เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สำนักข่าวอิศรา
อั้ม เนโกะ พร้อม เฟิร์ส 2 นักศึกษาธรรมศาสตร์ประท้วง ใส่ชุดมาเรียนวิชา TU 130 โดยทำภาพโปสเตอร์ร่วมเพศประท้วง เชื่อการใส่ชุดนักศึกษาไม่ได้ทำให้เป็นคนดี หรือมีระเบียบวินัยได้
กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนในสังคมไทยในขณะนี้ หลังนักศึกษาธรรมศาสตร์ประท้วง การบังคับใส่ชุดนักศึกษาธรรมศาสตร์มาเรียนวิชา TU 130 ด้วยการออกโปสเตอร์ที่มีภาพการร่วมเพศ และข้อความเหน็บผู้ใหญ่ในสถาบันเล็กน้อย เหตุไม่พอใจผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถทำตามคำพูดที่ว่า "เสรีภาพทุกตารางนิ้วของธรรมศาสตร์" ได้จริง ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ อั้ม เนโกะ-เฟิร์ส 2 นักศึกษาธรรมศาสตร์ประท้วง ในโปสเตอร์ร่วมเพศประท้วงบังคับใส่ชุดนักศึกษาธรรมศาสตร์ เพื่อหาคำตอบของทุกคำถามที่กำลังเป็นข้อคาใจของใครหลาย ๆ คนในตอนนี้
ทั้งนี้ อั้ม เนโกะ ได้กล่าวว่า หลังมีการเผยแพร่ภาพโปสเตอร์ท่าทางร่วมเพศก็มีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เราคงไม่สามารถบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนเราได้ทั้งหมด ส่วนเหตุผลที่มีการรวมตัวทำโปสเตอร์ประท้วงออกมานั้น ตนมองว่าการบังคับใส่ชุดนักศึกษาธรรมศาสตร์ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของนักศึกษาธรรมศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องการให้มีการยกเลิกการแต่งชุดนักศึกษาแต่อย่างใด เพียงแต่อยากให้ทุกคนมองกันที่ข้อเท็จจริงว่า การใส่ชุดนักศึกษาไม่ได้ทำให้คุณเป็นคนดีกว่าคนอื่น ๆ ในสังคมที่ไม่ได้ใส่ชุดนักศึกษา เพราะการที่คุณจะเป็นคนดี หรือไม่ดีนั้น มันไม่ขึ้นอยู่กับเครื่องแบบที่สวมใส่ แต่มันขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเองทั้งนั้น ดังนั้น แม้เราจะไม่ใส่ชุดนักศึกษาก็สามารถเป็นคนดีได้เช่นเดียวกัน
อั้ม เนโกะ ยังได้กล่าวว่า การทำโปสเตอร์ประท้วงการใส่ชุดนักศึกษาธรรมศาสตร์ครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะตอนนี้ วิชา TU 130 ได้ประกาศยกเลิกกฎระเบียบเดิมแล้ว และครั้งนี้ ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีนักศึกษาธรรมศาสตร์ออกมาประท้วงการใส่ชุดนักศึกษาในวิชา TU 130 หรือ วิชาอื่น ๆ เพราะเคยมีนักศึกษาธรรมศาสตร์ประท้วงหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจ
ขณะที่ เฟิร์ส กล่าวว่า ตอนนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สุด คือ ในเร็ว ๆ นี้ จะมีการแก้ไขข้อบังคับว่าด้วยวินัยนักศึกษา ในข้อ 12.3 ที่ระบุว่า "ในการเรียนการสอนหรือโอกาสทั่วไปให้นักศึกษาแต่งกายสุภาพ แต่ทั้งนี้สามารถตกลงในชั้นเรียนให้แต่งชุดนักศึกษาได้ หากว่านักศึกษาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว จะเป็นเหตุลงโทษตัดคะแนน หรือเหตุใด ๆ อันเป็นผลร้ายต่อนักศึกษามิได้" ซึ่งหากการแก้ไขข้อบังคับว่าด้วยวินัยนักศึกษา ในข้อ 12.3 ผ่านความเห็นชอบจากสภาเมื่อไหร่ เชื่อได้ว่า จะมีนักศึกษาธรรมศาสตร์อีกหลายคนที่รู้สึกยินดีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังมี "เสรีภาพทุกตารางนิ้วของธรรมศาสตร์" ตามที่อาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยพูดไว้
ส่วนกรณีที่มีหลายคนวิจารณ์ว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์ สามารถออกมาเรียกร้องและมีสิทธิและเสรีภาพทุกตารางนิ้วของธรรมศาสตร์ แต่การออกแบบภาพในโปสเตอร์ประท้วงขัดกับศีลธรรมอันดีงามของสังคมนั้น อั้ม เนโกะ เผยว่า ตนก็ขอตั้งคำถามกลับไปเลยว่า ศีลธรรมอันดีงามของสังคม คืออะไร แล้วคนดีเป็นอย่างไร ได้มีกำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายฉบับไหนหรือไม่ แต่หากไม่มีก็หาวิธีกำหนดพฤติกรรมของผู้มีศีลธรรมอันดีงามของสังคมลงไปในกฎหมายฉบับใด ฉบับหนึ่งเลยดีกว่า เพื่อที่ทุก ๆ คนในสังคมจะได้เข้าใจ ตรงกันว่า ผู้ที่ศีลธรรมอันดีต้องคิดอย่างไร ต้องพูดแบบใด หรือมีพฤติกรรมแบบไหนถึงจะเป็นคนดีในสังคม
สำหรับประเด็นที่มีป้าย "ภูมิใจที่ใส่ชุดนักศึกษา" ในมหาวิทยาลัยนั้น อั้ม เนโกะ กล่าวว่า ป้ายดังกล่าวมีมานานแล้ว และเชื่อว่า มหาวิทยาลัยอีกหลาย ๆ แห่งก็มีป้าย หรือคำสอนแบบนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วมองว่า การเชิดชูนักศึกษาที่สวมใส่ชุดนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า เป็นคนดี มีระเบียบวินัยนั้น เป็นเพียงการพยายามสร้างกรอบความคิด แบบผิด ๆ ให้กับนักศึกษา เพราะที่จริงแล้ว คนจะดี หรือไม่ดีนั้น ไม่ขึ้นอยู่กับว่า บุคคลนั้นใส่ชุดนักศึกษาหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำของแต่บุคคลตะหาก
ทางด้าน เฟิร์ส กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่า ชุดนักศึกษาไม่ได้เป็นสิ่งสูงค่าอย่างที่หลาย ๆ มหาวิทยาลัยพยายามปลูกฝังนักศึกษาอยู่ เพราะชุดนักศึกษาก็เป็นเพียงเครื่องแบบธรรมดาชุดหนึ่งเท่านั้น แถมใส่ชุดนักศึกษาแล้วก็ไม่ได้บอกว่า เราจะมีความสูงส่งกว่าคนอื่นตรงไหน แต่การที่เราจะมีคุณค่าแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเองทั้งนั้น ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการวางกรอบความคิดให้นักศึกษาทุกคนต้องใส่ชุดนักศึกษามาเรียน
พร้อมกันนี้ อั้ม เนโกะ ยังกล่าวถึงกรณีที่ไม่ค่อยมีนักศึกษาหญิงมาเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวว่า เป็นเพราะนักศึกษาหญิงส่วนใหญ่ กลัวการถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีของสังคมไทย เพราะทุกวันนี้ แค่คนที่มีความคิดเห็นต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม ก็จะถูกประณาม และต่อต้านอย่างหนักเลยทีเดียว ประกอบกับสังคมเรายังยึดติดกรอบความคิดเดิม ๆ ที่ว่า ผู้หญิงที่ดีตามแบบฉบับสังคมไทย ต้องเป็นแม่และเมียที่ดีเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้มันต่างกับคำว่า "ผู้ชาย และผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน" อย่างสิ้นเชิง
ปิดท้ายคำเปิดใจ อั้ม เนโกะ กล่าวว่า ตนหวังว่าการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสรีขั้นพื้นฐานของตน กับเพื่อน ๆ จะเป็นตัวอย่างให้แก่กลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์กลุ่มอื่น ๆ กล้าที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง ซึ่งตนเชื่อว่า ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เข้าใจในเรื่องนี้ดีว่า เป็นการเรียกร้องตามสิทธิขั้นพื้นฐานของเราเท่านั้นเอง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก