เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการเรื่องเล่าเช้านี้
สทศ. ยืนยันข้อสอบ O-net วิชาสุขศึกษา ออกตรงตามหลักสูตรที่กำหนด พร้อมยอมรับโจทย์รุนแรงเกินไป
จากกรณีที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับข้อสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-net) ว่า ข้อสอบมีความกำกวม และโจทย์คำถามไม่เหมาะสมที่จะวัดความรู้ ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (23 กุมภาพันธ์) นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. ได้ออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จากกระแสข่าวดังกล่าว ตนเห็นว่าข้อสอบหลายข้อมีความไม่เหมาะสม เช่น ข้อสอบสุขศึกษาที่ถามว่า "หากเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมาต้องทำอย่างไร" ซึ่งตนขอชี้แจงว่า ข้อสอบดังกล่าวออกตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2554 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของผู้เรียนจบช่วงชั้นที่ 4 (ม.6) โดยมีจุดเน้นเอาไว้ อาทิ การแสดงออกถึงความรัก, ความเอื้ออาทร, ความเข้าใจในอิทธิพลของครอบครัว, เพื่อน, สังคม, วัฒนธรรมที่มีต่อพฤติกรรมทางเพศ, การดำเนินชีวิตและวิถีชีวิตที่มีความสุข เป็นต้น
นายสัมพันธ์ กล่าวต่อว่า หลังจากข่าวดังกล่าว ตนได้เรียกผู้ออกข้อสอบนี้มาชี้แจงแล้ว และพบว่า เนื้อหาเป็นไปตามหลักสูตรที่ สทศ. เคยประกาศไว้ ซึ่งเป็นเนื้อหาวัดความจำที่อยู่ในตำรา แต่ทั้งนี้ตนคิดว่า ประชาชนและสังคมคงมองว่าข้อสอบดังกล่าวไม่เหมาะสม ซึ่งทาง สทศ. เองก็ยอมรับว่าเนื้อหาของโจทย์ค่อนข้างรุนแรงเกินไป
ผู้อำนวยการ สทศ. ยังกล่าวต่อว่า ส่วนข้อสอบที่ถามว่า "ข้อใดเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศที่เรียกว่า ลักเพศ" โดยมีตัวเลือก
ก.การมีความสุขทางเพศกับการสะสมชุดชั้นในเพศตรงข้าม
ข.การมีความสุขทางเพศกับการสวมชุดของเพศตรงข้าม
ค.การมีความสุขทางเพศกับการแอบมองตามห้องน้ำ
ง.การมีความสุขทางเพศกับเพศเดียวกัน
จ.การมีความสุขทางเพศกับการอวดอวัยวะเพศ
ทั้งนี้ คำตอบที่ถูกต้องคือข้อ ข. การมีความสุขทางเพศกับการสวมชุดของเพศตรงข้าม ซึ่งโจทย์ดังกล่าวก็มีเนื้อหาอยู่ในหลักสูตรเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ทาง สทศ. จะประกาศผลสอบ O-net ชั้น ม. 6 ในวันที่ 10 เมษายน ส่วนการสอบ O-net ชั้น ป.6 จะสอบวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และชั้น ม.3 จะสอบวันที่ 28-29 กุมภาพันธ์ และประกาศผลพร้อมกันวันที่ 28 เมษายน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
[21 กุมภาพันธ์] อีกแล้ว! O-net กำกวม ถามเกิดอารมณ์ทางเพศต้องทำไง
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการเรื่องเล่าเช้านี้
เป็นประเด็นที่ต้องนำมาถกกันทุกปี สำหรับการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือที่เรียกกันว่า O-net ที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพิ่งสอบไปเมื่อวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยเด็กนักเรียนทั้งหลายเมื่อเจอข้อสอบแล้ว เป็นอันต้องอึ้ง งงเป็นไก่ตาแตก เพราะข้อสอบนั้นมีข้อคำถามที่กำกวม... จนไม่สามารถตัดสินใจเลือกคำตอบที่ถูกต้องได้... และเมื่อออกจากห้องสอบ ข้อคำถามดังกล่าว ก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงกัน โดยเหล่านักเรียนชั้นม. 6 ได้จำข้อคำถามดังกล่าว แล้วนำเอาไปโพสต์ลงที่เว็บไซต์ต่าง ๆ
โดยเฉพาะข้อสอบสุขศึกษาที่ถูกถามถึงเป็นอย่างมาก คือ ..
หากเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมาต้องทำอย่างไร"
ก.ชวนเพื่อนไปเตะบอล
ข.ปรึกษาครอบครัว
ค.พยายามนอนให้หลับ
ง.ไปเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศ
จ.ชวนเพื่อนสนิทไปดูหนัง
"เป็นแฟนกันต้องแสดงออกยังไงให้ถูกประเพณีไทย"
ก.เดินโอบไหล่ซื้อของ
ข.ชวนไปทานข้าวดูหนัง
ค.นอนหนุนตักในที่สาธารณะ
ง.ชวนกันไปทะเลค้างคืน
จ.ป้อนข้าวกันในร้านอาหาร
"อาการลักเพศจะมีพฤติกรรมแสดงออกมาอย่างไร"
ก.สะสมชั้นในเพศตรงข้าม
ข.แต่งกายเลียนแบบเพศตรงข้าม
ค.รักกับเพศเดียวกัน
ง.โชว์อวัยวะเพศ
จ.แอบดูเพื่อนต่างเพศในห้องน้ำ
ข้อสอบวิทยาศาสตร์ที่ถูกถามถึงเป็นอย่างมาก คือ ..
"ชาวบ้านเจอวัตถุประหลาด ลักษณะกลม ๆ นิ่ม ๆ ต้องให้กินน้ำไม่งั้นจะหดเล็กลงเป็นก้อนแข็ง ๆ แต่พอให้น้ำจะกลับสภาพเดิม สิ่งนั้นคืออะไร "
ก.ไข่พญานาค
ข.ไข่สลาแมนเดอร์ยักษ์
ค.หินเขี้ยวหนุมาน
ง.เม็ดชานมไข่มุก
จ.เจลดินวิทยาศาสตร์
จากข้อคำถามดังกล่าว ล่าสุด วานนี้ (20 กุมภาพันธ์) นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตนยังไม่เห็นข้อสอบจึงไม่สามารถแสดงความเห็นได้ในเรื่องนี้ แต่การออกข้อสอบทุกข้อทุกวิชา จะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เพื่อวัดผลอยู่แล้ว และต้องมีมาตรฐาน ต้องผ่านการกลั่นกรองหลายขั้นตอนกว่าจะมาเป็นข้อสอบ 1 ข้อ
อย่างไรก็ตาม นายสมหวัง กล่าวต่อว่า ในส่วนของตัวข้อสอบนั้น ถึงแม้ว่าตนจะมีตำแหน่งเป็นประธานบอร์ด สทศ. แต่ไม่มีสิทธิพิเศษที่จะเห็นข้อสอบก่อนการสอบ จะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่รับผิดชอบในส่วนนี้ ซึ่งคนที่จะให้ข้อมูลได้ดีที่สุดคือ นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ. เพราะเป็นผู้กำกับดูแลทั้งหมด แต่ถ้าหากมีนักเรียนคนไหนมีข้อคำถามเกี่ยวกับข้อสอบ ขอให้เสนอเข้ามาที่นายสัมพันธ์ได้เลย
ขณะที่ นางอุทุมพร จามรมาน ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการแผ่นดิน อดีต ผอ.สทศ. ให้สัมภาษณ์ว่า ปกติข้อสอบที่ดีต้องไม่กำกวม และข้อสอบต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งสมัยตนดำรงตำแหน่งเคยมีข้อสอบสุขศึกษาและพลศึกษาเป็นที่ที่ฮือฮาเหมือนกัน โดยถามว่า "ถ้าตั้งครรภ์แล้วที่ถูกต้องควรไปหาใคร" ซึ่งก็มีนักเรียนท้วงติงมา แต่ถ้าจริง ๆ แล้วนักเรียนอ่านหนังสือมาจริง ๆ ก็จะทราบว่า คำตอบต้องตอบว่า "ไปหาพ่อแม่" ซึ่งเด็กส่วนมากเลือกตอบ "ไปหาเพื่อน" ซึ่งเป็นการคิดในสังคมปัจจุบัน
ส่วนคำถามในปีนี้ที่ถามว่า "หากเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมาต้องทำอย่างไร" นางอุทุมพร กล่าวว่า คำตอบที่ถูกต้องคือ "ปรึกษาครอบครัว" ซึ่งข้อสอบเหล่านี้เป็นข้อสอบที่แสดงถึงข้อเท็จจริง ต้องตอบอิงความเป็นจริงที่ถูกต้อง ไม่ใช่ตอบตามความเป็นจริงในสังคม และตนคิดว่า เรื่องนี้คุณครูจะต้องสอนตามข้อเท็จจริงอยู่แล้ว ตนจึงคิดว่า ข้อสอบดังกล่าว ออกได้ เพราะโอเน็ตเป็นข้อสอบที่วัดผลการเรียนการสอน ไม่ได้วัดผลตามการใช้ชีวิต
ทางด้าน นางสาวเพชรไพริน ทองพหุสัจจะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวว่า ข้อสอบโอเน็ตในปีนี้ สำหรับวิชาสุขศึกษา ตนคิดว่าไม่ยาก แต่ตัวเลือกทั้ง 5 ข้อค่อนข้างกำกวม เช่นข้อที่ถามว่า เมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมาต้องทำอย่างไร มีตัวเลือกที่ชวนเพื่อนไปเตะบอล ซึ่งตนเป็นผู้หญิง ตนก็ไม่เลือกข้อนั้่นอยู่แล้ว และตนก็ไม่รู้ข้อไหนเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ผู้หญิง และผู้ชาย อาจจะตอบไม่เหมือนกันก็ได้ ตนจึงไม่แน่ใจว่า ข้อความวัดอะไร แต่ที่แน่ ๆ คือข้อสอบข้อนี้กำกวมมาก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก