สรุปดราม่า โรงเรียนสาธิต มธ. ปรับหลักสูตรใหม่ ไม่เคร่งเครื่องแบบ - ทรงผม ถอดวิชาลูกเสือ ไม่ต้องเคารพธงชาติ จนถูกหาว่าล้างสมองเด็ก ล่าสุดเด็กรีวิวเอง เรียนมา 4 ปี ได้อะไรบ้าง โต้เดือดนายกฯ หลังสั่งจับตาเข้าข่ายบิดเบือนประวัติศาสตร์ และสถาบันหรือไม่ ?
กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อนในโลกออนไลน์ กรณี โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรับหลักสูตรการสอนใหม่ ซึ่งระบุว่า หลักสูตรดังกล่าวจะทำให้นักเรียนมีความสุขในการเรียนมากขึ้น เช่น การไม่ต้องใส่เครื่องแบบมาเรียน ไม่บังคับเรื่องทรงผม หรือ สีผม การไม่จำเป็นต้องทำความเคารพครูทุกคน ทุกเช้าไม่ต้องมาเคารพธงชาติ และสวดมนต์ แต่จะเปลี่ยนเป็นไปใช้เวลากับการโฮมรูมเพื่อสื่อสารกันระหว่างครูกับนักเรียนแทน
รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิชาเรียน โดยถอดวิชาลูกเสือเนตรนารี เป็นการสอนวิชาเอาตัวรอดแทน วิชาเพศศึกษา ก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นวิชาวัยรุ่นศาสตร์แทนเช่นกัน และวิชารู้ทันการเงิน วิชาวิถีศรัทธา (ครอบคลุมทุกศาสนา) หรือวิชารู้เท่าทันสื่อ เป็นต้น ซึ่งหลักฐานใหม่นี้ผ่านการศึกษาดูงานจากทั้งหลักสูตรนานาชาติ และของหลักสูตรของไทยเอง
รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิชาเรียน โดยถอดวิชาลูกเสือเนตรนารี เป็นการสอนวิชาเอาตัวรอดแทน วิชาเพศศึกษา ก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นวิชาวัยรุ่นศาสตร์แทนเช่นกัน และวิชารู้ทันการเงิน วิชาวิถีศรัทธา (ครอบคลุมทุกศาสนา) หรือวิชารู้เท่าทันสื่อ เป็นต้น ซึ่งหลักฐานใหม่นี้ผ่านการศึกษาดูงานจากทั้งหลักสูตรนานาชาติ และของหลักสูตรของไทยเอง
ความเห็นโซเชียลมีทั้งเห็นด้วย และเห็นต่าง
โดยเสียงที่เห็นด้วย มองว่าการเรียนการสอนต้องมีการปรับตามยุคสมัย พร้อมชื่นชมความคิดของผู้บริหารโรงเรียนที่มีความก้าวหน้าและทันโลก เพราะหลักสูตรการสอนของไทยในปัจจุบันมีหลายเรื่องที่สมควรที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงแล้ว เช่น การเรียนบางอย่างที่สอนกลับไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง อย่างการเรียนผูกเงื่อน หรือการเรียนกระบี่กระบอง จะดีกว่าหากปรับเปลี่ยนมาเป็นการสอนให้เอาตัวรอด
ขณะเดียวกัน เสียงของคนที่ไม่เห็นด้วยก็มีเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ค้านในเรื่องของการไม่เคารพธงชาติตอนเช้า เพราะประเทศมีขนบธรรมเนียม ไม่ใช่จะเอาตัวรอดอย่างเดียว ควรจะต้องมีระเบียบวินัย รักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และการรักชาติด้วย
การไม่บังคับเรื่องทรงผม และเครื่องแบบ อาจทำให้เด็กไม่มีระเบียบวินัย หรือการสอนที่เปิดกว้างเกินไป ก็อาจจะทำให้นักเรียนหลงลืมวัฒนธรรมดั้งเดิมในไม่ช้า










รีวิวจากเด็ก สาธิต มธ. ยันหลักสูตรใหม่ดีและได้ผลมาก ย้ำไม่มีการล้างสมอง
ต่อมา (6 กุมภาพันธ์ 2565) เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict เผยข้อความจากผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิต มธ. ยืนยันไม่ใช่หลักสูตรล้างสมอง ลูกเรียนที่นี่มา 4 ปี ไม่เคยมีวันไหนไม่อยากไปโรงเรียน เพราะที่นี่สอนสนุก สอนให้รู้จักคิด และตั้งคำถาม
เรื่องการแต่งกาย ยืนยันว่าจากที่หลายคนบอกว่า จะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมมีการแบ่งชนชั้น ซึ่งไม่จริงเลย แม้จะแต่งตัวธรรมดาก็ไม่เคยมีใครมาดูถูก ร่างกายของเราเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกใส่อะไรก็ได้ แต่จะมีที่ให้สวมเครื่องแบบเฉพาะมีพิธีสำคัญเท่านั้น ตลอด 4 ปีที่เรียนที่นี่ไม่เคยต้องกังวลว่าต้องใส่ชุดอะไรไปโรงเรียน
เรื่องที่ว่าถูกล้างสมอง ยืนยันว่าไม่จริง โรงเรียนเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิเสรีภาพได้เต็มที่ สอนเรื่องการเมืองหลายรูปแบบ ทั้ง เผด็จการ และ ประชาธิปไตย เสรีนิยม และ อนุรักษ์นิยม สอนแบบตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง ครูจะพูดตลอดว่า สุดท้ายแล้วไม่มีระบบไหนที่ดีที่สุด ทุกระบบมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ให้สิทธิ์เด็กตัดสินใจในความเชื่อเรื่องการเมืองเอง
เรื่องการไม่มีการสอนเรื่องพระพุทธศาสนา แม้โรงเรียนจะไม่มีการสอนเรื่องพระพุทธศาสนา แต่มีการสอนศาสนาแบบโดยรวม คือสอนรวมทุกศาสนา เพื่อให้สิทธิ์ทางความเชื่อของเด็กเอง
การไม่มีการเรียนการสอนลูกเสือเนตรนารี โรงเรียนเปิดโอกาสให้ทำงานกลุ่มอยู่บ่อย ๆ เป็นการสร้างระเบียบวินัยและการบำเพ็ญประโยชน์ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้มาจากแค่การเรียนลูกเสือเนตรนารี อีกทั้งยังให้เด็กลงพื้นที่แก้ปัญหาจริง นำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการแก้ปัญหา อย่างการไปช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่ห่างไกลก็ทำมาแล้ว

อ.ปริญญา โต้กลับ หลังนายกฯ สั่งเช็กด่วน หวั่นมีเนื้อหาบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบัน
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul หลังมีกระแสข่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งจับตาดู เนื่องจากเกรงว่าหลักสูตรนี้อาจมีเนื้อหาบิดเบือนประวัติศาสตร์ และสถาบันได้
โดย ดร.ปริญญา กล่าวว่า ปัญหาหลักของการศึกษาของประเทศไทยคือ การเอาแต่สอนให้ท่องจำและทำตามอาจารย์สั่ง ไม่ให้ใช้ความคิด เป็นการศึกษาแบบอำนาจนิยม ที่ทำให้ประเทศไทยไม่เกิดกำลังทางความคิดและสติปัญญาแล้ว ไม่อาจพาประเทศไปที่ไหน และไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยด้วย
เพราะเป็นการศึกษาแบบสอนให้คนเชื่อฟังผู้มีอำนาจ แม้ว่าอำนาจนั้นจะได้มาโดยมิชอบ การปฏิวัติรัฐประหารถึงยังไม่หมดไป และประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนหลักการความเสมอภาคเท่าเทียม และสิทธิเสรีภาพที่รับผิดชอบต่อส่วนรวม จึงไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยเสียที
ดร.ปริญญา ย้ำว่า โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสอนให้นักเรียน "คิด" และ "รับผิดชอบ" สอนเพื่อสร้างสติปัญญา ไม่ได้สอนให้ทำตามสั่ง ไม่เหมือนกับการศึกษาแบบที่ท่านนายกรัฐมนตรีเคยเรียนมา
สาธิต มธ. แถลงชี้แจง หลังตกเป็นดราม่า ยืนยันหลักสูตรใหม่หวังพัฒนาการศึกษาไทย
ล่าสุด (6 กุมภาพันธ์ 2565) เฟซบุ๊ก โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดเผยหนังสือชี้แจง หลังตกเป็นประเด็นดราม่า เกี่ยวกับหลักสูตรและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสน คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ลดทอนคุณค่าและความมุ่งมั่นอันแท้จริง
1. โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการเคารพความหลากหลายทางความคิดและมุมมอง เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่ช่วยเตรียมความพร้อมเยาวชนสำหรับการเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกที่พร้อมใช้วิจารณญาณในการเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน
2. โรงเรียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรและนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนบนฐานความรู้ที่ทันสมัย ครอบคลุมสาระการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น นอกจากวิชาสาระหลัก ยังได้จัดให้มีการสอนในวิชาต่าง ๆ เพิ่มเติม อาทิ วิชาอยู่รอดปลอดภัย, วิชาว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด, วิชาวัยรุ่นศาสตร์, วิชารู้ทันการเงิน, วิชาเสพศิลป์และกลิ่นเสียง, วิชาผู้ประกอบการ, วิชารู้เท่าทันสื่อ และวิชาวิถีศรัทธา (ครอบคลุมเนื้อหาทุกศาสนา) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง
3. โรงเรียนมีเป้าหมายในการบ่มพาะเยาวชนให้เป็นผู้มีจิตสำนึก รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ มีภาวะผู้นำ มีความสามารถในการกำกับตนเอง เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และสามารถทำงานเป็นทีม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน
ก่อนทิ้งท้ายว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงเรียนตระหนักดีว่า การบุกเบิกสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลา มีข้อจำกัดต่าง ๆ มากมายในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ โรงเรียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจตนารมณ์ในการสร้งและพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนจะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนให้สามารถขยายผลได้ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Drama-addict, เฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul, เฟซบุ๊ก โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์