การเขียนโครงงานภาษาไทย

          การเขียนโครงงานภาษาไทย หรือ การเขียนรายงานโครงงานภาษาไทย เป็นการนำเสนอผลของการศึกษาในรูปแบบของการเขียนรายงาน 
การเขียนโครงงานภาษาไทย


          ทั้งนี้ ในการเขียนโครงงานต้องแสดงให้เห็นขั้นตอนวิธีการทำโครงงาน ผลของการศึกษา ตลอดจนการสรุปผลการศึกษาของโครงงานที่ได้ทำการศึกษาด้วย 


การเขียนรายงานโครงงานภาษาไทย มีหลักการเขียนโครงงาน ดังนี้


1. ชื่อโครงงาน 


          ชื่อโครงงานต้องเป็นชื่อที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการทำโครงงาน และยังต้องเป็นชื่อที่เรียกความสนใจจากผู้อ่านได้เป็นอย่างดีด้วย

2. ชื่อผู้จัดทำโครงงาน 


          การเขียนชื่อผู้รับผิดชอบโครงงาน ควรมีการระบุให้ชัดเจนว่ามีใครบ้าง และแต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนใดบ้างของการทำโครงงาน

3. ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน 


          การเขียนชื่อผู้ให้คำปรึกษาควรให้เกียรติยกย่องและเผยแพร่ รวมทั้งขอบคุณที่ได้ให้คำแนะนำการทำโครงงานจนบรรลุเป้าหมาย  

4. ที่มาและความสำคัญของโครงงาน 


          การเขียนที่มาและความสำคัญของโครงงาน คือ การอธิบายให้กระจ่างชัดว่าทำไม ต้องทำ ทำแล้วได้อะไร หากไม่ทำจะเกิดผลเสียอย่างไร ซึ่งมีหลักการเขียนคล้ายการเขียนเรียงความ ทั่ว ๆ ไป คือ มีคำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป 

5. วัตถุประสงค์ของการทำโครงงาน 


          วัตถุประสงค์ คือ การกำหนดจุดมุ่งหมายปลายทางที่ต้องการให้เกิดจากการทำโครงงาน ในการเขียนวัตถุประสงค์ ต้องเขียนให้ชัดเจน อ่านเข้าใจง่ายสอดคล้องกับชื่อโครงงาน หากมีวัตถุประสงค์หลายประเด็น ให้ระบุเป็นข้อ ๆ ทั้งนี้ การเขียนวัตถุประสงค์มีความสำคัญต่อแนวทาง การศึกษา ตลอดจนข้อความรู้ที่ค้นพบต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทุก ๆ ข้อ   

6. ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำโครงงาน 


          ต้องสามารถบอกผู้อ่านโครงงานได้ว่า การทำโครงงานนี้ช่วยให้ได้ประโยชน์อะไรบ้าง อาทิ เป็นการเสริมสร้างความรู้ในด้านใดให้มีมากขึ้นหรือไม่ นำผลที่ได้ไปใช้ทำอะไรได้บ้าง เกิดประโยชน์กับผู้ทำโครงงานอย่างไร เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไร เป็นต้น

7. สมมติฐานของการศึกษาโครงงาน 


          สมมติฐานของการศึกษา เป็นสิ่งที่ผู้ทำโครงงานต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เป็นการกำหนดแนวทางในการออกแบบการทดลองได้ชัดเจนและรอบคอบ ซึ่งสมมติฐานก็คือ การคาดคะเนคำตอบของปัญหาอย่างมีหลักและเหตุผล ตามหลักการ ทฤษฎี รวมทั้งผลการศึกษาของโครงงานที่ได้ทำมาแล้ว 

8. ขอบเขตของการทำโครงงาน 


          ผู้ทำโครงงานต้องกำหนดขอบเขตการทำโครงงาน เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือ ซึ่งได้แก่ การกำหนดเรื่องที่ต้องการศึกษา ระยะเวลาในการศึกษา และวิธีที่จะใช้ในการศึกษา

9. วิธีดำเนินการโครงงาน 


          วิธีดำเนินการ คือ วิธีการที่ช่วยให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการทำโครงงาน ตั้งแต่เริ่มเสนอโครงการกระทั่งสิ้นสุดโครงการ 

10. วัสดุและอุปกรณ์ 


          เป็นการระบุสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในการศึกษาตามโครงงาน อาทิ อุปกรณ์ในการทำโครงการ หนังสือที่ต้องใช้ประกอบการอ้างอิงข้อมูล หรือแหล่งค้นคว้าอื่น ๆ เพื่อให้โครงงานบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

11. ผลการศึกษาค้นคว้า 


          นำเสนอข้อมูลหรือผลการทดลองต่าง ๆ ที่สังเกตรวบรวมได้ รวมทั้งเสนอผล การวิเคราะห์ข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ด้วย    

12. สรุปผลและข้อเสนอแนะ 


          อธิบายผลสรุปที่ได้จากการทำโครงงาน ถ้ามีการตั้งสมมติฐาน ควรระบุด้วยว่าข้อมูลที่ได้สนับสนุนหรือคัดค้านสมติฐานที่ตั้งไว้  หรือยังสรุปไม่ได้ นอกจากนี้ยังควรกล่าวถึงการนำผลการทดลองไปใช้ประโยชน์ อุปสรรคของการทำโครงงานหรือข้อสังเกตที่สำคัญหรือข้อผิดพลาดบางประการที่ เกิดขึ้นจากการทำโครงงานนี้ รวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไข หากมีผู้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่ทำนองนี้ต่อไปในอนาคตด้วย    

ประเภทของโครงงานภาษาไทย


          ในการประเภทของโครงงานภาษาไทย สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. โครงงานภาษาไทยประเภทการสำรวจและรวบรวมข้อมูล


          เป็นโครงงานเบื้องต้นที่นักเรียนควรเริ่มลงมือทำเพราะง่าย เพียงแค่ทำการรวบรวมข้อมมูลที่มีอยู่ และนำมาจำแนกออกเป็นหมวดหมู่ ก่อนทำการนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เห็นลักษณะหรือความสัมพันธ์ในเรื่องที่ศึกษาชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับตัวอย่างโครงงานประเภทการสำรวจและรวบรวมข้อมูล มีดังนี้

          - การสำรวจคำที่มี ร, ล, ว ควบกล้ำในหนังสือ
          - การสำรวจคำย่อในหนังสือพิมพ์
          - การสำรวจคำแสลง คำสมัยนิยม ในหนังสือพิมพ์

2. โครงงานภาษาไทยประเภทการทดลอง


          มีขั้นตอนการทำศึกษาโครงงานประเภทนี้คล้ายกับการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่จำเป็นต้องมีการกำหนดปัญหาที่จะศึกษ วัตถุประสงค์ การตั้งสมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า การออกแบบการทดลอง เป็นต้น สำหรับตัวอย่างโครงงานภาษาไทยประเภทการทดลอง มีดังนี้

          - ทดลองออกเสียงคำควบกล้ำ 
          - ทดลองอ่านออกเสียงคำที่มีตัวการันต์
          - การศึกษาความจำจากการฟัง

3. โครงงานภาษาไทยประเภทสิ่งประดิษฐ์


          สำหรับวิชาภาษาไทยสามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ได้มากมาย เช่น การประดิษฐ์โคลงกลอน ประดิษฐ์บทละครและอื่น ๆ มากมาย โดยการปรับปรุงจากสิ่งที่มีอยู่เดิม เปลี่ยนตัวแปรบางตัวเสียใหม่ให้ต่างจากของเดิม ก็จะเป็นโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ทั้งสิ้น ตัวอย่างโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ อาทิ 

          - การประดิษฐ์เกมภาษาไทย
          - การประดิษฐ์แผนผังบทร้อยกรองแบบใหม่
          - การประดิษฐ์สื่อที่ใช้ในการเรียนภาษาไทย

4. โครงงานภาษาไทยประเภททฤษฎี


          เป็นโครงงานที่นักเรียนต้องทำการนำเสนอหลักการ หรือแนวความคิดใหม่ ๆ โดยใช้แนวความคิดหรือการจินตนาการของผู้ทำโครงงาน เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในแนวใหม่ที่ยังไม่มีผู้ใดคิดมาก่อน หรืออธิบายทฤษฎีที่ขัดแย้งกับทฤษฎีเดิมที่มีอยู่ในวิชาภาษาไทย อาจเป็นการเสนอทฤษฎีหรือหลัการขึ้นมาสนับสนุน หรือขัดแย้งกับแนวความคิดเดิม ๆ เช่น นักเรียนเสนอโครงงานประเภททฤษฎีขึ้นมาว่าท่านสุนทรภู่ไม่ดื่มเหล้า โดยนำทฤษฎีหรือหลักการมาสนับสนุนการวิเคราะห์ว่า หากท่านดื่มเหล้าเป็นคนเมามาย คงไม่สามารถแต่งบทประพันธ์ได้จำนวนมากมายดังที่ทราบ แต่ที่เห็นพฤติกรรมว่าเมานั้นอาจเป็นการเข้าใจผิดของชาวบ้านทั่วไปก็ได้

          โครงงานประเภททฤษฎี เป็นการนำเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์มาอ้าง อาจถูกหรือผิดก็ได้ แต่เป็นไปตามทฤษฎีหรือหลักการ ในวิชาภาษาไทยมีเนื้อหามากมายที่นักเรียนสามารถคิดขึ้นมาในแง่ทฤษฎีได้ เพียงแต่ครูที่ปรึกษา จะยอมรับความคิดเห็นของนักเรียนหรือไม่


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
muslimthaipost.com , chula.ac.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การเขียนโครงงานภาษาไทย อัปเดตล่าสุด 17 มิถุนายน 2567 เวลา 13:13:26 212,904 อ่าน
TOP
x close