x close

คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


แนะนำคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


แนะนำคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นคณะสหเวชศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2534 เป็นคณะลำดับที่ 17 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

   ประวัติความเป็นมา

          เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ขอโอนคณะเทคนิคการแพทย์ส่วนที่ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปรวมกับสาขาวิชาพยาธิวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตั้งเป็นแผนกวิชาเวชศาสตร์ชันสูตร โดยยังไม่เป็นที่ตกลง แต่มีมติที่ประชุมร่วมของทั้งสองมหาวิทยาลัยให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์รับนักศึกษา ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2513-2514 จำนวน 70 คน โดยให้นักศึกษาจำนวน 30 คนสมัครใจไปศึกษาต่อชั้นปีที่ 3 ในส่วนที่อยู่บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          เมื่อ พ.ศ. 2514 เกิดการปฏิวัติการปกครองแผ่นดินขึ้น และได้มีประกาศของคณะปฏิวัติให้โอนคณะเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไปเป็น "แผนกวิชาเวชศาสตร์ชันสูตร" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ต่อมา ในปี พ.ศ. 2521 ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ศริพร วณิเกียรติ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ แต่งตั้งคณะทำงานขอข้อมูลเรื่องการศึกษาสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ โดยคณะแพทยศาสตร์ได้เสนอโครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ แต่ได้รับการบรรจุให้ดำเนินการจัดตั้งเป็น "ภาควิชาเทคนิคการแพทย์" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทน

          รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ยาใจ ณ สงขลา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มีคำสั่งลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำโครงการการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์อีกครั้ง โดยทางมหาวิทยาลัยเห็นว่า คณะใหม่ควรจะประกอบด้วยหลายสาขาวิชา คณะกรรมการจึงได้พิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมว่าควรจะมีสาขาวิชาที่เป็นกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพอยู่ด้วยกัน เช่น สาขาวิชากายภาพบำบัด สาขาวิชารังสีเทคนิค ดังนั้น จึงพิจารณาเรื่องชื่อของคณะใหม่ โดยได้เรียนเชิญศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ทองจันทร์ หงส์ลดารมย์ มาร่วมพิจารณาด้วย และนำเสนอชื่อคณะหลากหลาย ในที่สุด คณะกรรมการมีมติเห็นชอบว่าสมควรจะเป็นชื่อ "คณะสหเวชศาสตร์" และใช้ชื่อทางภาษาอังกฤษว่า "The Faculty of Allied Health Sciences"

          คณะแพทยศาสตร์จึงได้มีประกาศลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2529 แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ เพื่อรับผิดชอบในการผลิตบัณฑิตสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ จำนวนปีละ 60 คน สาขาวิชากายภาพบำบัดจำนวนปีละ 30 คน สาขาวิชารังสีเทคนิคจำนวนปีละ 30 คน และจะต้องเพิ่มจำนวนการผลิตบัณฑิตขึ้นอีกตามความต้องการของประเทศในด้านการพัฒนาสาธารณสุข

          ในการประชุมของคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ได้มีมติเห็นชอบในการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์โดยให้แยกออกมาจากภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534

  สีประจำคณะ   :   สีม่วงคราม

  สัญลักษณ์   :    งูพันเป็นรูป AHS บนฝ่ามือ

  หลักสูตรการศึกษา  

          ระดับปริญญาตรี

           สาขาเทคนิคการแพทย์
           สาขากายภาพบำบัด
           สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร

          ระดับปริญญาโท

           สาขาวิชาชีวเคมีคลินิกและอณูทางการแพทย์
           สาขาวิชากายภาพบำบัด
           สาขาวิชาวิทยาศาสตร์โลหิตวิทยา
           สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ (นานาชาติ)
           สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ระดับโมเลกุลทางจุลชีววิทยาทางการแพทย์และวิทยาภูมิคุ้มกัน (หลักสูตรพิเศษ นอกเวลา)

          ระดับปริญญาเอก

           สาขาวิชาชีวเคมีคลินิกและอณูทางการแพทย์
           สาขาวิชากายภาพบำบัด
           สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ (นานาชาติ)
           สาขาชีวเวชศาสตร์ (สหสาขา) 


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

          คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          เลขที่ 154  อาคารจุฬาพัฒน์ 1 ถนนพระราม 1
          แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพ  10330

          เบอร์โทรศัพท์ : 02-2181065 
          โทรสาร : 02-2181064
          เว็บไซต์  : http://www.ahs.chula.ac.th


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 15:11:04 3,396 อ่าน
TOP