x close

มทร.ธัญบุรี แนะเทคนิคกู้ชีพต้นไม้ หลังน้ำท่วม





กู้ชีพต้นไม้  มทร.ธัญบุรี 
แนะเทคนิคช่วยชีวิตต้นไม้


          หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้กับหลายจังหวัดที่โดนน้ำท่วม ข้าวของเครื่องใช้ตามบ้านช่องเกิดความเสียหาย บ้างบ้านต้องทิ้ง และที่ได้รับความเสียหายจากภัยครั้งนี้ คือ ต้นไม้ กว่าที่ต้นไม้ 1 ต้น จะโตขึ้นมาให้ร่มเงาใช้เวลาหลายปี เมื่อน้ำท่วมเป็นเวลานาน ๆ ต้นไม้ก็ต้องตาย เนื่องจากในดินไม่มีอากาศ ให้รากสามารถดูดน้ำขึ้นมา ทำให้ต้นไม้ค่อย ๆ ตายลง "ต้นไม้ก็เหมือนกับมนุษย์ ไม่มีอากาศหายใจก็ตาย" จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือชีวิตต้นไม้ อ.วีระพงษ์ ครูส่ง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมดินและน้ำ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จึงได้แนะนำเทคนิคการ "กู้ชีพต้นไม้" ให้ทราบ

          อ.วีระพงษ์ เล่าว่า บางคนคิดว่า เมื่อน้ำลดลงใหม่ ๆ จนเห็นผิวดินแล้ว ต้นไม้น่าจะรอด แต่ใครจะคิดว่าใต้ดินยังคงมีน้ำอยู่เต็ม ทำให้รากของต้นไม้ไม่สามารถดูดน้ำ ดูดอาหารมาใช้ได้ ส่งผลให้ต้นไม้ตายลง เนื่องการในกระบวนการดูดน้ำของรากต้องการอากาศหรือออกซิเจนด้วย สำหรับเทคนิคการกู้ชีพต้นไม้ หลักการง่าย ๆ คือ การลดระดับน้ำใต้ดินลง เพื่อให้เขตรากของต้นไม้มีช่องว่างหรืออากาศด้วยนอกจากน้ำ รากจึงจะสามารถดูดสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ ระดับน้ำใต้ดินที่ปลอดภัยสำหรับรากสามารถดูดน้ำขึ้นมาใช้ได้ประมาณ 1 เมตร


          สำหรับต้นไม้ที่สามารถกู้ชีพได้ สังเกตดูจากลักษณะของใบแม้จะเหี่ยวแต่ยังคงเขียวอยู่ ถ้าใบไม้แห้งร่วงแสดงว่าตายแล้วไม่สามารถฟื้นคืนมาได้ สำหรับต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณบ้านหรือตามสถานที่ต่าง ๆ เริ่มจากการการขุดหลุมใกล้  ๆ ต้นไม้ โดยขุดให้เลยทรงพุ่มออกมา เพื่อไม่ให้โดนรากของต้นไม้ ปากหลุมกว้างตามความเหมาะสมพอให้สามารถสูบน้ำได้ ลึกประมาณ 1 - 1.50 เมตร จากนั้นใช้ปั้มน้ำไดรโว่หรือเครื่องสูบน้ำทั่ว ๆ ไป คอยสูบน้ำในหลุมออกทิ้งไปเรื่อย ๆ ระดับน้ำใต้ดินก็จะค่อย ๆ ลดลง

          ถ้าต้องการลดระดับน้ำใต้ดินให้เร็วขึ้นก็ขุดหลุมถี่ ๆ (แต่ก็เปลืองแรงงานและพื้นที่) แต่ควรระวังรากของต้นไม้ ส่วนที่เป็นไร่เป็นสวน มีต้นไม้จำนวนมาก ถ้าขุดเป็นหลุมแต่ละต้นคงไม่ไหว แนะนำให้ขุดเป็นร่องยาว ความกว้างและลึกขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ ซึ่งยิ่งลึกน้ำใต้ดินก็จะลดลงเร็ว ลักษณะของการขุดจะขุดเป็นร่องยาวขนานไปกับต้นไม้ ซึ่งถ้าอยู่ใกล้แหล่งน้ำก็ให้ขุดร่องยาว จนไปถึงแหล่งน้ำเพื่อปล่อยน้ำลงแหล่งน้ำ แต่ถ้าไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ก็ใช้ปั้มน้ำสูบน้ำออก   

          โดยเทคนิคดังกล่าวได้ลองนำไปใช้และเห็นผล สามารถกู้ชีพ ช่วยเหลือต้นไม้ได้ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวเป็นเทคนิคง่าย ๆ ที่ใครก็สามารถนำไปใช้ได้ อย่างน้อยต้นไม้ที่ตั้งใจปลูกเพื่อให้ร่มเงาในบ้าน จะได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผู้ใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 081 302 4182


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี

      

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มทร.ธัญบุรี แนะเทคนิคกู้ชีพต้นไม้ หลังน้ำท่วม โพสต์เมื่อ 11 ธันวาคม 2554 เวลา 14:42:25
TOP