x close

เภสัช มช. วิจัยแยกกัญชงจากกัญชา สู่สุขภาพและความงาม





เภสัช มช. วิจัยแยกกัญชงจากกัญชาพัฒนาพืชเส้นใยสู่สุขภาพและความงาม

           เมื่อเอ่ยถึงชื่อกัญชง ผู้คนทั่วไปจะนึกถึงกัญชา โดยไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้ แต่หากพูดถึงเสื้อผ้าเส้นใยกัญชง ก็จะมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่หลงใหลเสื้อผ้าวัฒนธรรมของพี่น้องชนเผ่า ซึ่งร่ำลือกันนักหนาว่า ผ้าใยกัญชงนั้น สวยงามแปลกตาและมีเสน่ห์ของอาภรณ์ที่คนพื้นราบ ไม่สามารถเลียนแบบได้ และนี่คือที่มาของการวิจัย เรื่อง กัญชง(Hemp)อนาคตพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูงของประเทศไทย จนค้นพบคุณค่าด้านอาหารสุขภาพและประโยชน์เพื่อด้านเครื่องสำอาง พร้อมชี้ถึงเวลายกระดับเป็นอุตสาหกรรมเส้นใยกัญชง

           ทีมนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รศ.ดร.ภก.สุรพล นธการกิจกุล และนักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, สำนักงาน ป.ป.ส., องค์การสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและ บริษัท มินเทค แล็ปบอราทอรี่ จำกัด กรุงเทพฯ ได้ร่วมกันบูรณาการงานวิจัย กัญชงหรือเฮมพ์ (Cannabis sativa L.var. sativa) ซึ่งเป็นพืชที่ได้รับการส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูงโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พ.ศ. 2552-2556 ผ่านมูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน)

           ในการวิจัยกัญชงครั้งนี้ รศ.ดร.ภก.สุรพล เผยว่า เนื่องจากพืชกัญชงถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับกัญชา(Marijuana) ซึ่งเป็นพืชสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522  คณะผู้วิจัยจึงได้นำเสนอแนวทางในการตรวจสอบทางเคมีและกายภาพโดยอาศัยปริมาณสารสำคัญ  และประเมินวิธีมัลติเพล็กซ์พีซีอาร์สำหรับใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์เพื่อแยกเฮมพ์ประเภทเสพติดและประเภทเส้นใยของพืชกัญชง ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเงินรายได้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามสารเสพติด (ปปส.) 

           ถือเป็นการวิจัยต่อยอดจากพืชที่มีการดั้งเดิมในความเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายและถือเป็นหัตกรรมชุมชนที่นำเอาต้นกัญชงมาทำเป็นเส้นใยผ้า และนำมาถักทอ ตกแต่งลวดลายศิลป์ตามแบบฉบับของชนเผ่าต่างๆทางภาคเหนือ กัญชงจึงเป็นพืชดั้งเดิมที่มีการใช้ประโยชน์ตามประเพณีและรูปแบบชนเผ่า

           ความเหมือนและความแตกต่างทางพฤกษศาสตร์ของกัญชงและกัญชาคือ พืชกัญชงและกัญชา มีต้นกำเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกันโดยมีชื่อทางพฤกษศาสตร์เดียวกันคือ Cannabis sativa L. แต่มี subspecies แตกต่างกัน โดยกัญชง(Hemp)มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Cannnabis sativa L. Subsp. sativa ส่วนกัญชา (Marijuana)มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Cannnabis sativa L. Subsp. indica (Lam.) E. Small & Cronquist  ลักษณะภายนอกของพืชทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกันน้อยมากจึงยากในการจำแนก 

           ลักษณะต้นกัญชงจะสูง กิ่งก้านน้อย มักสูงมากกว่า 2-3 เมตร ส่วนของยอดช่อดอกและใบกัญชงจะมีลักษณะเรียวเล็ก มีการเรียงสลับของใบค่อนข้างห่างกันชัดเจนและไม่มียางเหนียวติดมือ ต่างกับต้นกัญชา ซึ่งจะมีลำต้นเตี้ยกิ่งก้านมาก สูงไม่เกิน 2 เมตร แต่ใบกัญชาใหญ่กว้าง ใบเรียงตัวชิดกันหรือเรียงเวียนเป็นพุ่มโดยเฉพาะใบประดับบริเวณช่อดอกจะเห็นได้ชัดเจนและมักมียางเหนียวติดมือ  กัญชงเส้นใยมีคุณภาพสูง โดยปลูกระยะห่างระหว่างต้นน้อยเพราะเน้นเอาเส้นใย  ส่วนกัญชาปลูกระยะห่างระหว่างต้นมากเพราะเน้นเอาใบ

           ปัจจุบันประเทศไทยยังจำแนกกัญชงหรือเฮมพ์เป็นพืชเสพติดประเภท 5 จำพวกเดียวกับกัญชา ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เนื่องจากสารสำคัญในพืชกลุ่มกัญชาและกัญชง มี 3 ชนิด คือ 9-tetrahydrocannabinol(THC), Cannabinol(CBN) และ Cannabidiol(CBD) ซึ่งสาร THC เป็นสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาททำให้ผู้เสพมีอาการตื่นเต้น ช่างพูด หัวเราะตลอดเวลา  ส่วน CBD เป็นสารต้านการออกฤทธิ์ของ THC ในกัญชงมีปริมาณ THC ต่ำมากและมีปริมาณ CBD สูงกว่า THC  แต่กัญชามีปริมาณ THC สูงถึง 2-15% และมีปริมาณ THC สูงกว่า CBD 

           ทีมวิจัย นักศึกษาปริญญาโท คณะเภสัชศาสตร์ นายสมคิด ธิจักร ได้ใช้วิธีมัลติเพล็กซ์พีซีอาร์สำหรับใช้ในการแยกเฮมพ์ประเภทเสพติดและประเภทเส้นใย โดยอาศัยหลักการเพิ่มปริมาณชิ้นส่วนดีเอ็นเอเป้าหมายสองตำแหน่งพร้อมกันด้วยไพรเมอร์สองคู่ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ผลแม่นยำ และสามารถแยกจำเพาะต่อกัญชงและกัญชา  

           ในหลายประเทศสามารถปลูกกัญชงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต้องควบคุมให้มีสารเสพติดคือ THC ในปริมาณที่กำหนด เช่น ในประเทศแคนาดากำหนดให้มีสารเสพติด THC ในกัญชงไม่เกิน 0.3 % ส่วนประเทศทางยุโรปกำหนดให้มีไม่เกิน 0.2 % ประเทศออสเตรเลียกำหนดให้ไม่เกิน 0.5 – 1 % สำหรับประเทศไทยยังไม่มีเกณฑ์หรือมาตรการควบคุม หากในอนาคตมีการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปลูกกัญชงได้ถูกต้องตามกฎหมาย  ดังนั้นการจำแนกกัญชาออกจากกัญชงจึงมีความสำคัญมาก  

           ในการศึกษาครั้งนี้ได้นำพืชกัญชงที่ปลูกในเขตจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษานักศึกษาปริญญาเอก คณะเภสัชศาสตร์ ภญ.ประภัสสร ทิพย์รัตน์ พบว่า พืชกัญชงต่างสายพันธุ์และต่างแหล่งพื้นที่ปลูกจะมีลักษณะองค์ประกอบของสารสำคัญแตกต่างกัน และเมื่อเทียบกับกัญชาก็พบว่ามีความแตกต่างจากกัญชามากโดยพืชกัญชาจะมีปริมาณ THC เฉลี่ยค่อนข้างสูงกว่ากัญชงมากและค่าอัตราส่วน CBD:THC ต่ำมาก  

           อย่างไรก็ตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสายพันธุ์และผลผลิต  รศ.อาคม กาญจนประโชติ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่ามีความสัมพันธ์กับวิธีการปลูกและระยะเวลาที่เก็บเกี่ยว ความสูงจากระดับน้ำทะเล อุณหภูมิ แสงแดดและปริมาณน้ำฝน จะมีผลต่อผลผลิตและปริมาณ THC   จากสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยค่อนข้างร้อนทำให้ปริมาณ THC ของเฮมพ์ที่ปลูกในประเทศไทยค่อนข้างสูง  

           นอกจากนี้ผู้วิจัยได้สกัดน้ำมันเมล็ดกัญชงมาทดสอบคุณสมบัติทางเคมีกายภาพ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ตลอดจนวิเคราะห์หาปริมาณกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่จำเป็น (EFAs)  ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น alpha- linoleic acid (Omega 3), linoleic acid (Omega 6), linoleic acid,  alpha- และ gamma-linolenic acid,  oleic acid (Omega 9) และสารกลุ่มวิตามิน เช่น vitamin E ซึ่งเป็นสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดและชะลอการเกิดมะเร็งได้ ทีมวิจัยยังได้พัฒนาตำรับครีมน้ำมันกัญชงให้ความชุ่มชื้นและบำรุงผิวแห้งเพื่อรักษาโรคผิวแห้งคันและสะเก็ดเงินได้ผลดี

           นอกจากการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เภสัชกรรมแล้ว รศ.ดร.ภก.สุรพล ยังได้กล่าวถึงภูมิปัญญาวัฒนธรรมและการใช้ประโยชน์จากเส้นใยของกัญชงของชนเผ่าพบว่า มีการใช้ลำต้นมาลอกเปลือกออกจากต้น แล้วนำมาต่อให้ยาวแล้วม้วนให้เป็นเส้น ก่อนนำไปต้มในน้ำเดือดที่ผสมกับขี้เถ้าเพื่อให้เกิดการนุ่มและเหนียวก่อนนำมาถักทอเป็นวัสดุสำหรับผ้าใยกัญชง ซึ่งตลาดหลักของเส้นใยกัญชงในปัจจุบันคือ ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเส้นใยที่ใช้ในการทำเสื้อผ้าและทำเยื่อกระดาษ  เส้นใยกัญชงที่นำมาถักทอเป็นเสื้อผ้านั้นได้รับความนิยมมาก และยังสามารถซักด้วยเครื่องซักผ้าได้ โครงสร้างของเส้นใยทำให้ผ้าที่สวมใส่เย็นสบายในฤดูร้อน อบอุ่นสบายในฤดูหนาว และมีคุณสมบัติของเส้นใยที่แข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย ดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนลอน อบอุ่นกว่าลินิน ทั้งยังเบาสวมใส่สบาย จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เส้นใยกัญชงเริ่มเข้ามาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของตลาดเส้นใยธรรมชาติ   ในอนาคตทรัพยากรพืชเส้นใยของประเทศจะขาดแคลนมากขึ้น กัญชงจะอาจเป็นพืชทดแทนแก้ไขปัญหานี้ได้ 

           "อย่างไรก็ตาม กัญชงหรือเฮมพ์ปัจจุบันยังจัดเป็นพืชห้ามปลูกตามกฎหมาย ดังนั้นการจำแนกกัญชาออกจากกัญชงจึงมีความสำคัญมาก คณะผู้วิจัยได้หาองค์ประกอบสารสำคัญคือ THC CBD และ CBD/THC ratio และพัฒนาวิธีมัลติเพล็กซ์พีซีอาร์ได้จำนวนมากและใช้ระยะเวลาสั้นและแม่นยำสูง เพื่อแยกกัญชงหรือเฮมพ์ออกจากกัญชาซึ่งเป็นพืชเสพติด  ทำให้เกษตรกรและชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือสามารถปลูกได้โดย  ไม่ถูกจับกุม ดังนั้นหากได้รับการส่งเสริมการปลูกกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจสำหรับอุตสาหกรรมเส้นใย อาหารสุขภาพและเครื่องสำอาง จะสามารถทำรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล" รศ.ดร.ภก.สุรพล กล่าวทิ้งท้าย

           (ทีมวิจัย เรื่อง กัญชง (Hemp) อนาคตพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูงของประเทศไทย สุรพล นธการกิจกุล*1, พาณี ศิริสะอาด1, สุนีย์ จันทร์สกาว1, ณัฐพงษ์ จิโรจนนุกุล1, ทิพยรัตน์ อุ่นกาศ1,  อาคม กาญจนประโชติ2, ประภัสสร ทิพย์รัตน์3, สมคิด  ธิจักร3, สลักจิต  ชุติพงษ์วิเวก3, พิภพ ชำนิวิกัย4,  สิโรตม์  ชูติวัตร5,  พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์6, อิทธญากรณ์ พรหมพุทธา6   และ วรพล วังฆนานนท์7

           1คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 3ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่, 4สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส., 5องค์การสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์, 6สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง,  และ7บริษัท มินเทค แล็ปบอราทอรี่ จำกัด กรุงเทพฯ )


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เภสัช มช. วิจัยแยกกัญชงจากกัญชา สู่สุขภาพและความงาม อัปเดตล่าสุด 2 ธันวาคม 2554 เวลา 10:53:41 1,168 อ่าน
TOP