x close

สำเร็จ! จุฬาฯ โคลนนิ่งพญาควายตัวแรกของไทยได้แล้ว





ลูกควายโคลนนิ่งจากพญาควายตัวแรกของเมืองไทย ความสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทยโดยสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

         ศ.น.สพ.ดร.มงคล เตชะกำพุ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนของเงินทุนงบประมาณแผ่นดิน และศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพทางสัตวแพทย์ ทุนจุฬาฯ 100 ปี ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและเป็นครั้งที่ 2 ของโลก ในการโคลนนิ่งควาย ได้ลูกควายเพศผู้ น้ำหนัก 40 กิโลกรัม เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 ที่ฟาร์มวัวทอง ต.เจริญธรรม อ.วิหารแดง จ.สระบุรี

         การโคลนนิ่งควายเป็นผลสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทยนี้ เป็นการนำเซลล์ต้นแบบจากใบหูของ "พญาควาย" จาก จ.พิษณุโลก อายุประมาณ 5 ปี มาเลี้ยงเป็นเซลล์ต้นแบบในหลอดทดลอง และนำเซลล์ดังกล่าวมาฝากในเซลล์ไข่อ่อนควายที่นำเอาสารพันธุกรรมออก โดยเชื่อมติด

         เซลล์ต้นแบบกับเซลล์ไข่ด้วยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า หลังจากนั้นจึงเลี้ยงโคลนตัวอ่อนจนถึงระยะบลาสโตซีส นำตัวอ่อนระยะบลาสโตซีส จำนวน 2 ตัวอ่อนไปย้ายฝากในมดลูกของแม่ควายปลัก เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2553 เมื่อตรวจระดับฮอร์โมนและล้วงตรวจจึงพบว่าตั้งท้อง รวมระยะเวลาตั้งท้อง 326 วัน

         ลูกควายจากการโคลนนิ่งมีลักษณะเหมือนพ่อควาย ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ "หน้าดอก หางแบน ข้อเท้าค่าง ปากคาบแก้ว เท้าขุนนาง" กล่าวคือ บริเวณหน้าผากช่วงระหว่างเขา

         จะปรากฏเป็นโพธิ์สีขาวหรือ "หน้าดอก" ส่วนหางจะแบบคลี่คล้ายพัดและมีสีขาว ข้อเท้าทั้งสี่ตั้งแต่ใต้เข่าลงไปจะเป็นสีขาวเหมือนกับใส่ถุงน่อง ส่วนปากจะมีสีขาวนับตั้งแต่เหนือจมูกลงไป ปลายลิ้นมีปื้นสีดำ สำหรับกีบเท้าทั้ง 4 ขาจะยาวออกมาอย่างชัดเจน ควายที่มีลักษณะเช่นนี้พบน้อยมากจนแทบสูญพันธุ์

         ความสำเร็จครั้งสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ไทยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในการโคลนนิ่งควายในครั้งนี้จะนำไปสู่การอนุรักษ์พันธุ์ควายที่ดีของประเทศไทยต่อไป ทีมงานวิจัย จากศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ประกอบด้วย นายเกรียงศักดิ์ ทาศรีภู น.ส.วรรณวิภา สุทธิไกร น.ส.ราตรี จินตนา น.ส.กิติยา ศรีศักดิ์วัฒนะ โดยมี รศ.สพ.ญ.ดร.อนงค์ บิณฑวิหค เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และ ศ.มณีวรรณ กมลพัฒนะ เป็นที่ปรึกษาและผู้ริเริ่มโครงการ "โคลนนิ่งควายปลัก" ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2541



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สำเร็จ! จุฬาฯ โคลนนิ่งพญาควายตัวแรกของไทยได้แล้ว อัปเดตล่าสุด 21 พฤศจิกายน 2554 เวลา 11:33:44 1,220 อ่าน
TOP