เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
สธ. เผย ไอคิวเด็ก กทม. สูงสุด เด็กอีสานน้อยสุด ขณะที่คะแนนอีคิวต่ำลงเรื่อย ๆ ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเกือบ 80% เร่งพัฒนาด่วน คาดภายในปี 2559 จะเทียบเท่าเด็กสากล
เมื่อวันที่ 12 มกราคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลสำรวจความฉลาดทางสติปัญญา หรือ ไอคิว (IQ) เด็กนักเรียนทั่วประเทศ สำรวจเมื่อปี 2554 พบว่า เด็กไทยทั่วประเทศมีไอคิวเฉลี่ย 98.59 จุด ต่ำกว่าค่ากลางมาตรฐานสากลยุคปัจจุบันคือ 100 จุด และเมื่อแบ่งเป็นภูมิภาคจะพบว่า เด็กในเขตกรุงเทพมหานคร มีระดับไอคิวเฉลี่ยสูงสุด 104.5 จุด รองลงมา คือภาคกลาง 101.29 จุด ตามมาด้วย ภาคเหนือ 100.11 จุด และภาคใต้ 96.85 จุด ส่วนภาคอีสาน เด็กมีไอคิวน้อยที่สุดคือ 95.99 จุด
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้ ในปี 2556 ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายส่งเสริมให้เด็กมีไอคิวสูงขึ้น โดยจะให้ความรู้แก่พ่อแม่ในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวติดต่อกัน 6 เดือน นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นพื้นที่ดำเนินงาน 3 จุด คือ คลินิกเด็กสุขภาพดี โรงพยาบาลทั่วประเทศ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีประมาณ 20,000 แห่งทั่วประเทศ จากนั้นในปี 2559 จะทำการสำรวจไอคิวเด็กไทยอีกครั้ง ซึ่งมั่นใจว่า ในปี 2559 นี้ ไอคิวของเด็กไทยจะเข้าสู่มาตรฐานสากลคือ 100 จุด
ในส่วนของผลสำรวจการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ หรือ อีคิว (EQ) นั้น นายแพทย์วิชระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า ตัวเลขล่าสุดของปี 2554 พบว่า เด็กนักเรียนไทยอายุ 6-11 ปี มีค่าคะแนนอีคิวเฉลี่ยพื้นฐานระดับประเทศอยู่ที่ 45.12 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ปกติที่ต้องมีคะแนนเฉลี่ย 50 ขึ้นไป โดยเด็กนักเรียนที่มีคะแนนอีคิว 50 ขึ้นไปนั้น มีเพียงร้อยละ 28 เท่านั้น ดังนั้น ทางสาธารณสุขจะต้องพัฒนาเด็กเกือบร้อยละ 80 ที่มีคะแนนต่ำกว่าปกติ เพื่อให้ครบองค์ประกอบ 3 ด้านคือ ดี เก่ง สุข
นอกจากนี้ นายแพทย์วชิระ ยังแสดงความเป็นห่วงด้วยว่า จากการวัดคะแนนอีคิวที่ได้มาจากการประเมินของครูฉบับเดียวกันในปี 2545 และปี 2550 พบว่า คะแนนดิบอีคิวของเด็กไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ จากในปี 2545 คะแนนอยู่ที่ 186 พอมาปี 2550 คะแนนมาอยู่ที่ 180 จนถึงปี 2554 คะแนนลดเหลือ 170 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุด และเมื่อไปดูค่าคะแนนอีคิวทั้งองค์ประกอบด้านดี เก่ง สุข และด้านย่อยทุกด้านนั้น ก็พบว่าคะแนนในปี 2554 ต่ำสุดเช่นกัน ดังนั้น กรมสุขภาพจิต จะเร่งเสริมสร้างความมุ่งมั่นพยายามให้กับเด็กทั้ง 3 กลุ่มวัย คือ เด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน และวัยรุ่น ที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา และจะสำรวจอีคิวอีกครั้งในปี 2559 คาดว่าน่าจะดีขึ้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก