x close

มจพ.เจ๋ง สร้าง หุ่นยนต์สำรวจสภาวะในฟาร์มเลี้ยงไก่


Robot chicken farm survey condition



Robot chicken farm survey condition



นักศึกษา มจพ.เจ๋งสร้างหุ่นยนต์ใช้งานได้จริงในฟาร์มเลี้ยงไก่ป้องกันการติดเชื้อ

          หุ่นยนต์สำรวจสภาวะในฟาร์มเลี้ยงไก่ (Robot chicken farm survey condition) นายปรัชญ์ ใจกว้าง นายศิวดล ยิ้มศรี นายธนดล บัวมะลิ นายชัยวัฒน์ หน่อเนื้อ และนางสาวหทัยพร สุดยอดดี นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.ดร.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี ได้รับรางวัลชนะเลิศ ฮาร์ดแวร์ ประเภทนักศึกษา จากการประกวดงานวิจัย พัฒนาและสิ่งประดิษฐ์ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี "รางวัลนวัตกรรมเทคโนโลยี ประจำปี 2554" 

          นายปรัชญ์ ใจกว้าง "น้องกล้วย" เล่าให้ฟังว่า หุ่นยนต์สำรวจสภาวะในฟาร์มเลี้ยงไก่ เป็นการออกแบบสร้างหุ่นยนต์เพื่อเก็บข้อมูล การสำรวจสภาวะในการเลี้ยงฟาร์มเลี้ยงไก่ ในระดับฟาร์มจำเป็นจะต้องมีการประมวลผลของสภาพโรงเลี้ยง ได้แก่ ความเร็วลมภายในโรงเลี้ยง อุณหภูมิในโรงเลี้ยง ความชื้นในโรงเลี้ยง การตรวจสอบแอมโมเนีย โดยวัดจากตัวเซ็นเซอร์ที่แปลงค่าเป็นไฟฟ้า การวัดอุณหภูมิปกติประมาณ 24-26 องศาหรือความชื้น และมีลักษณะเด่นคือการใช้สัตวบาลลดน้อย เป็นการนำปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเกษตรมาแก้ไขด้วยการใช้เทคโนโลยีการควบคุมอัตโนมัติ  สามารถควบคุมการเคลื่อนที่หุ่นยนต์ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ในระบบไร้สาย โดยสัตวบาลไม่ต้องสัมผัสกับไก่ในโรงเลี้ยงทำให้สามารถดูแลไก่พร้อม ๆ กัน หลาย ๆ โรงเลี้ยง

          หุ่นยนต์ใช้เวลาออกแบบ 2 เดือน มีกล้องที่ใช้สำรวจสภาวะในฟาร์มรวม 5 ตัว และการเชื่อมต่อด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลและแสดงผ่านจอในการวัดต่างๆ งบประมาณในการสร้างหุ่นยนต์สำรวจสภาวะในฟาร์มเลี้ยงไก่ประมาณ 100,000 บาท ด้วยรูปร่างหน้าตาสวยงามออกแบบโดยการใช้อลูมิเนียม มีน้ำหนัก 40 กิโลกรัม

          วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นนวัตกรรมการใช้เทคโนโลยีควบคุมอัตโนมัติกับงานด้านอุตสาหกรรมเกษตร การบริหารการเกษตร ด้วยการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินสภาในโรงเลี้ยงทำให้ตัดสินใจและหาวิธีป้องกันได้ทันที และยังเป็นนวัตกรรมการเลี้ยงผ่านกล้อง หรือภาพการเคลื่อนไหวในระยะทางไกล  ตลอดจนป้องกันปัญหาจากการติดเชื้อระหว่างไก่กับไก่ หรือคนกับไก่ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้เลี้ยงไก่ประสบปัญหาเรื่องการติดเชื้อ หรือไก่เป็นโรคไข้หวัดนก ที่สามารถทำอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ โดยการติดเชื้อผ่านทางสารคัดหลั่งหรือติดเชื้อผ่าน ทางคนเลี้ยงแต่กว่าจะออกมาเป็นหุ่นยนต์สำรวจสภาวะในฟาร์มเลี้ยงไก่ ที่ทำงานได้แม่ย้ำ  ก็ต้องทดลอง ทดสอบกันอยู่หลายหนในฟาร์มเลี้ยงไก่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ 
 
          นางสาวหทัยพร สุดยอดดี "น้องน้ำมนต์" น้องใหม่นักศึกษา ชั้นปี่ที่ 1 ได้พูดถึงความยากที่เจอมาเกี่ยวกับการออกแบบแขนหุ่นยนต์ เนื่องจากมันเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเลย ว่าจะทำการออกแบบอย่างไรให้จับไก่ที่ตายแล้วออกไปจากพื้นที่ที่กำลังสำรวจ ต้องประยุกต์และออกแบบวงจรไฟฟ้ากับเครื่องกลให้ได้ตามขนาดแขนของหุ่นยนต์ที่ต้องการ เช่นเดียวกับการนำหุ่นยนต์ไปทดสอบที่ภาคสนาม นั่นก็คือ ฟาร์มเลี้ยงไก่ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากหุ่นยนต์คือล้อไม่สมดุล ไม่เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้อง จึงพบว่าล้อยางที่นำมาใช้เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องแก้ไข   

          นายชัยวัฒน์ หน่อเนื้อ "น้องแชมป์"เสริมว่าต้องออกแบบล้อหุ่นยนต์ใหม่เพื่อให้สามารถเคลื่อนที่ได้ดีกว่านี้ ทุกคนจึงมีความเห็นตรงกันว่าต้องออกแบบเป็นใช้ "ล้อสเตอร์" ที่เกาะถนนได้ดีและเคลื่อนที่ไปได้ทุกสภาพ เพราะหุ่นยนต์เองก็สร้างมาจากอลูมิเนียมเกรดเอ  ทนต่อกรด และความชื้น ที่มีผลต่อวงจรต่าง ๆ 

          น้อง ๆ ทุกคนกล่าวว่า การลงมือสร้างหุ่นยนต์สำรวจสภาวะในฟาร์มเลี้ยงไก่ มันคือประสบการณ์ที่สอนให้เราได้ใช้วิชาความรู้มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ  เช่น การออกแบบ การได้ทดลองเขียนโปรแกรมระหว่างทำงาน ดีใจและประทับใจเมื่อทราบว่าได้รับรางวัลชนะเลิศ ฮาร์ดแวร์ ประเภทนักศึกษา

          การสร้างหุ่นยนต์สำรวจสภาวะในฟาร์มเลี้ยงไก่  ถือเป็นนวัตกรรมการสร้างหุ่นยนต์ทดแทนแรงงานคน  แบ่งเบาภาระสัตวบาล และทำงานแทนคนเลี้ยง เป็นการลดปัญหาที่จะเกิดจากการติเชื้อจากคนเลี้ยงสู่ไก่ หรือเกิดการติดเชื้อระหว่างโรงเลี้ยงกับโรงเลี้ยงเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากความเสียหายจากการตายของไก่จำนวนมากหรือการป้องกันด้วยการจับฆ่าไก่ทั้งหมด  เพียงแต่ในระบบเดิมใช้แรงงานคนตรวจวัดแล้วทำระบบการรายงานผล เนื่องจากในระบบโรงเลี้ยงจะเป็นต้องมีการตรวจสภาพ บ่อยครั้ง เพราะไก่เป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหวกับสภาพแวดล้อม การสร้างหุ่นยนต์ให้สามารถตรวจ สภาพเพื่อหาค่าตัวแปรต่าง ๆ แล้วทำให้เกิดความสะดวกในการเก็บข้อมูล ลดอัตราการตายของไก่ได้

          หุ่นยนต์สำรวจสภาวะในฟาร์มเลี้ยงไก่ นับว่ามีประโยชน์ที่จากการนำเทคโนโลยีช่วยในการสร้างให้เกษตรมีคุณภาพชีวิต และความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น  ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เข้าสู่ภาคเกษตร เพื่อทดแทนเกษตรกรที่สูงอายุและมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงลดการติดเชื้อของไก่ได้

          น้อง ๆ แอบกระซิบว่า ได้ส่งหุ่นยนต์สำรวจสภาวะในฟาร์มเลี้ยงไก่ เข้าประกวดในโครงการ "BRAND\'S Gen ฉลาดคิดแบบคนรุ่นใหม่" เปิดเวทีให้วัยรุ่นได้แสดงพลังสมอง ประลองไอเดียให้สุด ๆ ในแบบของตัวเอง และร่วมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แสดงศักยภาพสมองของเด็กไทยเข้าประกวด Brand Gen 2012 โดยมีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม 315 ซึ่งหุ่นยนต์สำรวจฯ ได้ผ่านการคัดเลือก 50 ทีมแล้ว โดยใช้ชื่อว่า ทีม BG 11  จึงเชิญชวนและขอคะแนนจากพี่น้องชาว มจพ. ร่วมโหวด ร่วมเชียร์และร่วมเป็นกำลังใจ สามารถโหวตได้ที่เว็บไซต์ http://www.brandsgen.com/
 


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ขวัญฤทัย ข่าว/ปราการ ถ่ายภาพ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มจพ.เจ๋ง สร้าง หุ่นยนต์สำรวจสภาวะในฟาร์มเลี้ยงไก่ อัปเดตล่าสุด 30 พฤษภาคม 2555 เวลา 17:36:51 1,493 อ่าน
TOP