เรื่องวันครู




เรื่องวันครู (สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์)

           
ครู หมายถึงผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ ในโอกาสที่วันนี้ตรงกับวันครู จึงขอแนะนำประวัติความเป็นมาของวันครู ติดตามได้จากรายงาน 

            ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวในที่ประชุมครูทั่วประเทศเมื่อปี 2499 ว่า อยากให้มีวันครู เพื่อให้ลูกศิษย์ได้แสดงความเคารพสักการะและระลึกถึงพระคุณของครู เนื่องจากครูมีบุญคุณ และเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของศิษย์ จึงควรให้มีการจัดวันครูขึ้น จนในที่สุดคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็น"วันครู" และได้เริ่มจัดงาน วันครู เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ซึ่งนับเป็นเวลา 53 ปีแล้วที่จัดงานวันครูเพื่อรำลึกถึงพระคุณของครู 

            สำหรับการจัดงานวันครูในปีนี้ นอกจากจะมีกิจกรรมเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูที่ปฏิบัติตนและปฏิบัติหน้าที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม แล้ว ยังมีพิธีมอบรางวัล ครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู ให้กับครูที่มีอุดมการณ์ 4 ท่าน คือ อาจารย์ศรัทธา ห้องทอง,อาจารย์สุพิทยา,เตมียกะลิน อาจารย์ศิริพร หมั่นงาน,และอาจารย์สิริยุพา ศกุนตะเสถียร ซึ่งทุกท่านมีอุดมการณ์ มีความตั้งมั่น และมีความเสียสละเพื่อลูกศิษย์ทุกคน 

            โดย อาจารย์ศรัทธา ห้องทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็กนักเรียนและชุมชนเป็นชาวมุสลิมทั้งหมด แม้ครูส่วนหนึ่งจะนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันและจัดกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวิถีพุทธและมุสลิมได้อย่างไม่มีปัญหา จนโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส ได้รับการยกย่องให้เป็นโรงเรียนคุณธรรมต้นแบบ 

            ด้าน อาจารย์สุพิทยา เตมียกะลิน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสล่าเจียงตอง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่ง โรงเรียนตั้งอยู่ในป่าลึกกลางหุบเขา ติดแนวชายแดนพม่า เด็กนักเรียนเป็นชาวเขาเผ่าไทยใหญ่และกะเหรี่ยง ใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสาร การเดินทางใช้วิธีการเดินเท้าเพียงอย่างเดียว แต่ครูสุพิทยาฯ ก็ได้อุทิศตนและทุ่มเทเพื่อพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กชาวเขา และส่งเสริมให้เด็กชาวเขาได้มีโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ไม่ย่อท้อแม้จะประสบปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่ก็ทุ่มเทพัฒนาโรงเรียนจนเป็นที่ศรัทธา ยกย่อง ยอมรับจากเด็กนักเรียนและชุมชน


            ในส่วนของ อาจารย์ศิริพร หมั่นงาน ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านวังอ้ายคง อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่เป็นชุมชนคนภูเขา ที่เรียกตนเองว่า "ชาวบน" หรือ "คนดง" ซึ่งมีแต่ภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาจารย์ศิริพรฯ จึงได้เริ่มศึกษาและทำโครงการวิจัยภาษาและวัฒนธรรมของชาวญัฮกุรขึ้นมา ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นแบบเรียนภาษาท้องถิ่นญัฮกุรเป็นเล่มแรกของโลก ทำให้เด็กที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ 

            สุดท้าย คือ อาจารย์สิริยุพา ศกุนตะเสถียร ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษานารี จากกรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้จะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่ก็มีปัญหานักเรียนยากจนมาก ซึ่งอาจารย์ก็ได้ทุ่มเทเสียสละทั้งแรงกายและแรงใจ จัดหาทุนสร้างอาคารเรียนจนประสบผลสำเร็จ และพัฒนาจนโรงเรียนศึกษานารีได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ซึ่งรางวัลที่ภาคภูมิใจคือการที่โรงเรียนได้รับรางวัลพระราชทานขนาดใหญ่ 

            แม้ว่าด้วยสภาพชุมชน ภาษา วัฒนธรรม และปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ จะเป็นอุปสรรคต่การทำงานของอาจารย์ทั้ง 4 ท่าน แต่ก็ไม่ทำให้อุดมการณ์ และความมุ่งมั่น ที่ตั้งใจจะมอบความรู้ ให้กับศิษย์นั้นลดลงแม้แต่น้อย จึงเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับอาจารย์ทั่วประเทศ จะนำไปใช้ในการปฏิบัติตน เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาไทย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
ผู้สื่อข่าว : จันทร์ชนะ สายสวาท  
Rewriter : รัชฎา ตรงดี 
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
 
เรื่องน่าสนใจอื่นๆ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องวันครู อัปเดตล่าสุด 16 มกราคม 2554 เวลา 11:49:46 1,219 อ่าน
TOP
x close