หลักในการเขียนเรซูเม่ ภาษาไทย



หลักการเขียนเรซูเม่ ภาษาไทย

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ejobonline.com

          พอเข้าเดือนพฤษภาคม นักศึกษาหลาย ๆ คนก็เรียนจบแล้ว บางคนก็เริ่มต้นหางานทำใหม่ ดังนั้น ใบเบิกทางสำหรับการได้งานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และเรซูเม่ที่เราส่งไปให้กับบริษัทต่าง ๆ นั้น ก็เปรียบเสมือนด่านแรกที่บริษัทจะรับพิจารณาว่า จะรับเราเข้าทำงานหรือไม่ ดังนั้น วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงมีหลักการเขียนเรซูเม่ ภาษาไทย เพื่อให้ได้งานมาฝากกันค่ะ

  ชื่อ-ที่อยู่ 

          ผู้เขียนควรใส่เฉพาะ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และอีเมล์แอดเดรส ไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น สถานะการสมรส น้ำหนัก ส่วนสูง หรือจำนวนพี่น้อง เขียนข้อมูลให้ชัดเจนและโดดเด่นจากผู้สมัครรายอื่น

  จุดประสงค์การสมัครงาน 

          จุดประสงค์การสมัครงาน ควรเขียนถึงเเรงบันดาลใจและความต้องการที่จะสมัครงาน ให้ชัดเจน ตรงประเด็น เพื่อที่นายจ้างจะได้รับทราบว่า เรามีความต้องการทำงานนั้นจริง ๆ หรือไม่ และเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจว่า เรามีคุณสมบัติมากน้อยแค่ไหน

  ประวัติการศึกษา 

          เมื่อเขียนประวัติการศึกษา ให้ยกมาเฉพาะในระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย ส่วนประวัติการศึกษาระดับมัธยมต้นและประถมนั้น ไม่ควรจะใส่มา เพราะจะทำให้เรซูเม่เยิ่นเย้อจนเกินไป เว้นเสียเเต่ว่า ทางบริษัทที่สมัครงานกำหนดให้ใส่ประวัติการศึกษาในส่วนอื่น ๆ มา

  ประวัติการทำงาน

          หากเคยผ่านการทำงานมาแล้ว ให้เขียนประวัติการทำงานลงไปด้วย โดยระบุทั้งตำแหน่ง หน้าที่ความรับผิดชอบ และจำนวนปีที่ทำงาน รวมทั้งผลงานเด่น ๆ ที่ทำออกมาจากตำแหน่งนั้น แต่ถ้าหากยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน สามารถเขียนถึงกิจกรรมและผลงานที่ทำในสมัยเรียนได้

  ทักษะพิเศษ

          ในส่วนนี้จะเป็นทักษะที่เอื้อต่อการทำงาน  เช่น ทักษะคอมพิวเตอร์ ทักษะด้านงานเอกสาร เช่น Microsoft Word, Mircrosoft Powerpoint, Adobe Photoshop หรือการใช้โปรแกรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ยิ่งมีทักษะมากเท่าไหร่ เรายิ่งได้เปรียบคู่แข่งมากเท่านั้น

  ภาษา

          ควรระบุภาษาที่สามารถพูดหรือเขียนได้ลงไป และเขียนเสริมลงไปด้วยว่า สามารถใช้ภาษาเหล่านั้นได้คล่องเเคล่วมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยควรมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 

  บุคคลอ้างอิง 

          บุคคลอ้างอิงในที่นี้ หมายถึงบุคคลที่ทางบริษัทที่จ้าง สามารถโทรไปสอบถามถึงการทำงานในอดีตได้ ส่วนใหญ่จะอ้างอิงถึงฝ่ายบุคคล แต่ข้อนี้จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้

  ระยะเวลาในการเริ่มงาน/เงินเดือนที่คาดหวัง

          ระยะเวลาในการเริ่มงานให้ระบุลงไปตามความเป็นจริง ว่าสามารถเริ่มงานได้เมื่อไหร่ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 เดือนหลังจากที่เข้าสมัครงานใหม่ ส่วนเงินเดือนที่คาดหวังนั้น สามารถระบุหรือไม่ระบุก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริษัทที่สมัครจะกำหนดหรือไม่


 ข้อควรระวังในการเขียนเรซูเม่ ภาษาไทย   


           เรซูเม่ไม่ควรยาวหรือสั้นมากเกินไป ขนาดความยาวปกติอยู่ที่ 1-2 หน้ากระดาษ ไม่ควรสั้นหรือยาวมากกว่านี้ สูงสุดประมาณ 3 หน้ากระดาษ ตัวอักษรไม่ควรเล็กหรือใหญ่จนเกินไป และไม่ควรใช้สีสันมากเกินไป อาจจะเน้นหัวข้อใหญ่ด้วยตัวหนาแทน

           ควรเขียนเรซูเม่ให้กระชับ และไม่เยิ่นเย้อจนเกินไป มีคำสำคัญอยู่อย่างครบถ้วน เช่น ศัพท์ที่ใช้ในวงการที่สมัครงาน หรือคุณสมบัติที่นายจ้างระบุ นอกเหนือจากนี้หากเห็นว่านายจ้างไม่ได้ระบุ หรือไม่มีความสำคัญ ให้ตัดทิ้ง

           ควรระมัดระวังเรื่องคำผิด ไม่ควรมีคำผิดหรือคำสะกดผิด เพราะเเสดงถึงความประมาทเลินเล่อ ไม่รอบคอบ

           ควรจัดรูปแบบเรซูเม่ให้อ่านง่าย สบายตา หลีกเลี่ยงการใช้กระดาษสี กระดาษหอม หรือสีสันที่ฉูดฉาดในเรซูเม่ เน้นเฉพาะหัวข้อเด่น ๆ เท่านั้น

           หากนายจ้างให้ระบุเงินเดือน ก็ควรระบุเงินเดือนที่คาดหวังเป็นช่วงเงินเดือน แต่หากนายจ้างไม่ได้ระบุ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องระบุ


ตัวอย่างแบบฟอร์มเรซูเม่ 


เรซูเม่ ภาษาไทย แบบที่ 1
 หลักในการเขียนเรซูเม่ ภาษาไทย
 

เรซูเม่ ภาษาไทย แบบที่ 2


หลักในการเขียนเรซูเม่ ภาษาไทย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หลักในการเขียนเรซูเม่ ภาษาไทย อัปเดตล่าสุด 10 พฤษภาคม 2559 เวลา 14:53:22 109,675 อ่าน
TOP
x close