
แนะนำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2527 นับเป็นคณะที่ 15 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากด้านการสอนแล้ว คณะศิลปกรรมศาสตร์ยังทำหน้าที่วิจัย บุกเบิก และพัฒนาวิชาการด้านศิลปกรรม รวมทั้งทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมตามนโยบายของมหาวิทยาลัย
ความเป็นมา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอโครงการ "ศิลปกรรมศาสตร์" ครั้งแรกในการสัมมนาหัวหน้าแผนกวิชาเรื่อง "การพัฒนาการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ระหว่างวันที่ 12 - 14 สิงหาคม 2514 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุขุม ศรีธัญญรัตน์ เป็นประธาน ได้เสนอในที่ประชุมให้ทราบในหลักการบางตอนว่า "โครงการที่เป็นโครงการใหม่ก็คือการพิจารณาจัดตั้งหน่วยวิชาการทางศิลปกรรม ศาสตร์ขึ้นในปี 2517 และการศึกษาข้อมูลเพื่อที่จะดำเนินการจัดตั้งคณะเกษตรศาสตร์ขึ้นในแผนพัฒนา ระยะที่ 4 ซึ่งจะเริ่มปีการศึกษา 2519 เป็นต้นไป ทั้งสองเรื่องนี้ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องพิจารณาอย่าง รอบคอบและเล็งเห็นการณ์ไกล คำว่าศิลปกรรมศาสตร์ที่ใช้นี้ เราหมายถึง Fine and Applied Arts ซึ่งมีคำแปลแยกกันที่ยังหาคำไทยเหมาะสมมาแปลร่วมกันมิได้ จึงขอใช้คำว่า ศิลปกรรมศาสตร์ไปพลางก่อน หน่วยงานวิชาการทางด้านศิลปกรรมศาสตร์นี้อาจครอบคลุมวิชาการทุกสาขาด้าน ศิลปะอย่างสมบูรณ์ เช่น วิจิตรศิลป์ เนรมิตศิลป์ ศิลปทฤษฎี หรือ ดุริยางค์ และศิลปการแสดง เป็นต้น
ในจุดที่ดูเหมือนจะเป็นช่องว่างของมหาวิทยาลัยของเราตลอดเวลาคือ เรื่องที่เกี่ยวกับศิลปะ รสนิยม และสุนทรียะ หน่วยงานใหม่ของเรานี้จะประสานงานและเกื้อกูลซึ่งกันและกันกับหน่วยวิชาการ เดิมของเราอย่างไร" และโครงการนี้ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยให้จัดอยู่ในแผนพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะที่ 3 พ.ศ. 2515 - 2519 ในปี 2517 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำโครงการศิลปกรรมศาสตร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นกรรมการที่ปรึกษา โครงการได้รับการพิจารณาให้อยู่ในแผนพัฒนาระยะที่ 4 พ.ศ. 2520 - 2525 สมัยของศาสตราจารย์ เติมศักดิ์ กฤษณามระ เป็นอธิการบดี โดยหลักการให้จัดตั้งเป็น "คณะศิลปกรรมศาสตร์" ประกอบด้วย 5 ภาควิชาคือ ทัศนศิลป์ นฤมิตศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ศิลปการละคร และวรรณศิลป์ ต่อมาคณะกรรมการได้พิจารณาให้ยุบเหลือเพียง 4 ภาควิชาคือ ทัศนศิลป์ นฤมิตศิลป์ ดุริยางคศิลป์และนาฏยศิลป์
คณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดทำการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีเป็นคณะที่ 15 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2526 เป็นปีแรก โดยเปิดเพียง 2 ภาควิชาคือ ภาควิชาทัศนศิลป์ และดุริยางคศิลป์ ต่อมา ปีการศึกษา 2528 เปิดรับนิสิตภาควิชานฤมิตศิลป์และปีการศึกษา 2531 เปิดรับนิสิตภาควิชานาฏยศิลป์ ตามลำดับ มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ วันที่ 2 มีนาคม 2527 คณะศิลปกรรมศาสตร์จึงถือเอาวันที่ 2 มีนาคม ของทุกๆ ปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาของคณะ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ผลิตศิลปินบัณฑิตที่มีความรู้ ความชำนาญ ด้านทักษะและความคิดสร้างสรรค์ เป็นผู้ริเริ่ม บุกเบิก แสวงหา คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และเป็นผู้ที่มีความรู้คู่คุณธรรม ศิลปินบัณฑิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สามารถประกอบอาชีพอิสระหรือทำงานในองค์กรเอกชน รัฐวิสาหกิจและราชการได้เป็นอย่างดี

หลักสูตรการศึกษา



- สาขาจิตรกรรม
- สาขาประติมากรรม
- สาขาภาพพิมพ์
- สาขาภาพถ่าย

- สาขาเรขศิลป์
- สาขาหัตถศิลป์
- สาขามัณฑนศิลป์
- สาขานิทรรศการศิลป์

- สาขาดุริยางคศิลป์ตะวันตก
- สาขาดุริยางคศิลป์ไทย

- สาขานาฏยศิลป์



- สาขาเรขศิลป์
- สาขาแฟชั่นและสิ่งทอ

- สาขาการประพันธ์เพลง (หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต)
- สาขาดุริยางคศิลป์ไทย (หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต)

- สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย



- สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย


คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาคารบรมราชกุมารี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน
เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
เบอร์โทรศัพท์ : 02-218-4568 , 02-218-4579
เว็บไซต์ : http://www.faa.chula.ac.th/
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก