อว. ไฟเขียว ยกเลิกการกำหนดปีที่จะจบ ปล่อยให้ทันเทรนด์ยุคสมัยใหม่ เรียนรู้นอกตำราเรียนหรือไปทำอย่างอื่นระหว่างเรียนได้ ทำให้ระดับปริญญาตรี สามารถเรียนได้เกิน 8 ปี แต่ถึงอย่างไร ยังคงระบบรีไทร์เอาไว้ โดยยึดผลการเรียนเป็นสำคัญ
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
โดยทั่วไปหากเราเรียนในระดับชั้นปริญญาตรี มันมีกฎขั้นพื้นฐานที่ว่า ถ้าหากเรียนไม่จบภายใน 8 ปี จะต้องถูกรีไทร์ เนื่องจากใช้เวลานานเกินไป แต่เรื่องนี้พอมาอยู่ในยุคสมัยปัจจุบัน คนก็มองว่า การที่เรียนไม่จบใน 8 ปี ไม่ใช่ว่าขี้เกียจหรือเรียนไม่ไหว แต่บางคนอาจจะติดขัดปัญหาอื่น ๆ ทำให้เรียนจบไม่ทันใน 8 ปี เช่น ภาระจากทางบ้าน ภาระเรื่องเงิน เป็นต้น
ล่าสุด วันที่ 27 ตุลาคม 2564 ช่อง 3 รายงานว่า นายศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) ได้มีมติยกเลิกการกำหนดเวลาเรียนปริญญาในระดับอุดมศึกษาทุกระดับ เพื่อตอบโจทย์การเรียนของนักศึกษาแล้ว เรื่องนี้เป็นไปตามนโยบายของนายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรี เพื่อให้สอดคล้องระบบการศึกษาที่เปลี่ยนแปลง
การที่มีข้อกำหนดแบบเดิม คือ ระดับปริญญาตรีเรียนตั้งแต่ 4 ปี ไม่เกิน 8 ปี, ระดับปริญญาโทเรียนตั้งแต่ 2 ปี ไม่เกิน 5 ปี และระดับปริญญาเอก เรียนตั้งแต่ 3 ปี ไม่เกิน 6 ปี จะทำให้คนรีบเรียนจบ แต่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนเป็นแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้น การกำหนดระยะเวลาจึงไม่ตอบโจทย์แบบนี้อีกแล้ว เพราะระหว่างเรียนเด็กอาจจะไปทำงาน หรือหาประสบการณ์ต่าง ๆ นอกห้องเรียนด้วยก็ได้ เพื่อหาสิ่งใหม่ ๆ เมื่ออยากเรียนก็กลับมาเรียน
ผลประโยชน์ที่จะได้ในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้และสะสมองค์ความรู้ใหม่ ๆ เด็กจะได้มีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต หาประสบการณ์ได้มากขึ้น ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว บางหลักสูตรอาจไม่ก้าวทัน ถ้าเรามีการยืดเวลาเรียน เด็กก็จะเลือกไปทำอย่างอื่นได้ บางคนอาจจะไปประกอบธุรกิจก่อน อาจจะไปทำงานเอกชน เพื่อหาตัวเอง แล้วกลับมาเรียนเสริมจุดอ่อนหรือสิ่งที่ต้องการ จนเกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ปลดล็อกชีวิตได้
ขอบคุณข้อมูลจาก ช่อง 3