x close

24 มหาวิทยาลัยร่วมรับตรงกลาง




24 มหา\'ลัยร่วม"รับตรงกลาง (ไทยโพสต์)


          ประธาน ทปอ.ยัน 24 มหาวิทยาลัยเข้าร่วมรับตรงกลางยกเว้น 3 มหาวิทยาลัยเปิดเล็งชวน มรภ. และ มทร.เข้าร่วมด้วย ประธานอนุกรรมการปฏิรูปการศึกษา 2 เชียร์เดินมาถูกทางแต่เตือนต้องทำหน้าที่แค่หน่วยประสานข้อมูลการรับสมัคร ห้ามมีอำนาจชี้ขาดแนะนักเรียนเลือกสาขามองงานที่อยากทำก่อนเลือกสถาบัน

          นายประสาท สืบค้าอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณี ทปอ. มีมติจัดสอบรับตรงกลางร่วมกันของ ทปอ. ว่ามหาวิทยาลัยรัฐทั้ง 24 แห่งพร้อมเข้ารับตรงกลางทั้งหมด จากสมาชิกทั้งหมด 27 แห่ง ยกเว้น 3 แห่งได้แก่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ หรือนิด้า, ม.สุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) และ ม.รามคำแหง (มร.) โดยบางมหาวิทยาลัยเข้าร่วมทุกคณะ/สาขาวิชา แต่บางแห่งอาจเข้าร่วมเป็นบางสาขา เช่น ม.มหาสารคาม (มมส.) เข้าร่วมในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น

          ประธาน ทปอ. ยืนยันว่าการเข้าร่วมระบบรับตรงของ 24 มหาวิทยาลัย ยังเป็นแค่การดำเนินการเบื้องต้นเท่านั้นซึ่ง ทปอ. จะไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาระบบและกลไกของระบบจัดสอบรับตรงกลางเพื่อสร้าง ความเชื่อมั่นแก่นักเรียนและผู้ปกครอง ส่วนการดำเนินการขณะนี้กำลังรอข้อสรุปจากคณะทำงานศึกษาแอดมิชชั่นส์ฟอรั่ม ของ ทปอ. ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุม ทปอ. เดือน เม.ย. แต่โดยหลักการ ทปอ. ต้องการให้มีการจัดสอบรับตรงในช่วงต้นเดือน มี.ค.2555 สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 40 แห่ง และ ม.วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่งนั้น นายประสาทกล่าวว่า ตนคงไม่สามารถไปบังคับให้เข้าร่วมได้แต่หากอยากเข้าร่วม ทปอ. ก็ยินดีซึ่งตนพร้อมจะไปพูดคุยกับ ทปอ. มรภ. และ ทปอ. มทร.

          "ในเบื้องต้นผมได้พูดคุยกับ นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในฐานะที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำกับดูแล มรภ. และ มทร. ว่า ทปอ.พร้อมที่จะทำงานร่วมกับ สกอ.เพื่อพัฒนาข้อสอบรับตรงให้เป็นข้อสอบกลางที่ทุกแห่งสามารถนำไปใช้เป็น มาตรฐานเดียวกันได้เพราะเป้าหมายของ ทปอ. ต้องการสร้างเครื่องมือและระบบกลไกที่ยุติธรรมสังคมจะได้เกิดความศรัทธาต่อ ระบบ เน้นความเสมอภาคและโปร่งใส ดังนั้นหากจะมีบางสถาบันรับตรงเองแต่ใช้ข้อสอบกลางดังกล่าวตนก็พอใจแล้ว เพราะเท่ากับเด็กไม่ต้องวิ่งสอบหลายที่"

          วันเดียวกันที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กรรมการสภาการศึกษา และประธานอนุกรรมการคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (กนป.) ปาฐกถาเรื่อง "ระบบการคัดสรรบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา" ว่าปัจจุบันระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษามีความยุ่ง ยาก มากขึ้นเนื่องจากมีสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น รวมทั้งจำนวนนักศึกษาก็เพิ่มมากขึ้นขณะที่ปัญหาในการคัดเลือกคนเข้าศึกษาต่อ ในสถาบันอุดมศึกษายังคงเหมือนเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีการจัดระบบกันใหม่ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าควรมี การรวมกลุ่มสาขาที่ใกล้เคียงกันหรือมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง กัน เพื่อจัดการเรื่องการรับนักศึกษาให้เกิดความสะดวกแก่นักเรียน ตั้งแต่การสมัครการสอบและการประกาศผลสอบเป็นหน่วยประสานงานกลางรับตรง ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานมากกว่าการบังคับ และช่วยจับคู่ระหว่างผู้สมัครกับสถาบันอุดมศึกษาให้เหมาะสม โดยใช้ระบบ สารสนเทศในการรวบรวมและให้ข้อมูลทั้งกับผู้สมัครและสถาบันอุดมศึกษา
    
          ศ.ดร.ยงยุทธกล่าวอีกว่า ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เองควรจะต้องจัดทำนโยบายเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน สถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สกอ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมไปถึงท้องถิ่นเพื่อให้เด็กไม่ต้องไปเรียนไกลบ้าน "สำหรับนักเรียนที่ในขณะนี้อยู่ในสภาวะที่มีความสับสนในการเลือกศึกษาต่อใน สถาบันอุดมศึกษานั้นผมอยากแนะนำให้คิดชัดเจนว่าอยากเรียนสาขาอะไรและทำงาน อะไร ก่อนที่จะเลือกสถาบัน ขณะเดียวกันต้องดูศักยภาพของตนเองเทียบกับสภาพการแข่งขัน นอกจากนี้จะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับฐานะของครอบครัวด้วย"



ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
24 มหาวิทยาลัยร่วมรับตรงกลาง อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 15:37:20
TOP