
โพลระบุรร.กวดวิชาหิวเงินมากกว่ารักเด็ก (ไทยโพสต์)
สวนดุสิตโพลเตรียมสำรวจความจำเป็นของ ร.ร.กวดวิชา หลังพบว่าปัจจุบันเปิดเชิงพาณิชย์มากกว่าการแบ่งเบาภาระภาครัฐอย่างที่อ้าง "สุขุม" เห็นด้วยให้เก็บภาษีเชิงพาณิชย์ "วรวัจน์" เชื่อถ้าปรับหลักสูตรให้ตรงกับสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน เด็กเรียนกวดวิชาน้อยลง
รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สวนดุสิตโพลกำลังเก็บข้อมูลสอบถามความเห็นประชาชนในประเด็นที่เกี่ยวกับโรงเรียนกวดวิชาว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวอยู่ในความสนใจของประชาชนมาเป็นเวลานาน เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการกวดวิชาแรกๆ เป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษามุ่งหวังแบ่งเบาภาระรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือนักเรียนจริง ๆ แต่ในเวลาต่อมาวัตถุประสงค์ได้เปลี่ยนไป ทั้งเป็นการมุ่งหวังกำไร มีหลักสูตรที่หลากหลาย มีการแข่งขัน เรื่องมาตรฐาน และรวมถึงการประกันคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เรายังไม่ทราบว่าความรู้สึกจริงๆ ของผู้ปกครองที่มีต่อโรงเรียนกวดวิชาเป็นอย่างไร อีกทั้งขณะนี้เราทราบแต่เพียงว่าโรงเรียนกวดวิชาทั่วประเทศที่จดทะเบียนถูกต้องกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีอยู่กว่า 2,000 แห่ง แต่ยังไม่ทราบว่าโรงเรียนใดเป็นโรงเรียนกวดวิชาที่จัดตั้งด้วยจุดประสงค์ใด ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยเสนอให้มีการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา รศ.ดร.สุขุมกล่าวว่า โรงเรียนกวดวิชาถ้าตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเด็กแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ไม่ได้เป็นการแสวงหากำไร รัฐอาจต้องช่วยอุดหนุน แต่ถ้ามองในแง่ของธุรกิจการศึกษาเป็นการแสวงหากำไรเป็นที่ตั้ง ตนก็เห็นด้วยที่จะต้องเก็บภาษี ทั้งนี้ การจะเก็บภาษีหรือไม่นั้น เบื้องต้นคงต้องแก้ที่กฎหมายเพื่อจะแยกประเภทให้ชัดเจนไปเลยว่าเป็นโรงเรียนกวดวิชาประเภทใด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก นอกจากนี้ยังต้องมีการกำหนดอัตราภาษีอีก แต่สุดท้ายหากมีการเก็บภาษีจริงๆ ภาระก็คงไปตกอยู่ที่ผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม ผลโพลดังกล่าวน่าจะออกภายในสัปดาห์นี้
ด้านนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตนมีนโยบายให้จัดการศึกษาที่สะท้อนทรัพยากรและสนองต่อการมีงานทำผ่านหลักสูตรเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งตนก็เคยได้มอบนโยบายให้มหาวิทยาลัยลงไปช่วยพัฒนาโรงเรียนและหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของมหาวิทยาลัย ทั้งด้านวิชาการและอาชีพ เพื่อให้เด็กรู้ตัวล่วงหน้าว่าจะเรียนไปทางไหน จะมุ่งสู่มหาวิทยาลัยหรือมุ่งสู่อาชีพ ดังนั้น จากนโยบายดังกล่าวก็เชื่อว่าจะทำให้การกวดวิชาลดลง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
