x close

สพฐ. ปลื้มผลสอบ NT คะแนนเด็กไทยดีขึ้น




สพฐ.ปลื้มผลสอบNT คะแนนเด็กไทยดีขึ้น (ไทยโพสต์)

          สพฐ.เปิดผลการประเมินเอ็นทีของนักเรียน ป.3, ป.6 ปี 53 "ชินภัทร" ระบุผลการประเมินวิชาภาษาไทย คณิต วิทย์ ชั้น ป.3 สูงขึ้นกว่าปี 52 โดยเฉพาะภาษาไทย คะแนนสูงเกินมาตรฐาน ขณะที่ด้านการอ่าน-เขียน-คิด ทั้ง ป.3 และ ป.6 ภาพรวมสูงขึ้น 

          นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ สพฐ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหาร สพฐ. ว่า ที่ประชุมได้วิเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ (National Test : NT หรือเอ็นที) ปีการศึกษา 2553 ที่จัดประเมินในระดับ ป.3 และ ป.6 โดยระดับ ป.3 สพฐ.ทำการประเมินผลสัมฤทธิ์ใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และประเมินผลภาคปฏิบัติ ได้แก่ การอ่าน การเขียน และคิดคำนวณ ส่วนระดับ ป.6 นั้น ประเมินผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และประเมินภาคปฏิบัติการอ่าน-เขียนได้คล่องแค่ไหน และคิดโจทย์แก้ปัญหาอย่างไรบ้าง ภาพรวมพบว่าผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนทั้ง 2 ระดับมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปี 2552 ที่ผ่านมา

          สำหรับผลการประเมินเอ็นทีปีการศึกษา 2553 ระดับ ป.3 วิชาภาษาไทย คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 50.95 ซึ่งสูงกว่าปีการศึกษา 2552 คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 45.61 วิชาคณิตศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 52.74 สูงกว่าปีการศึกษา 2552 คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 47.73 และวิชาวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 49.22 สูงกว่าปีการศึกษา 2552 คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 38.96 ส่วนการประเมินการอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณ พบว่า ผลการประเมินการอ่าน คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 84.35 ซึ่งสูงกว่าปีการศึกษา 2552 ที่คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 84.23 เล็กน้อย ด้านการเขียน คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 62.06 สูงกว่าปีการศึกษา 2552 คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 57.94 และด้านการคิดคำนวณ คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 61.61 สูงกว่าปีการศึกษา 2552 คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 53.36

          ส่วนในระดับ ป.6 การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ด้านวินัย คะแนนสูงสุดร้อยละ 89.00 รองลงมาคือด้านรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ร้อยละ 85.55 ด้านซื่อสัตย์สุจริตร้อยละ 83.54 รักความเป็นไทยร้อยละ 80.33 ใฝ่รู้ร้อยละ 76.95 มีจิตสาธารณะร้อยละ 76.38 มุ่งมั่นในการทำงานร้อยละ 75.04 และอยู่อย่างพอเพียงร้อยละ 68.72 ส่วนการประเมินการอ่านคล่องคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 81.14 สูงกว่าปีการศึกษา 2552 ร้อยละ 76.48 ด้านการเขียนคล่อง คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 66.74 สูงกว่าปี 2552 ร้อยละ 61.77 และการประเมินด้านการแก้โจทย์ปัญหา คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 53.27 สูงกว่าปีการศึกษา 2552 ร้อยละ 21.56     

          นอกจากนี้ สพฐ.ยังทำการวิเคราะห์ผลประเมินโดยจำแนกตามขนาดของ รร.ดังนี้ รร.ขนาดเล็ก นักเรียนต่ำกว่า 150 คนลง ขนาดกลาง 151-500 ขนาดใหญ่ 501-1500 และขนาดใหญ่พิเศษ 1,501 คนขึ้นไป พบว่า ทั้ง 3 กลุ่มสาระวิชานั้น รร.ขนาดเล็กและขนาดใหญ่พิเศษมีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่ามาตรฐานที่ สพฐ.กำหนด ขณะที่ รร.ขนาดกลางและขนาดใหญ่มีค่าคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งนี้ เมื่อจำแนกเป็นรายเขตพื้นที่การศึกษา ปีนี้เขตพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการพัฒนาจนติดอันดับต้นๆ ทำคะแนนได้ดีทั้ง 3 กลุ่มสาระวิชา ส่วนเขตพื้นที่ฯ ที่ประสบปัญหาคะแนนยังต่ำส่วนมากอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอยู่ตามแนวชายแดน

          เลขาธิการ สพฐ.กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าภาพรวมการพัฒนาคะแนนกระเตื้องขึ้นมาก ตามที่ สพฐ.ตั้งเป้าว่าจะต้องให้เด็กอ่านออก เขียนได้ ซึ่งจากนี้ สพฐ.จะทำการคัดเลือกเขตพื้นที่ฯ 10 อันดับที่พัฒนาได้ดีเพื่อเป็นแบบอย่างการพัฒนาต่อไป นอกจากนั้นที่ประชุมยังหารือเรื่องการนำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ไปใช้ในการคัดเลือกนักเรียนชั้น ม.1, ม.4 เบื้องต้นคาดว่าจะใช้กับ รร.ที่มีการแข่งขันสูงก่อน จะเริ่มใช้ในสัดส่วนที่น้อยประมาณ 10% แต่ยังไม่ใช่ข้อสรุป โดย สพฐ.จะหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในเดือน ก.ค. และคาดว่าจะเสนอให้ รมว.ศธ.พิจารณาได้ในเดือน ส.ค.นี้.



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สพฐ. ปลื้มผลสอบ NT คะแนนเด็กไทยดีขึ้น อัปเดตล่าสุด 22 มิถุนายน 2554 เวลา 17:30:39
TOP