แห่แชร์ไอเดียแบบฟอร์มทำความรู้จักนักเรียน ในวันเปิดเทอม เพื่อป้องกันและฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ กับคำถามไม่กี่ข้อ เข้าใจง่าย แต่ผลลัพธ์เกินคุ้ม รู้เลยนักเรียนแต่ละคน Learning loss มากน้อยแค่ไหน

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
เรียกว่าเริ่มต้นสัปดาห์แรกของการเปิดเทอม มีเรื่องราวมากมายระหว่างคุณครูและนักเรียนที่ถูกแชร์ต่อ ๆ กันในโลกออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องดี ความประทับใจ และอีกหนึ่งเรื่องดี ๆ ที่นำมาแชร์ต่อกันนั้น คือ แบบฟอร์มทำความรู้จักนักเรียน จากเพจ Inskru -พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่คุณครูสามารถตรวจสอบภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละบุคคลได้ !
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ครูดรีม จากเพจเฟซบุ๊ก Kru Dream Chaiwat ได้โพสต์ตัวอย่างคำตอบของนักเรียนจากแบบฟอร์มทำความรู้จักนักเรียนดังกล่าว มาแชร์ในเพจ พร้อมระบุว่า ยินดีที่ได้รู้จักครับนักเรียน ชั่วโมงแรกของการเปิดเทอม ทำความรู้จักกับนักเรียน สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียน ตั้งกติการ่วมกัน
สิ่งที่เห็นเมื่อนักเรียนทำแบบฟอร์มนี้
1. นักเรียนมีรอยยิ้ม ครุ่นคิดหาคำตอบของตัวเอง (เหมือนนักเรียนได้อยู่กับตัวเองไปด้วย)
2. คำถามเป็นคำถามปลายเปิด นักเรียนมีอิสรเสรี
3. ครูได้ทำความรู้จักเพื่อนที่นักเรียนไว้วางใจด้วย
4. บางคนเจอครูครั้งแรกอาจไม่กล้าคุย แต่พวกเขาจะกล้าเขียนมากกว่า
5. อย่าลืมส่งพลัง กำลังใจให้นักเรียนกันนะครับ
6. สุดท้ายแล้วครูอาจจะค้นพบบางอย่างที่ครูอาจไม่เคยเจอ เช่น นักเรียนอาจจะเล่าเรื่องราวของเขาให้ครูฟัง เพื่อที่ครูอาจจะช่วยได้ เพราะเรื่องราวนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ดีและไม่ดีก็ได้
ทั้งนี้ แบบฟอร์มทำความรู้จักนักเรียน ถูกออกแบบเป็นทั้งหมด 5 ส่วน ที่มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
ส่วนที่ 1 : ทำความรู้จักกับนักเรียนเบื้องต้น
- ในส่วนนี้ เป็นการทำความรู้จักนักเรียนจากข้อมูลพื้นฐาน เช่น ชื่อ-นามสกุล ชื่อเล่น ห้อง และเลขที่ โดยมีจุดสังเกตว่า นักเรียนสามารถใส่ "ชื่อที่อยากให้ครูเรียก" แทนชื่อเล่นก็ได้ เพื่อให้คุณครูและนักเรียนรู้สึกสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น
ส่วนที่ 2 : สิ่งของแทนตนเอง
- คำตอบในส่วนนี้จะทำให้คุณครูรู้จักนักเรียนมากยิ่งขึ้น ผ่านสิ่งของที่นักเรียนเลือกมาเป็นตัวแทนของตนเองเพราะสิ่งของต่าง ๆ ก็มีลักษณะและเอกลักษณ์ที่ต่างกัน
นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมจินตนาการของนักเรียน ในส่วนนี้จะให้นักเรียนเขียนตอบหรือว่าวาดรูปก็ได้
ส่วนที่ 3 : ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning loss) ในด้านการเรียน
- ในส่วนนี้จะทำให้คุณครูทราบได้ถึงการเรียนของนักเรียนในปีที่ผ่านมาในแต่ละวิชา โดยให้นักเรียนใส่ "ชื่อวิชา" ลงในแต่ละช่อง เพื่อประเมินการเรียนของตนเอง ในวิชาที่นักเรียนจัดให้อยู่ในหมวด "ไฟแดง (ช่วยด้วย!)" จะทำให้คุณครูรู้ว่า นักเรียนต้องการความช่วยเหลือในวิชาใดบ้าง และการอ่านเหตุผล ที่นักเรียนจัดให้วิชาเหล่านั้นอยู่ในหมวดสีแดง จะทำให้คุณครูสามารถออกแบบแนวทางการช่วยเหลือนักเรียนได้อีกด้วย !
ส่วนที่ 4 : ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning loss) ในด้านทักษะการเข้าสังคม
- เนื่องจากในช่วงการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมา นักเรียนขาดโอกาสในการพบเจอกับเพื่อน ๆ ทำให้ทักษะการเข้าสังคมนั้นขาดตกบกพร่องไป รายชื่อเพื่อน ๆ ที่นักเรียนอยากเข้าไปปรึกษา จะทำให้คุณครูได้ทราบถึงความสัมพันธ์ภายในห้องเรียน และการได้รู้ถึงเรื่องที่นักเรียนอยากเมาท์มอยกับเพื่อน ๆ ในตอนนี้ ยังทำให้คุณครูได้ทราบถึงความสนใจของนักเรียน
อีกทั้งคุณครูสามารถเอาเรื่องที่นักเรียนสนใจอยู่มาใช้เป็นประเด็นในการพูดคุยในห้องเรียน หรือบอกเล่าให้นักเรียนฟังว่ามีใครสนใจในเรื่องเดียวกันบ้าง เป็นการเสริมสร้างและฟื้นฟูความสัมพันธ์ภายในห้องเรียนที่ขาดหายไปได้
ส่วนที่ 5 : ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning loss) ในด้านภาวะทางอารมณ์
- ในส่วนนี้ จะทำให้คุณครูได้ทราบถึงสภาพจิตใจของนักเรียนในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่านักเรียนอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบไหนบ้างในห้องเรียน ที่จะทำให้เขามีความสุขมากขึ้น และทำให้รู้ว่านักเรียนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบไหนในห้องเรียน ที่จะทำให้เขาเกิดความทุกข์ ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้คุณครูช่วยฟื้นฟูภาวะทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคงของนักเรียนในช่วงที่ผ่านมาได้