x close

เภสัช มช. คิดนวัตกรรมช่วยคนตาบอดกินยาตรงเวลา




เภสัช มช. คิดนวัตกรรมช่วยคนตาบอดกินยาตรงเวลา

           "นวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ยาในคนตาบอด" เภสัช มช. ชนะเลิศประกวดสุดยอดเภสัชกรชุมชนรุ่นใหม่ แก้ไขปัญหาการใช้ยาในคนตาบอด สามารถใช้ยาได้ถูกขนาด ถูกชนิด ถูกวิธีและตรงเวลา ลดภาระ ลดการพึ่งพาผู้อื่น 

           ปัญหาการใช้ยาเป็นประเด็นสาธารณะด้านสุขภาพ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข และแสวงหาแนวทางปรับเปลี่ยนการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม คนสายตาปกติที่อ่านออกพูดฟังเขียนได้ ก็ยังมีปัญหาการใช้ยาหลายเรื่อง แต่สำหรับผู้พิการทางสายตาหรือคนตาบอดแล้วกลับยิ่งมีปัญหา อีกทั้งมีข้อจำกัดมากมาย ทำอย่างไรจึงจะคิดค้นวิธีการใช้ยาโดยการมีส่วนร่วมของผู้พิการทางการสายตาได้
  
           ด้วยเหตุจูงใจที่ต้องการแก้ไขปัญหาการใช้ยาในคนตาบอด นักศึกษาและอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ นศ.ภ.พรัญฐา จงจำรัสพันธ์, นศ.ภ.รุจิศา ทรงไตรจักร และอาจารย์ ภก.ธวัชชัย เหลืองโสภาพรรณ ได้คิดค้นนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ยาในคนตาบอด เพื่อให้คนพิการทั้งที่ไม่สามารถมองเห็นหรือมองเห็นในสภาพเลือนลาง สามารถใช้ยาได้ถูกขนาด ถูกชนิด ถูกวิธีและตรงเวลา เพื่อเป็นการลดภาระหรือการพึ่งพาผู้อื่นซึ่งผลงานวิจัยโครงการนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ยาในคนตาบอด ได้รับรางวัลชนะเลิศ โครงการประกวดสุดยอดเภสัชกรชุมชนรุ่นใหม่ ครั้งที่ 1 จัดโดย สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ร่วมกับ มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน  และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) 

           อ.ภก.ธวัชชัย เหลืองโสภาพรรณ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า แนวคิดสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ยาในคนตาบอด นอกจากความตระหนักถึงข้อจำกัดของผู้บกพร่องทางการมองเห็นแล้ว ยังคำนึงถึงคำประกาศสิทธิผู้ป่วย โดยสภาวิชาชีพ ในข้อที่ 3 คือ ผู้ป่วยที่ขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอและเข้าใจชัดเจน จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรค และสั่งใช้ยาจากแพทย์แล้ว ในกรณีของยา เภสัชกรจะให้ข้อมูลที่จำเป็นในการใช้ยา ทั้งข้อบ่งใช้ ปริมาณในการใช้ ความถี่ วิธีใช้ซึ่งแตกต่างกันไปตามยาแต่ละชนิด ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ยาในคนตาบอด จึงต้องคำนึงถึงสิทธิผู้ป่วยด้วย



           นวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ยาในคนตาบอด เป็นความร่วมมือของทีมวิจัย และโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ จากปัญหาของนักเรียนผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นในการใช้ยา พบว่า เมื่อป่วยไข้ไม่สบายจะบอกคุณครูหรือพี่เลี้ยงเพื่อช่วยจัดหายาพร้อมแนะนำการใช้ หากต้องใช้บ่อยหรือใช้ยาประจำก็ใช้วิธีการจดจำลักษณะรูปร่าง กลิ่น สี(ในกรณีที่สายตาเลือนลาง)ของเม็ดยา  แต่หากได้รับยาที่ต่างออกไปจากที่เคยรับประทาน ก็จะไม่สามารถรับประทานยาด้วยตนเองได้ จึงตกเป็นภาระหน้าที่ของคุณครูและพี่เลี้ยงที่จะต้องคอยจัดยาให้ โดยที่นักเรียนผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นไม่สามารถทราบได้เลยว่ายาที่รับประทานอยู่นั้นเป็นยาชนิดใด ใช้รักษาอาการใด

           นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น เป็นความพิการที่มีหลายประเภทแตกต่างกันออกไป ทั้งผู้ที่ตาบอดสนิท และผู้ที่มองเห็นในสภาพเลือนลาง ซึ่งอาจมองเห็นมากน้อยตามศักยภาพของแต่ละคน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาในการรับประทานยา เช่น รับประทานยาผิดซอง ผิดประเภทและ ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น รวมทั้งขาดอุปกรณ์ช่วยเหลือที่เหมาะสม  

           ดังนั้นทีมวิจัยจึงได้พัฒนากล่องเก็บยาที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ยาในคนกลุ่มนี้ขึ้นเรียกว่า Genius Alarm ซึ่งมีวงจรสามารถบันทึกเสียง บอกชื่อยา สรรพคุณของยา ตั้งเตือนเวลาในการรับประทานยาเป็นชั่วโมง วันหรือสัปดาห์ได้ ฟังคำแนะนำการใช้ยาและกดฟังซ้ำได้  มีภาชนะสำหรับบรรจุยา และมีอักษรเบลล์ติดอยู่บนภาชนะสำหรับบรรจุยา เพื่อกำกับหมายเลขแต่ละช่อง ซึ่งรูปแบบการทำงานของนวัตกรรมนี้ จะช่วยให้นักเรียนผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น สามารถหยิบยากินได้ด้วยตนเองทำให้ใช้ยาได้ตรงตามเวลา ป้องกันการลืมกินยาลดการพึ่งพาครู พี่เลี้ยง หรือคนอื่นๆนอกจากนี้ยังช่วยให้ได้รับข้อมูลหรือคำแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้การรักษาหรือบรรเทาอาการได้ผลดี ปัจจุบันแม้มีเครื่องมือช่วยในการรับประทานยาของคนตาบอดหลายรูปแบบทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ข้อดีของนวัตกรรมที่ทีมวิจัยได้พัฒนาขึ้นนี้ สามารถตั้งเตือนเวลาในการรับประทานเป็นวันหรือสัปดาห์ สามารถตั้งเตือนได้สูงสุด 8 ครั้งต่อวัน ตั้งระยะเวลาหรือความนาน(นาที)ของเสียงเตือนปลุกได้ อีกทั้งมีภาชนะสำหรับบรรจุยาเหมาะสำหรับการบรรจุยาเป็นมื้อ และเปลี่ยนภาชนะบรรจุยาได้

           ผลการทดสอบประเมินความพึงพอใจในนักเรียนผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ในการทดลองใช้ Genius alarm จำนวน 35 คน โดยใช้แบบประเมินความพึงพอใจ 6 ระดับ (0-5 คะแนน) พบว่า นวัตกรรมได้รับคะแนนการช่วยให้รับประทานยาได้ถูกเวลามากที่สุด รองลงมาคือ ใช้ยาได้ถูกขนาด 4.89 และ 4.86 คะแนน ตามลำดับ แต่ยังต้องปรับปรุงด้านความแข็งแรง ทนทานเพื่อให้ใช้ซ้ำได้หลายครั้งจากที่มีคะแนนความพึงพอใจต่ำที่สุดคือ 3.83 เนื่องจากวัสดุที่นำมาใช้ เป็นพลาสติกที่ไม่ทนทาน และ คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยทุกด้านค่อนข้างดีมาก 4.50 คะแนน ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักเรียนผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นมีความพึงพอใจอย่างมากต่อนวัตกรรมช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น Genius alarm และคาดว่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

           จากผลการวิจัย อ.ภก.ธวัชชัย ให้ความเห็นว่า "หากไม่มีเครื่องมือหรือตัวช่วย  คนในกลุ่มนี้ก็คงต้อง ใช้วิธีเดิมๆคือการพึ่งพาผู้อื่น และ ให้ประสาทสัมผัสที่เหลือช่วยในการใช้ยาครับ เช่นการดมกลิ่น จำลักษณะเม็ดยาจากการสัมผัส และ ลองชิมรส ดังนั้น ผลงานวิจัยนี้ แสดงให้เห็นแนวโน้มของการพัฒนาเครื่องมือช่วยในการกินยาของคนตาบอดเป็นนวัตกรรมด้านสุขภาพที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ยา ซึ่งจะช่วยให้คนตาบอดดูแลรักษาสุขภาพได้อย่างเต็มศักยภาพตามที่ต้องการ โดยอาศัยสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมต่างๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวก อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษา การดำรงชีพ และคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นให้กว้างไกลเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปได้" 

           "อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยเห็นว่า ยังมีข้อจำกัดหลายประการที่ควรมีการพัฒนาและปรับปรุงเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ในทุกๆด้านต่อไป เช่น ขนาดของเครื่อง รูปแบบของวงจร ความทนทาน ราคา และการแยกส่วนบรรจุยาซึ่งหากสามารถพัฒนาปรับปรุง ก็จะอาจเป็นทางเลือกที่ดีในการปรับใช้กับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆคนชรา หรือคนที่ไม่สามารถอ่านฉลากยาได้ เพราะในสังคมยังมีกลุ่มคนที่ยังต้องการความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานและถูกละเลยไม่ได้รับความเอาใจใส่เท่าที่ควรอยู่มาก"  อ.ภก.ธวัชชัย เหลืองโสภาพรรณ  กล่าวเพิ่มเติม




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เภสัช มช. คิดนวัตกรรมช่วยคนตาบอดกินยาตรงเวลา อัปเดตล่าสุด 15 มิถุนายน 2554 เวลา 13:45:28 2,034 อ่าน
TOP