x close

ทำตารางชีวิต พิชิตเครียดช่วงสอบ




ทำตารางชีวิต พิชิตเครียดช่วงสอบ (สสส.)

          "ความเครียด" หลายคนเข้าใจว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป "การแข่งขัน" กลายเป็นเรื่องหลักของการดำเนินโดยเฉพาะการสอบแข่งขัน O-net ,A-net รวมไปถึงการสอบ Gat-pat เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ส่งผลให้เกิดความเครียดขึ้นกับเด็กและเยาวชน และเมื่อผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นอย่างที่หวัง เด็กเหล่านั้นจะตกอยู่ในภาวะเครียด ผิดหวัง เสียใจ และทำให้ตัดสินใจทำอะไรโดยไม่คิด อย่างที่เป็นข่าวคราวมาโดยตลอด ถือว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก หากพวกเค้าไม่มีวิธีการจัดการกับสิ่งเหล่านั้นตั้งแต่แรก...

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.สุริยเดว ทรีปาตรี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส. และหัวหน้าคลินิกเพื่อนวัยทีน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี บอกกับเราว่า ในช่วงใกล้สอบนั้น เด็กหลายคนอาจตกอยู่ในภาวะกดดัน  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กจะต้องมีการจัดการกับตนเองตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการเรียน ด้วยการจัดทำตารางชีวิต ซึ่งหมายถึงการจัดตารางว่าในแต่ละวันหนึ่งเราควรทำอะไรบ้าง เพราะชีวิตไม่ได้มีเพียงแค่การเรียน และอ่านหนังสือเท่านั้น แต่มันรวมไปถึงเรื่องการพักสมอง การทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การร่วมทำกิจกรรมกับสมาชิกในบ้าน การทำงานบ้าน ซึ่งถือเป็นการพักผ่อนไปในตัว จัดเวลาในการออกกำลังกาย และการพักผ่อนนอนหลับ เพื่อลดความเครียด

          "ตารางชีวิตที่ทำ ไม่จำเป็นต้องละเอียดมากนัก เพียงแค่ทำไว้ให้เรารู้ว่าเราต้องทำอะไร เราใช้เวลาในการอ่านหนังสือเท่าไหร่ ใช้ในการเรียนเท่าไหร่ เรามีเวลาในการนอนหลับพักผ่อนเท่าไหร่ มีเวลาในการออกกำลังกายแค่ไหน และมีเวลาใช้ในการพูดคุยกับครอบครัวตอนไหน โดยเฉพาะในสิ่งสุดท้ายนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะการพบปะพูดคุยกับคนในครอบครัวถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิด การเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องราวปัญหาต่างๆ ของตนเอง ซึ่งนั่นจะเป็นการลดความกดดันของตนเองลงได้ อีกทั้งพ่อแม่ก็จะรู้ว่าลูกของตนเองกำลังตกอยู่ในภาวะเครียดหรือไม่ เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ปัญหา หาทางออกด้วยกัน ซึ่งการพูดคุยกันบางครั้งยังถือเป็นการให้ประสบการใหม่ๆแก่ตัวเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถแก้ปัญหาบางเรื่องได้ด้วยตนเองอีกด้วย" นพ.สุริยเดวกล่าว

          นพ.สุริยเดวกล่าวต่อว่า การจัดทำตาราชีวิตนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะหากมาทำตอนใกล้สอบมันจะยิ่งเป็นการกดดันตนเอง มันก็จะไม่ช่วยอะไร เราต้องจัดให้การอ่านหนังสือสอบจบลงก่อนวันสอบ 1อาทิตย์หรืออย่างน้อย 3 วัน เพื่อใช้เวลาที่เหลือในการทบทวนเนื้อหาทั้งหมดที่เราอ่านและพักผ่อนเพื่อเตรียมตัวสอบ เมื่อสามารถทำแบบนี้ได้ ก็จะทำให้เด็กแต่ละคนวางแผนชีวิตของตัวเองได้ ซึ่งนั่นคือตารางชีวิตทั้งหมดของเด็กแล้ว

          ในส่วนของพ่อแม่ก็จำเป็นต้องดูแลลูกในช่วงนี้เป็นพิเศษ ซึ่ง นพ.สุริยเดวกได้กล่าวว่า พ่อแม่จำเป็นต้องดูแลทั้งเรื่องของปัจจัยสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก พูดคุยกับเด็กด้วยเหตุผล โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น เพราะเด็กช่วงวัยนี้เค้าจะมีเหตุผลของตัวเองสูง การทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี มากกว่าจะเป็นผู้พูดเป็นอีกเรื่องที่พ่อแม่จำเป็นต้องทำ เพราะหากไม่ฟัง มัวแต่พูดมากกว่า ก็จะทำให้เด็กไม่กล้าพูดและจะถอยห่างออกจากพ่อแม่ทันที ซึ่งการพูดที่ดีนั้น คือ การพูดเพื่อให้กำลังใจแก่เขา ถึงจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด 

          "พ่อแม่จำเป็นต้องใช้เวลา 15-30 นาที ที่เด็กมีให้ในตารางที่เค้าวางไว้ สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อเด็กด้วย ยิ่งช่วงสอบถือว่าจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าพ่อแม่รับฟังและพูดดี เมื่อเด็กมีปัญหาเค้าก็จะมาหาเราแล้วจะบอกในสิ่งที่เค้าไม่สบายใจหรือมีปัญหามาบอก ซึ่งเวลานี้พ่อแม่ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีและให้กำลังใจ เพราะหากเราไม่ฟังลูกก็จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งนั่นอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อย่าพยายามจับผิด อย่าไปเช็ค เพราะจะทำให้เด็กอึดอัด แล้วปัญหาใหญ่ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน" หมอเดวกล่าว

          สุดท้าย ถือว่าสำคัญอย่างมากเพราะเมื่อผลสอบออกมา อาจจะไม่เป็นที่สมหวังของทั้งเด็กและผู้เป็นพ่อแม่  สิ่งแรกที่ไม่ควรทำคือ ดุด่า ว่ากล่าว แต่ควรพูดประโยคแรกก็คือปัญหามีไว้หลอมรวมกันแล้วทุกคนมาช่วยกันแก้ ปัญหาไม่ได้มีไว้โทษว่าใครผิด ฉะนั้น หากเกิดปัญหาขึ้นมา เมื่อมันไม่ลงตัว เราก็ต้องเดินหน้าต่อ แล้วมองดูว่ามันยังจะมีเส้นทางในการเดินไปทางไหนอีกบ้าง ต้องมาวางแผนร่วมกัน แล้วจะมีทางเลือกให้สามารถเดินต่อได้เอง

          "ต้องขอย้ำไว้ว่า พ่อแม่ต้องเป็นฐานกำลังสำคัญให้ลูกในการเติมพลังชีวิตแก่เค้า อย่าให้ฐานกำลังนั้นเสียหายจนบั่นทอน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกก็ตาม เราต้องคิดดีและทำดีไว้ก่อน พูดจาดีๆ แล้วมันก็จะเกิดสิ่งดีๆตามมาเอง เพราะฐานกำลังนี้สำคัญมาก" หมอเดวกล่าวทิ้งท้าย

          หากทำได้เช่นนี้เชื่อได้เลยว่า ไม่เพียงแต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงที่กำลังสอบจะลดลง แต่ยังสามารถทำให้ทุกช่วงเวลาของชีวิตของทั้งเด็กและเยาวชน ครอบครัวและสังคมจะดีตามขึ้นไปด้วยเพียงแค่เราทำตาราชีวิตของตัวเราเอง



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสร้มสุขภาพ (สสส.)
เรื่องโดย ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำตารางชีวิต พิชิตเครียดช่วงสอบ อัปเดตล่าสุด 22 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 17:57:51
TOP