x close

ลาออกครู มิติใหม่ ! กับโปสเตอร์คำคมสุดพีค ขยี้การศึกษาไทยตรงจุด คนไลก์รัว ๆ


          ไวรัลโปสเตอร์ลาออกครู สาดคำคมโดนใจ อย่าให้งานเปลี่ยนเรา แต่เราควรเปลี่ยนงาน พร้อมเปิดใจเล่าที่มากว่าจะเป็นครู จนวันที่ถูกเรียกครูจริง ๆ กลับไม่เป็นดั่งฝัน เผยหมดเปลือกระบบการศึกษาไทย ครูทำงานเอกสารหนักกว่าสอนนักเรียน


          วันที่ 4 มีนาคม 2565 โลกออนไลน์พากันกดไลก์กดแชร์โพสต์ลาออกของครูผู้ช่วยรายหนึ่ง มีการทำภาพโปสเตอร์ประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ สีสดใสสะดุดตา พร้อมประโยคเด็ดแสดงถึงความยินดีกับการลาออกจากอาชีพ ทำเอาชาวเน็ตแชร์จนเป็นไวรัลเลยทีเดียว

          โดยโปสเตอร์ดังกล่าวระบุข้อความว่า "อย่าปล่อยให้งานเปลี่ยนเรา แต่เราควรเป็นคนเปลี่ยนงาน ขอกราบลาออกจากราชการ อดีตคุณครูสิริมาศ จันทรโคตร ในตำแหน่ง ครูผู้ช่วย ถึงไม่ได้เป็นครูในอาชีพ แต่เป็นครูในตัวตน (เนี่ย) มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565"

ครู

          พร้อมระบุว่า ขอแสดงความยินดี เอ๊ย ไม่ใช่ ตอนเข้าไม่ได้ทำ ทำตอนออกก็ได้ ควรไม่ควรแล้วแต่จะคิด ณ โอกาสนี้ ข้าพเจ้าขอกราบขอขมาต่อคุณมารดา บิดา ครูบาอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และท่านทั้งหลาย ที่ข้าพเจ้าได้เคยประมาทล่วงเกินต่อท่าน ทั้งทางกาย วาจา ใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งที่มีเจตนาหรือไม่มีเจตนา ทั้งที่ระลึกได้และไม่ได้ก็ดี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

          ขอท่านทั้งหลายจงอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด และนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอความสุข ความเจริญ ความสิริมงคล ทรัพย์สินเงินทอง จงมีแก่ข้าพเจ้าและครอบครัว สาธุจ้า

          ทั้งนี้ อดีตคุณครู สิริมาศ จันทรโคตร อายุ 26 ปี ให้สัมภาษณ์ผ่าน Thai PBS ระบุว่า โปสเตอร์แบบนี้ปกติเขาจะทำกันตอนสอบได้หรือได้บรรจุแต่งตั้ง เรารู้สึกว่าแปลกดีเลยลองทำดู ซึ่งประโยคแรกบนโปสเตอร์เห็นมาจากโซเชียลแล้วรู้สึกว่าเข้ากับเราดี แต่ประโยคล่างเราคิดเองหมดเลย แล้วผลตอบรับคือ มีคนเข้ามาแสดงความยินดีกับเราเยอะมาก

ก่อนจะมาเป็นครู จากคนไม่ชอบมาก่อน


          โดย สิริมาศ เล่าชีวิตของเธอให้ฟังว่า เติบโตมาในครอบครัวข้าราชการทั้งพ่อ แม่ และพี่ชายอีก 2 คน เรามีความรู้สึกว่าไม่ชอบระบบการศึกษาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน แต่เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยติดคณะศึกษาศาสตร์ ก็ไม่สร้างกำแพงให้ตัวเอง และพยายามเรียนรู้อย่างเต็มกำลัง

          ก่อนจะพบว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยในหลักสูตรนวัตกรรมการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ทำให้รู้สึกดีกับอาชีพครูมากขึ้น พร้อมสร้างความหวังและความอยากเป็นครูที่ดีให้นักเรียนในอนาคต แต่ในวันที่ถูกเรียกว่า "ครู" จริง ๆ กลับไม่เป็นอย่างที่คิด

ในวันที่ถูกเรียกว่า "ครู"


          เริ่มสอนในโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่ง มีครู 20 คน สอนนักเรียน 300 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึง ม.3 ภารกิจหลักกลับไม่ใช่การสอนนักเรียน แต่เป็นการทำงานหลายหน้า ทั้งสอนควบวิชาวิทยาศาสตร์ การดูแลงานพัสดุ และเอกสารต่าง ๆ จนไม่ได้โฟกัสการสอนนักเรียน ทั้งที่เป็นหน้าที่หลักของครู

          งานเอกสารกลายเป็นภาระที่หนักกว่าการสอน ทำให้มองว่าถ้างานพวกนี้สำคัญ ทำไมไม่บรรจุไปในหลักสูตรตอนเรียนครูไปเลย เพราะไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ ครูรุ่นพี่ก็ไม่ได้พร้อมจะสอนเราทุกคน ต้องเจอแบบนี้เรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าระบบงานกำลังบั่นทอนเรา

          ขณะเดียวกัน การทำวิทยฐานะ เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่สร้างภาระให้ทุกตำแหน่งในโรงเรียน ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงภารโรง งานเอกสารและการสร้างผลงานกลายเป็นหินขนาดใหญ่ที่ทุกคนต้องแบกไว้ ทั้งที่การประเมินงานแต่ละตำแหน่งมีวิธีประเมินอื่นอยู่แล้ว แต่ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่คนทำตามคน ไม่ใช่คนทำตามระบบ คำว่า "ทำไปเถอะ นิดเดียวเอง" จึงกลายเป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อย ๆ จนเริ่มชิน

          พอระบบไม่ดีพอ คนก็ไม่ทำตามระบบ แต่คนทำตามคนแทน ต่อให้ไปโรงเรียนไหนก็อาจเป็นเหมือนกัน เราไม่อยากรอ 4 ปี เพื่อขอย้ายโรงเรียน แล้วไปเสี่ยงดวงกับ ผอ. คนใหม่ หรือระบบในโรงเรียนอื่นอีก เข้าใจว่า​ระบบการทำงานมีปัญหาได้ทุก​ที่​ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในระบบราชการครู ตอกย้ำให้เห็นว่าปัญหาใหญ่มีอยู่จริง แล้วคนที่มีหน้าที่แก้ไขอย่างชัดเจน พยายามที่จะแก้แค่ไหน แล้วมองเห็นว่ามันเป็นปัญหาจริง​ ๆ หรือยัง

ครู

ระบบบั่นทอนเราจนไม่เป็นตัวเอง


          "ถ้าคุณอดทนอยู่ในระบบแย่ ๆ ได้ 3 ปี คุณจะทนมันได้ตลอดไป" ประโยคนี้คอยวนอยู่ในหัวแบบสลัดทิ้งไม่ได้ จนได้คำตอบกับตัวเองว่า.. จะทนให้ระบบบั่นทอนความเป็นตัวเองไม่ได้เด็ดขาด เพราะการอดทนที่ไม่มีปลายทาง เหมือนต้นไม้ที่มีวัชพืชอยู่ด้วยมากเกินไป จนรู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงไม่พอที่จะเติบโตได้ และเธออยากโต ไม่ได้อยากตาย !

การลาออกคือคำตอบ


          เมื่อระบบในการทำงานไม่ได้สนับสนุนให้ครูทำงานง่ายขึ้น ให้งานล้นมือ คำว่า ลาออก ก็เริ่มเกิดขึ้นในใจ หลังทำการเรียนการสอนได้ 3 เทอม หรือประมาณ 1 ปีกว่า ใบลาออกก็ถูกยื่นไปถึงผู้อำนวยการ

          ก้าวต่อไปหลังจากนี้ จะเริ่มต้นตามที่ระบุในโปสเตอร์ว่า "ถึงไม่ได้เป็นครูในอาชีพ แต่เป็นครูในตัวตน" โดยจะทำแบบฝึกหัดวิชาคณิตศาสตร์ ชั้น ป.6 ให้นักเรียนอ่าน รวมถึงให้ครูอีกหลายคนที่ต้องสอนไม่ตรงเอกหรือควบหลายวิชา

เพื่อวัน "การศึกษาไทย" สว่างไสว


          ทั้งนี้ มีครูอีกมากที่อยากลาออก ถ้าวันหนึ่งทุกคนพร้อมลาออกกันมากขึ้น อาจกลายเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลของอาชีพครู เพราะผู้ใหญ่ในระบบอาจไม่มองว่าเป็นความล้มเหลวของระบบ แต่มองว่าเป็นเรื่องปกติของเด็กรุ่นใหม่

          การศึกษาไทยยังต้องจัดการจากบนลงล่าง เพราะหากเปลี่ยนจากล่างขึ้นบน คนทำงานคงไม่มีแรงสู้ไหว สิ่งสำคัญที่จะพัฒนาระบบการศึกษาไทย คือ นโยบายกลางที่ชัดเจน ไม่ใช่การเปลี่ยนตามสมัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Bee Jantarakote, Thai PBS



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลาออกครู มิติใหม่ ! กับโปสเตอร์คำคมสุดพีค ขยี้การศึกษาไทยตรงจุด คนไลก์รัว ๆ อัปเดตล่าสุด 4 มีนาคม 2565 เวลา 20:50:51 416,556 อ่าน
TOP