
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
รมว.ศึกษาธิการ เผยผลทดสอบการอ่านออกเสียง และความเข้าใจการอ่านของนักเรียนชั้น ป.3 และชั้น ป.6 ทั่วประเทศ พบ อ่านไม่ออกทะลุ 400,000 คน ผลจากครูต้องทำงานอื่น สอนไม่ตรงวิชาเอก และไม่ให้ความสำคัญกับการสะกดคำ
วันนี้ (26 ธันวาคม 2556) นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานผลการดำเนินโครงการเร่งรัดคุณภาพการอ่านรู้เรื่องและสื่อสารได้ ที่ สพฐ. ได้ทำเครื่องมือทดสอบเพื่อตรวจสอบ และคัดกรอง หรือสแกนความสามารถการอ่านออกเสียง และความเข้าใจการอ่านของนักเรียนชั้น ป.3 และชั้น ป.6 ทั่วประเทศ จำนวน 1.6 ล้านคน ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา สรุปปัญหาในภาพรวมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- นักเรียนอ่านไม่ได้ จำนวน 45,929 คน เป็นนักเรียนชั้น ม.3 จำนวน 33,084 คน นักเรียนชั้น ป.6 จำนวน 12,845 คน
- นักเรียนที่อ่านได้และเข้าใจเรื่องบ้าง อยู่ในระดับปรับปรุง จำนวน 365,420 คน เป็นนักเรียนชั้น ม.3 จำนวน 184,598 คน นักเรียนชั้น ป.6 จำนวน 180,822 คน
ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นนักเรียนกลุ่มที่อ่านได้และเข้าใจเรื่องดี ดังนั้น เมื่อรวมทั้งหมดจะมีเด็กที่อ่านไม่ได้ อ่านได้ และเข้าใจเรื่องบ้าง ควรปรับปรุง จำนวน 411,346 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่าผลสำรวจที่ผ่านมา โดยจำนวนเด็กที่อ่านไม่ได้ อ่านได้แต่ควรปรับปรุง อ่านได้แต่ไม่เข้าใจ และอ่านได้เข้าใจบ้าง มีจำนวนเพียง 200,590 คน
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้นักเรียนมีปัญหาเรื่องการอ่าน มาจากครูไม่มีเวลา เพราะต้องทำงานอื่น ๆ ครูสอนไม่ตรงวิชาเอก และไม่ให้ความสำคัญกับการสะกดคำ ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่สำคัญ ส่วนวิธีการแก้ปัญหาจะต้องเน้นการเรียนการสอนที่เข้มข้นขึ้น รวมทั้งจะต้องปรับปรุงแบบเรียนหรือหนังสือที่ช่วยในการอ่าน อาทิ การจดจำรูปสระ ใช้เพลงหรือบทร้อง นิทาน หรือจัดพิมพ์แบบเรียนใหม่ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อให้ได้วิธีการเรียนการสอนที่นำไปปรับใช้ได้ ขณะเดียวกันโรงเรียนจะต้องเพิ่มกิจกรรมเพื่อเสริมทักษะในการเรียนการสอนเรื่องดังกล่าวด้วย
เบื้องต้นได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยไปคิดต่อเรื่องการดูแลการเรียนการสอนภาษาไทยทั้งระบบในระดับที่สูงกว่านี้ โดยจะต้องดูแลความรู้ภาษาไทยที่กว้าง ทั้งทักษะการฟัง การอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล เนื่องจากขณะนี้ได้ยินเสียงบ่นมาจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่า เด็กสอบเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง แต่มีปัญหาเรื่องการอ่าน และสรุปความไม่ได้ เขียนเรียงความ เขียนอธิบายไม่ได้
ซึ่งปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาของเราไปเน้นการสอบแบบไม่ต้องอธิบาย ไม่มีข้อสอบแบบอัตนัย ดังนั้น ขอให้ สพฐ. ไปดูให้กว้างขึ้น รวมถึงจะต้องเร่งพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดผลที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน ทั้งนี้ ขอให้ประสานกับทางโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม และต่อไปจะขอความร่วมมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำแบบทดสอบภาษาไทยสำหรับคนไทยด้วย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

.