ศธ. ย้ำเรียนออนไลน์ยังมีความจำเป็น - นักวิชาการสวนจัดหนัก ไม่คิดถึงอนาคตเด็ก

           ตรีนุช เทียนทอง แจงเรียนออนไลน์มีความจำเป็นเพราะโควิด แต่ให้ทางเลือกสถานศึกษา 5 ข้อไปจัดการเองแล้ว ด้านนักวิชาการ จัดหนักหากยังเรียนออนไลน์อยู่ การศึกษาไทยถดถอย


          หนึ่งในปัญหาสำคัญของการศึกษาไทยในยุคโควิด 19 เรื่องนั้นก็คือ การเรียนออนไลน์ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์ ซึ่งสร้างความเหนื่อยล้าแก่ผู้สอนและผู้เรียนมากกว่าการเรียนในห้องเรียนมาก จนกลุ่มนักเรียนเลว ได้ออกมาร้องเรียนให้ยกเลิกการเรียนออนไลน์ และมีการประท้วงไม่ยอมเข้าเรียน


          ล่าสุด วันที่ 9 กันยายน 2564 เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนเลวว่า ตนเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกกลุ่ม ส่วนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เป็นเพราะโควิด 19 ซึ่งกระทรวงก็ให้โรงเรียนเลือกการเรียนการสอน 5 รูปแบบ ได้แก่


          1. On-site เรียนที่โรงเรียน

          2. On-air เรียนผ่านโทรทัศน์ดาวเทียม

          3. On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ

          4. On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต

          5. On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร

          โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาคือ การแพร่ระบาดโควิดในพื้นที่ เน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญ และต้องลดภาระครู นักเรียน ผู้ปกครองด้วย ซึ่งหลังจากมีการเรียนการสอนไประยะหนึ่ง ก็มีตั้ง ศบค.ศธ. เพื่อติดตามสถานการณ์ คอยแก้ปัญหาเพื่อให้การศึกษาเดินหน้าต่อไปได้


          ทั้งนี้กระทรวงทราบดีว่าการเรียนออนไลน์ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ดีเท่ากับการเรียนที่โรงเรียน ทางกระทรวงกับรัฐบาลจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ให้เร็วที่สุด พร้อมกับประสานกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดหาวัคซีนมาให้นักเรียนทุกคน แต่กลุ่มนักเรียนก็มีความละเอียดอ่อน ต้องมีความระมัดระวัง

          นอกจากเรื่องการเรียนออนไลน์แล้ว กระทรวงก็ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง เช่น การคืน ลด ขยาย เวลาผ่อนชำระค่าเทอมนักเรียน การเยียวยาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา 2,000 บาท, การสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับนักเรียน, ปรับการเรียนการสอนให้เหมาะกับนักเรียน เป็นต้น

นักวิชาการ จวก เรียนออนไลน์ไม่คิดถึงอนาคตเด็ก

นางสาวตรีนุช เทียนทอง
ภาพจาก กสศ.

          ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการการศึกษา จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การตอบโต้ของกลุ่มนักเรียนเลวถือเป็นการตอบโต้ระบบการศึกษาที่ไม่คิดถึงอนาคตของเด็ก มัวแต่กลัวและปฏิเสธความรับผิด ทั้งที่เด็กเป็นผู้ถูกกระทำ ถูกบังคับให้เรียนออนไลน์ 6 เดือน - 1 ปี ทำให้เกิดความเครียด อยู่กับหน้าจอทั้งวัน ครูให้การบ้านมาก ถ้าหากยังเป็นแบบนี้ คุณภาพการเรียนจะยิ่งถดถอย

          ดังนั้น กระทรวงต้องคำนึงถึงความต้องการของเด็กมากกว่านี้ ควรยกเลิกการเรียนแบบ 5 on เพราะเป็นนโยบายรวมศูนย์ ทำให้ครูติดกรอบ พร้อมเสนอให้ครูออกแบบบูรณาการการสั่งการบ้านร่วมกัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระของนักเรียน

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องเล่าเช้านี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศธ. ย้ำเรียนออนไลน์ยังมีความจำเป็น - นักวิชาการสวนจัดหนัก ไม่คิดถึงอนาคตเด็ก โพสต์เมื่อ 9 กันยายน 2564 เวลา 16:46:51 4,597 อ่าน
TOP
x close