพราะค่อนข้างแข็งกระด้าง
รศ.ฉวี เย็นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า จากการศึกษาวิจัยเรื่อง "องค์ประกอบทางเคมีของส่องฟ้าและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพ" พบว่าส่องฟ้ามีองค์ประกอบทางเคมีเป็นคาร์บาโซลโดยส่วนใหญ่ และยังพบสารคูมารินอีกด้วย ทั้งนี้สารคาร์บาโซลเป็นสารที่มีอะตอมของไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก (หรือที่เรียกว่าอัลคาลอยด์) และแสดงฤทธิ์ทางชีวภาพที่ดีในการต้านมะเร็ง จากการทดสอบฤทธิ์ต้านมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งช่องปาก และมะเร็งท่อน้ำดีซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในภาคอีสาน พบว่าองค์ประกอบทางเคมีของต้นส่องฟ้ามีสารคาร์บาโซลบางชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งมะเร็งปอดและมะเร็งช่องปากที่ดี (IC50= 1.3-2.7 µM) สำหรับเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีชนิด KKU-OCA17 และ KKU-214 ก็สามารถถูกยับยั้งได้ด้วยสารคาร์บาโซลจากต้นส่องฟ้าเช่นกัน (การทดสอบมะเร็งท่อน้ำดี ทำโดย รศ.ดร วีรพล คู่คงวิริยพันธุ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
รศ.ฉวี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการค้นพบสารบางชนิดในต้นส่องฟ้าที่มีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งต่าง ๆ แล้ว ยังพบสารคูมารินบางสารในต้นส่องฟ้านี้มีฤทธิ์ต้าน lipid per oxidation ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับภาวะผิดปรกติในร่างกาย เช่น ภาวะความจำเสื่อม มะเร็ง เบาหวาน ดังนั้นการค้นพบสารคาร์บาโซลและคูมารินในส่องฟ้าจึงเป็นสารที่สามารถลดน้ำตาลในกระแสเลือดได้เช่นกัน (โดยฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ทำโดย อ.ดร. กุสุมาลย์ น้อยผา คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ)
หลังค้นพบว่า ต้นส่องฟ้ามีฤทธิ์ของสารบางชนิดในการต้นมะเร็ง และลดน้ำตาลในกระแสเลือดได้แล้ว ผู้วิจัยได้มีการเตรียมอนุพันธ์ของคาร์บาโซล โดยอาศัยความรู้ทางเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ สารคาร์บาโซลได้ถูกดัดแปลงโครงสร้างให้เป็นอนุพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะได้สารโครงสร้างใหม่ ๆ ที่อาจแสดงฤทธิ์ที่น่าสนใจ
เมื่อทำการดัดแปลงโครงสร้างของคาร์บาโซลโดยนำไปต่อกับสารบางชนิด พบว่าสามารถช่วยลดภาวะความจำเสื่อมได้เช่นกัน (โดยงานวิจัยชิ้นนี้นักวิจัยหลักคือ อาจารย์ ดร.จันทนา บุญยะรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น )
กล่าวคือสารบางชนิดจากต้นส่องฟ้ามีฤทธิ์ ต้านมะเร็ง ลดน้ำตาลในเลือดอันก่อให้เกิดโรคเบาหวาน และเมื่อนำสารในต้นส่องฟ้าไปต่อกับสารบางชนิด พบว่า สามารถช่วยลดภาวะความจำเสื่อมได้อีกด้วย ทั้งนี้ นักวิจัยเจ้าของโครงการได้ทำการวิจัยเชิงประยุกต์โดยร่วมมือกับนักวิจัยทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เพื่อทำการทดสอบสารจากต้นส่องฟ้า กับสารในโรคแต่ละชนิดจนสามารถศึกษาข้อค้นพบดังกล่าวได้สำเร็จ
รศ.ดร.ศจี สัตยุตม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การค้นพบองค์ประกอบทางเคมีในต้นส่องฟ้าครั้งนี้ จึงถือเป็นมิติใหม่แห่งวงการนักวิจัย ในการค้นพบองค์ประกอบทางเคมีจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่หลายคนมองข้าม คาดว่างานวิจัยชิ้นนี้จะสามารถพัฒนาสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มคุณประโยชน์ของสมุนไพรไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น โดยคาดหวังว่าจะสามารถผลิตเป็นยา เพื่อรักษาโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความจำเสื่อม เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การวิจัยที่กล่าวมาเป็นเพียงการวิจัยเริ่มต้นเท่านั้น หากจะพัฒนาต่อไปจนสามารถใช้เป็นยาแผนปัจจุบัน ต้องผ่านกระบวนการอีกมากมาย อาทิ การค้นหาผลข้างเคียงที่ยังไม่ได้มีการศึกษา ทั้งนี้ องค์ประกอบทางเคมีของส่องฟ้าและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพ ยังไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งหรือเบาหวานได้โดยตรง จากข้อค้นพบระบุว่า สารบางชนิดในต้นส่องฟ้าสามารถต้านโรคมะเร็งและโรคเบาหวานได้ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถพัฒนาต่อยอดพัฒนาเป็นยาได้ ทั้งนี้ ผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานวิจัยชิ้นนี้จะถูกพัฒนาต่อยอดโดยนักวิจัยรุ่นหลังเพื่อผลักดันให้งานวิจัยนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติต่อไป
ผลงานวิจัยเรื่องต้นส่องฟ้า พืชสมุนไพรพื้นบ้าน มีฤทธิ์ทางยา ช่วยต้านมะเร็ง โดยการค้นพบของ รศ.ดร.ฉวี เย็นใจ สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และทีมงานนักวิจัย นักศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอก ท่านที่สนใจต่อยอดขยายผลสู่ภาคธุรกิจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้โดยตรงกับฝ่ายวิจัย มข โทร 043-009700 ต่อ 40057
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยขอนแก่น