นักวิทย์ ม.มหิดล พบเทคนิคใหม่กระตุ้นแม่กุ้งกุลาดำวางไข่โดยการใช้สารชีวโมเลกุล
กุ้งกุลาดำเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ที่ผ่านมาการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำนอกจากสร้างรายได้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยง ก่อให้เกิดอาชีพและการจ้างงานในชนบท และเป็นสินค้าส่งออกติดอันดับ 1 ใน 10 ของสินค้าที่นำรายได้เข้าประเทศมากที่สุด โดยแต่ละปีสามารถนำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 50,000 ล้านบาท
มหาวิทยาลัยมหิดลพบเทคนิคใหม่ในการกระตุ้นให้แม่กุ้งกุลาดำวางไข่ โดยการใช้สารชีวโมเลกุลเพื่อกระตุ้นการพัฒนารังไข่ของกุ้งกุลาดำแทนวิธีการตัดก้านตา ซึ่งเป็นวิธีที่เกษตรกรใช้กระตุ้นการทำงานของรังไข่ในแม่พันธุ์กุ้งในปัจจุบัน แต่การตัดตาส่งผลให้แม่พันธุ์บอบช้ำ ไม่สามารถนำกลับมาผลิตลูกกุ้งซ้ำหลายครั้ง อีกทั้งเป็นการทรมานสัตว์ รวมทั้งเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการผลิตลูกกุ้งกุลาดำ
ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล ดุษฎีบัณฑิตจากสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คว้ารางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดี ประจำปี 2554 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากสภาวิจัยแห่งชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นผู้ศึกษาลักษณะและหน้าที่ของฮอร์โมนยับยั้งการพัฒนาของรังไข่จากกุ้งกุลาดำ โดยได้ทำการโคลนนิ่งยีนที่สร้างฮอร์โมนดังกล่าวจากแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำต้นแบบ แล้วใช้ข้อมูลของยีนนั้นมาสร้างสารชีวโมเลกุลที่ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนดังกล่าว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนารังไข่ ด้วยวิธีการฉีดสารชีวโมเลกุลเข้าไปในแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำจากธรรมชาติและแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำจากบ่อเลี้ยง จากเทคนิคดังกล่าวสามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนารังไข่และประสบความสำเร็จในการวางไข่ได้ดีในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำที่ถูกกระตุ้นการพัฒนารังไข่โดยการตัดตา
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
มหาวิทยาลัยมหิดล