เห็ดเรืองแสง Neonothopanus nimbi
เห็ดเรืองแสง Neonothopanus nimbi
นักวิจัยมข.พบเห็ดเรืองแสง ใช้ควบคุมโรคในพืช บำบัดมะเร็ง
ครั้งแรกในประเทศไทย..นักวิจัยมข.พบเห็ดเรืองแสง มีฤทธิ์ควบคุมโรคในพืช บำบัดมะเร็ง
มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดแถลงข่าวนักวิจัย มข. พบสื่อมวลชน ในเรื่อง เทคนิคการใช้ประโยชน์จากสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของเห็ดเรืองแสง Neonothopanus nimbi ที่พบในเขตโคกภูตากา เพื่อป้องกันกำจัดโรครากปมในมะเขือเทศ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นประธานในการจัดแถลงข่าว
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุทธิพันธ์ กล่าวถึงความเป็นมาของการค้นพบเห็ดเรืองแสงว่า เนื่องจากหน่วยงานในมหาวิทยาลัยขอนแก่น หลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานโครงการพระราชดำริ ศูนย์บริการวิชาการ ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ได้เข้าไปดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูอนุรักษ์พันธุ์พืช และศึกษาถึงประโยชน์ของพืชแต่ละชนิด หลายโครงการที่ "โคกภูตากา" ซึ่งเป็นป่าเต็งรังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาถูกชาวบ้านบุกรุกแผ้วถางทำกิน จึงมีการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืช และถวายเป็นโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เมื่อปีพ.ศ. 2542 เป็นต้นมา
จนกระทั่งปี พ.ศ.2545 รศ.ดร. วีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริรัตน์ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมทีมนักวิจัยจากสาขาโรคพืชวิทยา ภาควิชาพืชศาสตร์ และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรเพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยขอนแก่นประกอบด้วย รศ.ดร.สมเดช กนกเมธากุล ผศ.ดร.อนันต์ หิรัญสาลี ดร.รัศมี เหล็กพรหม นายวีรวัตร นามานุศาสตร์ ดร.สุรีย์พร บัวอาจ และนางสาวสุวิตา แสไพศาล ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่โคกภูตากา เพื่อศึกษาถึงความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดในพื้นที่โคกภูตากา จึงได้ค้นพบเห็ดเรืองแสง พบว่าเป็นเห็ดในยุคดึกดำบรรพ์ และได้นำเห็ดดังกล่าวไปทำการวิจัย
รศ.ดร. วีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริรัตน์ ผู้นำทีมวิจัย เปิดเผยว่า ถือเป็นการรายงานครั้งแรกในประเทศไทย ในการค้นพบเห็ดเรืองแสงชนิดนี้ เป็นเห็ดที่มีลักษณะคล้ายกับเห็ดนางรม จัดเป็นเห็ดมีพิษ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Neonothopanus nambi พบได้ในบริเวณที่มีความชื้นสูง โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกหนักในรอบปีคือช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม โดยขึ้นบนรากไม้หรือกิ่งไม้ที่ตายเป็นกลุ่มๆ ละ 4 -5 ดอก โดยจะมีแสงเปล่งออกมาในเวลากลางคืนเท่านั้น สามารถมองเห็นได้จากระยะไกลถึง 10 - 20 เมตร นอกจากนั้น ยังค้นพบเห็ดเรืองแสงในพื้นที่ป่าในเขตมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกด้วย จึงจำแนกสายพันธุ์เห็ดชนิดนี้เป็น Neonothopanus nambi สายพันธุ์ KKU 1 และ KKU 2
รศ.ดร. วีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการศึกษา พบว่าสามารถจำแนกสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญนั่นคือ สารพิษของเห็ดเรืองแสงจากเส้นใยของเห็ดและน้ำเลี้ยงเชื้อ (culture filtrate) มีชื่อทางเคมีว่า Aurisin A (ออริซิน เอ) ในด้านการเกษตร สามารถควบคุมโรครากปมในมะเขือเทศได้ถึง 70-85 % โดยการนำเอาเส้นใยของเห็ดเรืองแสงที่เลี้ยงในขี้เลื่อยผสมรำข้าวในอัตรา 20-30 กรัมต่อมะเขือเทศหนึ่งต้น หรือใช้สาร aurisin A เข้มข้น 100 - 500 ppm (ส่วนในล้าน) ถือว่าเป็นการค้นพบครั้งแรกของโลกจากเห็ดเรืองแสงชนิดนี้ ที่นำสารออกฤทธิ์ aurisin A มาใช้ควบคุมโรครากปมในมะเขือเทศ
จากฟอร์มที่สวยงามของเห็ดเรืองแสง ยังเป็นความแปลกใหม่หากนำมาใช้จัดตกแต่งสวนให้เกิดความแปลกใหม่ในยามค่ำคืน หรือนำไปตัดต่อเอายีนจากเห็ดเรืองแสงไปส่งถ่ายในต้นไม้ตามแนวถนนเมื่อมีการเปล่งแสงในตอนกลางคืน นอกจากความสวยงามแล้วอาจเพิ่มทัศนวิสัยที่ดีในการมองเห็น และอาจประหยัดพลังงานไฟฟ้าส่องสว่างตามถนนลงได้ ในด้านการแพทย์ ยังมีแนวทางนำสารออกฤทธิ์ดังกล่าวมาใช้ในการบำบัดโรคมะเร็งอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าว-ภาพ : นภา อาษารัฐ