จุฬาฯ โชว์แผนพัฒนาพื้นที่อุเทนถวาย เป็นศูนย์นวัตกรรมฯ



CU

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

         จุฬาฯ โชว์แผนพัฒนาพื้นที่ริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ยืนยันจะนำไปสร้างศูนย์นวัตกรรมสร้างสรรค์ เพื่อรองรับ AEC ในปี 2558 ไม่ใช่เพื่อเชิงพาณิชย์

         จากกรณีข้อพิพาทระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะขอเวนคืนพื้นที่บริเวณถนนพญาไท เขตปทุมวัน ซึ่งปัจจุบันตั้งเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เพื่อไปสร้างเป็นศูนย์พัฒนานวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน จนนักศึกษาอุเทนถวายต้องรวมตัวกันชุมนุมเพื่อประท้วงการเวนคืนดังกล่าวนั้น

         ล่าสุด วันนี้ (12 มีนาคม) ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาชี้แจงกรณีการขอคืนพื้นที่ของจุฬาฯ ที่ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวายเช่า ว่า ตามที่อุเทนถวายตั้งข้อสังเกตว่า การขอคืนพื้นที่ครั้งนี้ จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางเชิงพาณิชย์ ด้วยการสร้างศูนย์การค้านั้น จุฬาฯ ขอยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าว จะถูกนำไปพัฒนาเป็นพื้นที่ทางการศึกษา เพราะตามนโยบายการบริหารจัดการทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ระบุชัดเจนว่า ที่ดินของจุฬาฯ กว่า 70% ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและบริการสาธารณะ และมีเพียง 30% เท่านั้นที่ถูกนำไปใช้เพื่อการพาณิชย์

         และการใช้ประโยชน์บนที่ดินประมาณ 21 ไร่ ซึ่งจะรับคืนมาจากอุเทนถวายนั้น จุฬาฯ จะจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน เป็นแหล่งค้นคว้าพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงไปยังภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก รวมทั้งเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เพื่อสังคม และสำนักงานการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร

         สำหรับรายละเอียดในโครงการศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน ประกอบไปด้วย 5 หน่วยงาน กับ 1 พิพิธภัณฑ์ คือ

         1. หน่วยวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้งานสร้างสรรค์

         ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางนักวิจัย งานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้การสนับสนุนสถาบันการศึกษา และหน่วยงานในประเทศสมาชิกอาเซียน และผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

         2. หน่วยข้อมูลด้านนวัตกรรมงานสร้างสรรค์

         เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทางด้านนวัตกรรมงานสร้างสรรค์ที่ทันสมัยและครอบคลุมมากที่สุด ทั้งที่เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์จนถึงข้อมูลที่มีความเป็นปัจจุบันเพื่อให้ทุกคนที่สนใจ ทั้งนักวิจัย นักเรียน นักศึกษา คนทั่วไปได้เข้ามาค้นคว้าหาความรู้และยังเป็นแหล่งอ้างอิงงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ของไทยอีกด้วย

         3. หน่วยเผยแพร่นวัตกรรมงานสร้างสรรค์

         มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ จัดนิทรรศการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างงานนวัตกรรมสร้างสรรค์ให้เป็นที่รู้จักและดึงดูดให้คนรุ่นใหม่สนใจงานนวัตกรรมรวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยว

         4. หน่วยบ่มเพาะเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์


         จะเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้เริ่มธุรกิจประเภทงานสร้างสรรค์ในทุกสาขา โดยการช่วยเหลือของหน่วยบ่มเพาะฯ จะช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนในช่วงเริ่มต้นธุรกิจของบริษัทลักษณะนี้ ทั้งยังช่วยสนับสนุนและพัฒนาโอกาสทางธุรกิจให้มีความเป็นไปได้อย่างเต็มศักยภาพ
        
         5. หน่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านนวัตกรรมงานสร้างสรรค์

         เป็นหน่วยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริม สนับสนุนและดำเนินการพัฒนาบุคลากร รวมถึงยกระดับศักยภาพผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนวัตกรรม งานสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้มีความรู้ความสามารถในการเข้ามาทำงานด้านนี้

         6. พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เพื่อสังคม


         จะมีการจัดแสดง และให้ความรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้ เรื่องวิถีความเป็นไทย และความเป็นพื้นถิ่นทั้งแต่ละภูมิภาคและท้องถิ่น และการอยู่ร่วมกันในชุมชนเมือง



ผังแสดงการวางตัวอาคาร ศูนย์นวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน

ผังแสดงการวางตัวอาคาร ศูนย์นวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , คุณ iSnapNationPhoto สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม





เรื่องน่าสนใจอื่นๆ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จุฬาฯ โชว์แผนพัฒนาพื้นที่อุเทนถวาย เป็นศูนย์นวัตกรรมฯ อัปเดตล่าสุด 26 มีนาคม 2556 เวลา 14:03:17 3,346 อ่าน
TOP
x close