ไม่เห็นด้วย! นักวิชาการชี้เด็กเรียนชดเชย 7 วันหนักไป




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          นักวิชาการออกโรงค้าน นโยบายเด็กเรียนเสาร์-อาทิตย์ ชดเชยน้ำท่วม เพราะจะทำให้เด็กและครูล้า จนทำให้เด็กไม่ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ ไม่มีเวลาทำกิจกรรมนอกโรงเรียน ทางที่ดีที่สุดคือ ลดเวลาปิดเทอมใหญ่เหลือ 1 เดือน

          หลังจากที่สถานการณ์น้ำท่วม ทำให้โรงเรียนในกรุงเทพฯ ต้องปิดเทอมนานกว่ากำหนด ล่าสุด โรงเรียนใน 7 เขตที่ยังคงมีระดับน้ำท่วมสูงอยู่ ได้แก่ เขตสายไหม ดอนเมือง หลักสี่ ทวีวัฒนา หนองแขม บางแค บางบอน ได้เลื่อนเปิดเทอมจาก 6 ธันวาคม เป็น 13 ธันวาคมนี้ แทนแล้ว ด้วยเหตุนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงได้ออกมาเสนอว่า ควรให้นักเรียนเรียนชดเชยช่วงเวลาที่ถูกน้ำท่วมในวันเสาร์ - อาทิตย์ด้วย

          อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวได้ทำให้ในสังคมอินเทอร์เน็ตออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เห็นด้วย รวมถึงนักวิชาการอย่าง รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การให้นักเรียนเรียน 7 วัน เป็นอะไรที่หนักเกินไป แม้ว่าเด็กจะได้ความรู้ทางวิชาการ แต่ก็ขาดความรู้ในกิจกรรมนอกโรงเรียน และนักเรียนไม่มีเวลาพักผ่อน วิธีที่ดีที่สุดคือลดเวลาปิดเทอมใหญ่ของภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 จาก 3 เดือนเหลือ 1 เดือนแทน และเด็กเรียน 5 วันตามเดิม

          ด้าน พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การที่เรียน 7 วัน จะทำให้เด็กไม่ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ และอาจารย์ก็ไม่สามารถสอนได้อย่างเต็มที่เพราะทั้งคู่ต่างเหนื่อยล้าเกินไป เธอเห็นด้วยกับข้อเสนอเรียนเท่าเดิม แต่ลดวันปิดเทอมลง




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 


[26 พฤศจิกายน] ชาวเน็ตสวดยับ! เลื่อนเปิดเป็นเหตุ เรียนชดเชยไม่มีวันหยุด

ยุบ-รวม โรงเรียนขนาดเล็กในชนบท คุณเห็นด้วยไหม ?




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม



            โดนวิพากษ์วิจารณ์กันไปตามระเบียบ สำหรับสำนักการศึกษากับแนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กขาดเวลาเรียนเนื่องจากภาวะน้ำท่วม ที่เสนอให้โรงเรียนจัดการสอนชดเชย ทั้งในวันธรรมดา จันทร์ - ศุกร์ และในวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ งานนี้ทั้งชาวเน็ตและผู้ปกครองหลายต่อหลายคนจึงแสดงความไม่พอใจและไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่สำนักการศึกษาเสนอมา

            วันนี้ (25 พฤศจิกายน) จากกรณีที่กรุงเทพมหานครออกประกาศให้เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 ของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ ไปเป็นวันที่ 6 ธันวาคม 2554 และให้โรงเรียนจัดสอนชดเชย ตามที่สำนักการศึกษาเสนอนั้น ล่าสุดก็มีแนวทางออกมาให้ได้ทราบกันแล้วว่า โรงเรียนใน 43 เขตที่สามารถเปิดภาคเรียนได้ในวันที่ 6 ธันวาคมที่จะถึงนี้ จะให้มีการจัดการเรียนการสอนชดเชย เพื่อให้นักเรียนมีเวลาเรียนครบตามโครงสร้างเวลาเรียนของหลักสูตรสถานศึกษา

            โดยในระดับประถมศึกษา จะให้มีการสอนชดเชยตอนเย็นหลังเวลาเลิกเรียนปกติ 1 ชั่วโมง (14.30 - 15.30 น.) ทุกวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ และจัดสอนชดเชยในวันเสาร์อีกวันละ 5 ชั่วโมง (08.30 - 14.30 น.) ขณะที่ในระดับมัธยมศึกษา ให้สอนชดเชยตอนเย็นหลังเลิกเรียนปกติ 1 ชั่วโมง (15.30 - 16.30 น.) ทุกวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ และจัดเรียนชดเชยในวันเสาร์ วันละ 7 ชั่วโมง (08.30 -16.30 น.)

            ส่วนอีก 7 เขตที่เหลือ ได้แก่ เขตสายไหม เขตดอนเมือง เขตทวีวัฒนา เขตหนองแขม เขตบางแค เขตหลักสี่ และเขตบางบอน ที่ระดับน้ำยังคงท่วมสูงอยู่ และได้มีการเลื่อนเปิดภาคเรียนไปเป็นวันที่ 13 ธันวาคม 2554 แล้วนั้น ต้องมีการจัดการเรียนการสอนชดเชยเพิ่มด้วยเช่นกัน โดยในระดับประถมศึกษา จะให้สอนชดเชยตอนเย็นหลังเวลา เลิกเรียนปกติ 1 ชั่วโมง (14.30 - 15.30 น.) ทุกวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ และจัดสอนชดเชยในวันเสาร์ วันละ 5 ชั่วโมง (08.30 - 14.30 น.) และวันอาทิตย์ อีกวันละ 5 ชั่วโมง

            ขณะที่ ในระดับมัธยมศึกษา ให้สอนชดเชยตอนเย็น หลังเลิกเรียนปกติ 1 ชั่วโมง (15.30 - 16.30 น.) ทุกวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ และจัดเรียนชดเชยในวันเสาร์ วันละ 7 ชั่วโมง (08.30 - 16.30 น.) และวันอาทิตย์อีกวันละ 5 ชั่วโมง

            ทั้งนี้จากข้อเสนอดังกล่าว ได้สร้างความไม่พอใจและไม่เห็นด้วยของผู้ปกครองรวมถึงตัวเด็กนักเรียนเองมาก ๆ ที่ทางสำนักการศึกษาเสนอแนวทางแบบนี้ออกมา โดยได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีแนวคิดทางเดียวกันที่ว่า น่าจะแก้ปัญหานี้ด้วยการเลื่อนเวลาปิดเทอมใหญ่ออกไป เพื่อให้เด็กนักเรียนได้มีวันหยุดพัก โดยไม่ต้องเรียนอย่างหนักและต่อเนื่องทุกวัน แบบไม่มีวันหยุดอย่างนี้


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องน่าสนใจอื่นๆ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไม่เห็นด้วย! นักวิชาการชี้เด็กเรียนชดเชย 7 วันหนักไป อัปเดตล่าสุด 27 พฤศจิกายน 2554 เวลา 15:47:45 2,843 อ่าน
TOP
x close