ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เผย คำว่า ขยันหรือเรียน - วินัย - คุณธรรม เป็นคำที่ใช้บ่อยในคำขวัญวันเด็กมากที่สุด ชี้เป็นเพียงแค่วาทกรรมที่ไม่เคยทำจริง
เมื่อวานนี้ (7 มกราคม) นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เปิดเผยถึงสถิติของคำขวัญวันเด็กตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา วันเด็กของไทยมีการนำเสนอคำขวัญทั้งหมด 51 คำขวัญ โดยคำขวัญวันเด็ก สามารถแบ่งแนวทางได้ตามยุคตามสมัยดังนี้
พ.ศ. 2490-2516 เป็นยุคอำนาจนิยม แนวทางของคำขวัญจะเน้นไปในเรื่องของการตระหนักหน้าที่ความเป็นเด็ก เช่น ความขยัน การมีระเบียบวินัย มีความรักชาติ เป็นต้น
พ.ศ. 2516-2519 เป็นยุคกึ่งประชาธิปไตย แนวทางของคำขวัญจะเน้นให้เด็กมีความรัก ความสามัคคี และการมีวินัย เนื่องจากประเทศไทยในยุคนั้น เพิ่งผ่านเหตุการณ์นองเลือดเดือนตุลาคม
พ.ศ. 2520-2545 เป็นยุคประชาธิปไตยเต็มใบ แนวทางของคำขวัญจะเขียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของเด็ก ๆ เช่น ประหยัด ซื่อสัตย์ ขยันเรียน เป็นต้น
พ.ศ. 2545-2550 ยุคประชาธิปไตยและเทคโนโลยี แนวทางของคำขวัญจะเน้นในเรื่องของการก้าวทันเทคโนโลยี โดยต้องมีความคิดสร้างสรรค์ การกล้าแสดงออก และใฝ่หาความรู้ด้วยตนเอง
พ.ศ. 2550-2551 ยุคปฏิวัติการเปลี่ยนแปลง แนวทางคำขวัญจะเน้นไปในเรื่องความสามัคคี คุณธรรม และเศรษฐกิจพอเพียง
พ.ศ. 2552-ปัจจุบัน ยุคปัจจุบัน แนวทางของคำขวัญจะเน้นการมีจิตสาธารณะ มีความคิดสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
สำหรับคำที่ใช้บ่อยที่สุดในคำขวัญวันเด็ก คือ
ขยันหรือเรียน จำนวน 33 ครั้ง
วินัย จำนวน 16 ครั้ง
คุณธรรม จริยธรรม จำนวน 16 ครั้ง
คำที่ใช้น้อยที่สุดในคำขวัญวันเด็ก คือ
ความสุข จำนวน 1 ครั้ง
พอเพียง จำนวน 1 ครั้ง
จิตสาธารณะ จำนวน 2 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาคำที่มาใช้ทั้งหมดเหล่านี้ นพ.สุริยเดว ได้ให้ความเห็นว่า คำขวัญวันเด็กเป็นความคาดหวังของผู้ใหญ่ที่ต้องการให้เด็กเป็นตามยุคตามสมัยเพียงเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นเพียงวาทกรรมประจำปีที่มอบให้ แต่ไม่มีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมในความฝันของผู้ใหญ่ที่อยากให้เด็กเป็น
นอกจากนี้ นพ.สุริยเดว กล่าวอีกว่า ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า ของขวัญที่เด็กไทยต้องการมากที่สุดคือ ความสุข ความรัก และการเห็นคุณค่า ส่วนสิ่งที่เด็กอยากได้จากผู้ใหญ่ คือ มีพื้นที่กิจกรรมระหว่างกัน โดยมติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2554-2555 เด็กเสนอให้รัฐบาลจัดเดือนแห่งเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในช่วงปิดเทอมหลักของทุกปีตลอดทั้งเดือน มากกว่าการจัดกิจกรรมวันเด็กเพียงวันเดียว
พร้อมกันนี้ นพ.สุริยเดว ยังกล่าวว่า คุณภาพของเด็กไทยปัจจุบันอยู่บนความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ไอคิวต่ำลง เด็กออกจากระบบการศึกษามากขึ้น ครอบครัวขาดความอบอุ่น ทำให้เด็กต้องหันไปพึ่งความสุขจากภายนอกแทน อย่างการเล่นเกม 2,500 บาทต่อเดือน, การดูทีวี 3-5 ชั่วโมงต่อวัน ค่าโทรศัพท์ 500 บาทต่อวัน เป็นต้น ทั้งหมดมันเกิดขึ้นมาจากความเครียดจากการเรียนถึงร้อยละ 66.99, เด็กรู้สึกเบื่ออย่างต่อเนื่องในทุก ๆ วันของการเรียน ร้อยละ 29 เป็นต้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก