x close

ม.เกษตร คิดค้น เครื่องสีข้าวกล้องขนาดเล็กสำหรับชุมชน




 เครื่องสีข้าวกล้องขนาดเล็กสำหรับชุมชน

          ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ในแต่ละปีพื้นที่การเกษตรประมาณ 66 ล้านไร่ใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าว ประมาณ 57 ล้านไร่เป็นข้าวนาปี และ 9 ล้านไร่เป็นข้าวนาปรัง ซึ่งทำให้มีผลผลิตข้าวเปลือกรวมเฉลี่ย 19 ล้านตันต่อปี จากผลผลิตทั้งหมดนี้จะถูกแปรรูปเพื่อการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ โดยประมาณร้อยละ 60-65 ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ และอีกร้อยละ 35-40 เป็นผลผลิตเพื่อการส่งออก ในปัจจุบันมีการแปรรูปข้าวให้ได้คุณภาพตามความต้องการของผู้บริโภค ทั้งข้าวที่มีคุณภาพดีมีราคาสูง มุ่งจำหน่ายให้กับผู้มีรายได้สูง และข้าวที่มีคุณภาพต่ำมีราคาถูก มุ่งจำหน่ายให้กับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งตัวแปรหลักที่สำคัญสำหรับการแปรรูปข้าวเปลือกให้ได้ตามความต้องการของตลาด คือการเลือกใช้เครื่องจักรสีข้าวที่เหมาะสม นั่นเอง 

          รองศาสตราจารย์ ดร.ศักดา อินทรวิชัย อาจารย์ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการดำเนินการศึกษาค้นคว้าวิจัย และออกแบบเครื่องสีข้าวกล้องขนาดเล็กสำหรับชุมชน และทีมคณะนักวิจัยจากภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร ทั้ง วิทยาเขตบางเขนและวิทยาเขตกำแพงแสน ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมพัฒนาเครื่องสีข้าวขนาดเล็กสำหรับชุมชนเพื่อเป็นการลดต้นทุนการแปรรูปข้าวเปลือก และการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการพัฒนาออกแบบและผลิตเครื่องสีข้าวที่สอดคล้องตอบสนองต่อตลาดการบริโภคข้าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และหากการพัฒนาเครื่องสีข้าวนี้มุ่งสู่การสร้างโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ผลิตข้าวอย่างครบวงจรแล้ว จะเป็นการยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น 

          แนวคิดในการออกแบบพัฒนาเครื่องสีข้าวกล้องขนาดเล็กแบบเคลื่อนย้ายได้ จะเน้นใช้วัสดุภายในประเทศมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และสามารถเคลื่อนที่ พร้อมทำงานได้ทันที ประสิทธิภาพของเครื่องจะสีข้าวเปลือกได้ประมาณ 100 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และสามารถปรับค่าระดับการสี ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือและ ข้าวสาร จึงได้กำหนดต้นกำลังขนาดไม่เกิน 3 กำลังม้า 220 โวทล์ 15 แอมแปร์ รวมทั้งมีอุปกรณ์ทำความสะอาดข้าวเปลือกพร้อมชุดลำเลียงข้าวเปลือกสู่ชุดกระเทาะข้าวเปลือก มีช่องทางออกของ ข้าวกล้อง ข้าวสาร(ข้าวรวม) ปลายข้าว รำ แกลบ แยกจากกันอย่างอิสระ และมีน้ำหนักเครื่องรวม 350 กิโลกรัม กว้าง 0.8 เมตร ยาว 1.2 และสูง 1.98 เมตร 

          นักวิจัยยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าเกี่ยวกับพื้นฐานการสีข้าว ว่าเป็นกระบวนการแปรสภาพข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร จะประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน คือ 

          1. การทำความสะอาด เป็นขั้นตอนทำงานเพื่อกำจัดสิ่งเจือปน เช่น กรวด หิน ดิน ทราย เมล็ด วัชพืช และสิ่งสกปรกอื่นๆ ออกจากข้าวเปลือก 

          2. การกะเทาะ เป็นการทำงาน เพื่อทำให้เปลือกข้าวที่ห่อหุ้มเมล็ดหลุดออกจากเมล็ด โดยจะได้แกลบ และข้าวกล้องจากขั้นตอนนี้ 

          3. การขัดขาว เป็นขั้นตอนเพื่อทำให้ผิวชั้นนอกของเมล็ดข้าวกล้อง หลุดออกจากเมล็ดข้าวกล้อง ผิวนอกที่หลุดออกมานี้คือสิ่งที่เรียกว่า รำ และเมล็ดข้าวที่ได้จะมีสีขาว เรียกว่า ข้าวขาวหรือข้าวสาร และเป็นข้าวรวมที่มีทั้งเมล็ดข้าวหักและข้าวเต็มเมล็ด 

          4. การคัดแยก เป็นลำดับขั้นตอนเพื่อแยกข้าวรวม ออกเป็น ข้าวเต็มเมล็ด ต้นข้าว และข้าวหัก ขนาดต่างออกจากกัน โดยทั่วไปกระบวนการสีข้าวดังกล่าวนี้ จะได้ แกลบประมาณ 20-24% ของข้าวเปลือก รำ ที่รวมถึงส่วนผสมของเยื่อหุ้มผล เยื่อหุ้มเมล็ด เยื่ออลูโรน และคัพภะ ประมาณ 8-10% ของข้าวเปลือก และได้ข้าวสารรวม ประมาณ 60 – 65 % ของข้าวเปลือก และข้าวรวมนี้ไปคัดแยกเป็นข้าวเต็มเมล็ดต้นข้าว และข้าวหักซึ่งจะได้แต่ละส่วนมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับคุณภาพของการสีคุณภาพข้าวเปลือกและสมรรถนะเครื่องจักรสีข้าว

          ทั้งนี้ข้าวเปลือกที่จะนำมาสี ต้องมีคุณสมบัติเหมาะแก่การสี มีการตรวจคุณภาพ ข้าวเปลือกที่มีคุณภาพดีเหมาะแก่การสีจะต้องมีลักษณะดังนี้ 

          1. มีความชื้น 14% หากสูงกว่านี้จะทำให้ข้าวแตกหักเสียหายได้ง่าย 
          2. มีเมล็ดแตก เมล็ดลีบ เมล็ดเสีย ปนอยู่น้อย 
          3. มีเมล็ดวัชพืชปนอยู่น้อย หรือต้องไม่มีเลย 
          4. ต้องไม่มีเศษหิน ดินทราย หรือเศษหญ้า เศษฟางปน
          5. ควรเป็นพันธุ์เดียวกันหรือทีลักษณะกายภาพที่คล้ายกัน

          จะเห็นได้ว่าการสีข้าวมีกระบวนการเป็นขั้น ๆ ติดต่อกัน โดยแต่ละขั้นล้วนใช้เครื่องจักรกลที่มีหน้าที่ต่าง ๆ ทำงานสัมพันธ์กัน นับตั้งแต่การทำความสะอาด การกะเทาะเปลือก การแยกแกลบ การแยกข้าว การขัด และการคัดขนาดเมล็ดข้าวสาร ซึ่งจะมีระบบลำเลียงเชื่อมโยงระหว่างเครื่องจักร แต่สำหรับเครื่องสีข้าวขนาดเล็กแล้วทุกขั้นตอนจะอยู่ในเครื่องเครื่องเดียวเท่านั้น ความแตกต่างของโรงสี และเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

 
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ม.เกษตร คิดค้น เครื่องสีข้าวกล้องขนาดเล็กสำหรับชุมชน โพสต์เมื่อ 16 พฤษภาคม 2554 เวลา 14:17:23 1,005 อ่าน
TOP