รายงานพิเศษ : วช.รับมือหน้าแล้งภาคอีสานด้วยงานวิจัย "สระเก็บน้ำต้านภัยแล้ง"
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นำงานวิจัยโครงการ "สระเก็บน้ำต้านภัยแล้ง" ช่วยรับมือภัยแล้งและขาดแคลนน้ำใน จ.อุบลราชธานี เพื่อเป็นงานวิจัยระบบเก็บกักน้ำต้นแบบแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำหน้าแล้งสู่ภาคประชาชนนำไปใช้ได้จริง
ต้นปีที่ผ่านมาหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ของไทยต้องประสบอุทกภัยอย่างหนัก ส่งผลเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินและพื้นที่ทางการเกษตรอย่างมาก แต่ขณะนี้หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร แหล่งน้ำหลายแห่งเริ่มแห้งขอดประกอบกอบพื้นที่ภาคอีสานมีอากาศร้อนและแห้งแล้งสูงสุดในประเทศ เป็นผลให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ เกษตรกรจึงไม่สามารถทำการเกษตรใดๆ ในหน้าแล้งได้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ภาคอีสานเมื่อหน้าแล้งมาเยือนพื้นที่จะไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ แนวทางแก้ปัญหาความแห้งแล้งภาคอีสานจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการเก็บกักไว้ในพื้นที่ให้ได้
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. จึงให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำในภาคอีสานแก่ ดร.ฉัตรภูมิ วิรัตนจันทร์ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศึกษาวิจัยแนวทางการแก้ภัยแล้งด้วยโครงการ สระเก็บน้ำต้านภัยแล้งต้นแบบขึ้น ในพื้นที่บ้านยางน้อย อำเภอเขื่องใน จ.อุบลราชธานี
"ที่ผ่านมาการขุดสระเก็บน้ำเพื่อใช้ในหน้าแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่ละปีมักจะไม่ประสบความสำเร็จในการกักเก็บน้ำ เนื่องจากดินไม่สามารถเก็บน้ำไว้ที่ผิวดินได้ ปัญหาความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำยังนำไปสู่ปัญหาอื่นๆทั้งสินค้าเกษตรขาดแคลน ราคาสูงขึ้น ประชาชนขาดรายได้ และการแก้ปัญหาความแห้งแล้งจึงต้องแก้ที่ต้นเหตุด้วยการสร้างแหล่งน้ำทดแทนการขาดแคลนน้ำ"
สำหรับโครงการสระเก็บน้ำต้านภัยแล้ง ดร.ฉัตรภูมิ วิรัตนจันทร์ นักวิจัยบอกว่า เริ่มจากการออกแบบสระเก็บน้ำเหมือนสระเก็บน้ำทั่วไป แต่จะใช้หลักการเก็บน้ำด้วยการสร้างชั้นกันซึม โดยขุดสระเพื่อเก็บกักน้ำแบบเดิมแต่จะสร้างชั้นกันซึมด้วยพลาสติกคลุมดิน หรือใช้คอนกรีตผสมดินโคนเคลือบพื้นผิวภายในสระ สร้างชั้นป้องกันการกัดเซาะของน้ำจากภายนอกสระ เพื่อบังคับน้ำให้ไหลลงสระเก็บน้ำและลดการซึมของน้ำลงดิน ทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาไม่สูญเสียลงดินโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งยังสามารถปรับสระเก็บน้ำใช้ได้ทั้งสระขนาดเล็กในครัวเรือน จนถึงสระขนาดใหญ่หลายหมื่นลูกบาศก์เมตรระดับชุมชนได้ด้วย
สระเก็บน้ำต้านภัยแล้งต้นแบบดังกล่าว ตั้งอยู่ที่ ฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บ้านยางน้อย อำเภอเขื่องใน จ.อุบลราชธานี ได้นำไปใช้งานจริงในภาคการเกษตรในชุมชนใกล้เคียง พร้อมเตรียมสนับสนุนขยายผลสู่พื้นที่ประสบภัยแล้งและขาดแคลนน้ำต่อไป ตลอดจนเพื่อรองรับระบบชลประทานที่จะเข้าสู่พื้นที่ เพื่อใช้เป็นอ่างเก็บน้ำถาวรสำหรับการเกษตรได้ตลอดทั้งปีในพื้นที่ภาคอีสาน
ขอขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
ผู้สื่อข่าว : อนงนาฎ สิทธิคง
Rewriter : ธนวัต วงศ์วิริยะวณิช
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ห้องสมุดงานวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)